ถ้าจีนเลือกได้จะอยากให้ใครชนะเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปลายปีนี้ "โจ ไบเดน "หรือ "โดนัลด์ ทรัมป์" ?
คำตอบคือถ้า สี จิ้นผิง เลือกได้คงจะไม่เอาทั้งสองคน แต่ถ้าเลือกไม่ได้ก็ต้องปรับตัวให้อยู่กับใครก็ตามที่ยึดทำเนียบขาวได้
ในแง่ด้านความมั่นคง พันธมิตรระดับภูมิภาค เช่น Quad Partnership และ AUKUS คาดว่าจะยืนหยัดมั่นคงเช่นกันภายใต้การบริหารของไบเดนมากกว่าทรัมป์
ปักกิ่งได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความคับข้องใจต่อการซ้อมรบของสหรัฐฯ ในย่านนี้
“สหรัฐฯ ได้คิดค้นยุทธวิธีต่างๆ เพื่อปราบปรามและควบคุมจีน และเพิ่มรายการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวตลอดเวลา จนไปถึงระดับที่น่าสับสนอย่างไร้สาระที่ไม่อาจหยั่งถึงได้" หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าวในงานพบปะสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม
“หากเกิดความกระวนกระวายใจทุกครั้งที่ได้ยินคำว่าจีน ความมั่นใจในฐานะประเทศใหญ่จะอยู่ที่ไหน”
แต่ภายใต้การนำของทรัมป์ ยุทธศาสตร์ควบคุมสหรัฐฯ ต่อจีนจะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด
ทรัมป์ชอบประกาศลงโทษจีนฝ่ายเดียว ไม่ต้องมีการเจรจาต่อรองใดๆ กันก่อนทั้งสิ้น
เป็นยุทธวิธี “ยิงก่อนถาม”
ตอนที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เขาถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงและองค์กรระหว่างประเทศหลายเรื่อง
รวมถึง TPP หรือหุ้นส่วนความร่วมมือภาคพื้นแปซิฟิก WHO องค์การอนามัยโลก และ Paris Agreement ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ส่วนไบเดนก่อตั้ง “กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (IPEF)” เมื่อสองปีที่แล้วเพื่อจะคานอำนาจกับ BRI หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน
โดยที่สหรัฐฯ ชักชวนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 7 ประเทศมาร่วม
ส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นป้อมปราการระดับภูมิภาคของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน
ถ้าทรัมป์มาก็คงจะยกเลิกความริเริ่มของไบเดนเรื่องนี้
แต่ท้ายที่สุดก็ต้องยอมรับว่า ไม่มีใครคาดเดาว่าทรัมป์จะวางจุดยืนของตัวเองอย่างไร เพราะเปลี่ยนใจได้ตลอดเวลา
โดยทางการแล้ว จีนจะไม่พูดอะไรเกี่ยวกับการเลือกตั้งของประเทศอื่น
หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน บอกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถือเป็นกิจการภายในของสหรัฐฯ
“ไม่ว่าใครจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป เราหวังว่าฝ่ายสหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับจีนเพื่อพบกันครึ่งทาง และผลักดันความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ไปสู่การพัฒนาที่มั่นคง แข็งแรง และยั่งยืน บนหลักการของการเคารพซึ่งกันและกัน สันติสุขร่วมกัน การดำรงอยู่และความร่วมมือแบบ win-win”
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปักกิ่งยืนอยู่ตรงกลางระหว่างไบเดนกับทรัมป์
ไบเดนเรียกนายสีว่าเป็น “เผด็จการ” หลายต่อหลายครั้งในที่สาธารณะ
ทรัมป์เคยบอกว่าสี จิ้นผิง เป็นคนที่คบได้ เคยแม้แต่บอกว่าเขาอิจฉาที่ผู้นำจีนมีอำนาจสั่งการได้ค่อนข้างจะเด็ดขาด
แต่นั่นไม่ได้สกัดกั้นการที่ทรัมป์ประกาศสงครามการค้ากับจีนอย่างดุเดือด เพื่อรักษาฐานเสียงของตนในอเมริกา
ทรัมป์ไม่ได้ยกย่องสีแต่เพียงคนเดียว
เขาเคยแสดงความชื่นชมผู้นำที่ถูกวิจารณ์จากประเทศอื่นๆ มากมาย เช่น คิม จองอึน ของเกาหลีเหนือ, วิกเตอร์ ออร์บาน ของฮังการี และวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย
แต่หากไบเดนชนะเลือกตั้งอีกครั้ง เขาก็อาจทำให้เกิดความต่อเนื่องและการคาดการณ์ได้ในระดับหนึ่ง
อย่างน้อยไบเดนก็เคยพูดถึงการสร้างกลไกที่จะป้องกันไม่ให้การแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจกลายเป็นความขัดแย้งเกินเหตุ
แต่ภายใต้การนำของทรัมป์ ความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศอาจมีปัญหาว่าจะมีความเสถียรเพียงใด
มีความเป็นไปได้ว่าถ้าทรัมป์กลับทำเนียบขาว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอาจจะฟื้นกลับมาไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง
แต่ในวิกฤตก็ย่อมมีโอกาส
หากทรัมป์กลับทำเนียบขาวได้และประกาศเลิกสนับสนุนยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย ก็อาจจะเปิดโอกาสให้จีนเล่นบทผู้ไกล่เกลี่ยได้คึกคักขึ้น
ตัวอย่างที่ผ่านมา สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ในปี 2017 ระหว่างที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
มาถึงวันนี้อเมริกาซึ่งมีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะไม่อยู่ในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (CPTPP) ที่ต่อยอดจาก TPP
จีนก็เสนอตัวเองเข้าไปสวมบทนี้แทน
ต้องไม่ลืมว่าทรัมป์เคยกล่าวโทษปักกิ่งว่าโควิด-19 มาจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของจีน
ทำให้จีนไม่พอใจมาตลอดในประเด็นนี้
“สหรัฐฯ จะต้องไม่ท้าทาย ใส่ร้าย หรือแม้แต่พยายามที่จะล้มล้างเส้นทางและระบบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน” รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีนกล่าวไว้
และเสริมว่าสหรัฐฯ จะต้องไม่พยายามขัดขวางหรือขัดขวางกระบวนการพัฒนาของจีน หรือละเมิดอธิปไตยของรัฐจีน หรือทำลายบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน โดยสิ่งสุดท้ายถูกมองว่าเป็นการเตือนอย่างปกปิดเกี่ยวกับไต้หวัน
โดยในประเด็นไต้หวัน ไม่มีใครรู้ว่าทรัมป์จะเอาอย่างไรถ้ากลับเข้าทำเนียบขาว
แต่ที่แน่ๆ คือไบเดนจะยืนหยัดในการยืนเคียงข้างไต้หวันต่อไปค่อนข้างแน่นอน
แต่ในท้ายที่สุด ปักกิ่งก็รู้ว่าการเมืองสหรัฐฯ จะเปลี่ยนไปตลอดทุก 4 ปี
จึงต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวไปตามกระแสการเมืองระหว่างประเทศ
ซึ่งต้องถือว่าจีนได้บทเรียนมามากพอในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ว่าจะยืนหยัดในหลักการอย่างไร สหรัฐฯ จึงจะเคารพในความเป็น “มหาอำนาจหมายเลข 2”
ไม่ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไปจะชื่ออะไรก็ตาม!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ