To Shortchange กับ To Feel Shortchanged

จากการเรียกร้องของสาวๆ (สวยๆ) ไทยโพสต์ ผมขออนุญาตสวมหมวกฟุดฟิดฟอไฟวันหนึ่ง เพื่อพูดคุยและอธิบายสไตล์ของผม ถึงคำที่ปรากฏในช่วงต้นสัปดาห์จากนิตยสาร Time ครับ

ก่อนอื่นผมบอกเลยว่า ผมจะไม่สรุป วิเคราะห์ หรือวิจารณ์ตัวบทความ ผมถือว่าเป็นบทความที่ตรงไปตรงมา ผ่านสายตาฝรั่งมองไทย ซึ่งเวลาฝรั่งมองไทยจะทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยรำคาญ สะเทือนใจ และไม่พอใจ พอๆ กับทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าเขาเขียนตรงไปตรงมาและรอบด้าน

ผมบอกเลยว่า บทความที่ดี คือบทความที่มีประเด็นทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกไม่พอใจพอๆ กับรู้สึกพอใจครับ

สิ่งที่เถียงไม่ได้เวลาเจอบทความเกี่ยวกับประเทศไทยผ่านสื่อตะวันตก คือกรอบเรื่องเดิมที่ซ้ำๆ คือ “อำนาจเหนืออำนาจควบคุม ทุกสิ่งอย่างในไทย ส่วนใครจะต้านมักถูก ‘จัดการ’ และถูกเขี่ยออกไป” หรือสิ่งที่น่าเบื่อกว่านั้นคือ เมื่อมีใครเป็นสัญลักษณ์ “ความเปลี่ยนแปลง” เป็น “นักประชาธิปไตย” กลุ่มคนเหล่านั้นจะถูกตีตราว่าเป็นภัยต่อชาติบ้านเมืองทันที

เวลาสื่อตะวันตกเขียนถึงไทย มักหนีไม่พ้นประเด็นเหล่านี้อยู่ในเรื่องครับ และบอกเลยว่าการที่มีผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิชาการไทย ที่ส่งเสริมความคิดแบบนี้ (ทั้งๆ ที่เขาไม่เชื่อกับสิ่งที่เขาเขียน/พูด/แสดง แต่แสดงออกมาเพราะเป็นสิ่งที่สื่อตะวันตกอยากได้ยิน) ก็ไม่ได้ช่วยให้ภาพพจน์ไทยเราดีขึ้น ทำให้ลบประเด็นเดิมๆ ที่ฝังอยู่ในหัวของพวกเขาออกยาก

แต่ให้ความเป็นธรรม ถ้าจะกล่าวหาลอยๆ ว่าสื่อตะวันตกไม่รู้เรื่องเลยก็ไม่ได้ ถึงแม้เกือบทุกเรื่องที่เขียนเกี่ยวกับไทยมันหมุนเวียนรอบประเด็นเดิมๆ พวกเราจะเถียงว่าไม่มีส่วนจริงบ้างเลยเหรอ?

สำหรับบทความครั้งล่าสุดใน Time จะตัดสินว่าเป็นบทความที่ตรงหรือไม่ตรง รอบด้านหรือไม่รอบด้าน มันขึ้นอยู่กับว่าเราใส่เสื้อสีอะไร และเชียร์ใครทางการเมือง แต่ยุคนี้มันไม่ชัดเหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนจะรู้สึกรำคาญกับเสื้อสีฝ่ายตรงข้ามขนาดไหน จะไม่เท่ากับรำคาญกับคนที่ (เคย) ใส่เสื้อสีเดียวกัน เพราะยุคนี้การเชียร์ใครมันมั่วและไร้ทิศทาง

ผมขอถามครับ คนที่เคยออกมาปรบมือและเชียร์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ “ปราบคนโกง” ทำไมถึงออกมาต่อว่าการเคลื่อนไหวของคุณทักษิณ ชินวัตร และนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน? ทำไมสมาชิกสภาสูงที่มีอำนาจ (บ้าบอ) เลือกนายกรัฐมนตรีได้ ออกมาตำหนิและต่อว่านายกฯ ที่คุณเลือกเอง? “คนดี รักชาติบ้านเมือง” อยากให้เป็นแบบนี้กันไม่ใช่เหรอ?

เอาล่ะผมไปไกลเกินไป กลับมาสวมหมวกฟุดฟิดฟอไฟดีกว่า

หน้าปก Time มีรูปนายกฯ เศรษฐา พร้อมพาดหัวข่าวว่า “The Salesman” “Thai Prime Minister Srettha Thavisin is open for business in a country that feels shortchanged.” ขออธิบายคำว่า Shortchanged สไตล์ที่ผมเคยทำตอนออกรายการ ซึ่งบอกที่มาที่ไปของความเป็นฟุดฟิดฟอไฟก่อนครับ คุณพ่อผม (นายแสงชัย สุนทรวัฒน์) เป็นคนคิดเรื่องนี้ขึ้นมา คิดทั้งแนวทั้งคำ ฟุดฟิดฟอไฟ หมายถึง คนไทยที่เคยอยู่เมืองนอกมา แล้วเมื่อกลับมาอยู่เมืองไทย มีพื้นฐานภาษาอังกฤษ แต่อาจลืม เพราะกลับมาอยู่ไทย และไม่ได้ใช้เหมือนเมื่อก่อน

ส่วนวัตถุประสงค์การเขียนคอลัมน์ ฟุดฟิดฟอไฟ ไม่ได้อยากให้เป็นคอลัมน์สอนภาษาอังกฤษแบบ “A Apple-B Boy” พื้นฐานขนาดนั้น คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า มีคอลัมน์นี้ให้คนไทย (ทั้งที่มีพื้นฐานและไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษ) ได้เข้าใจศัพท์สำนวน และ American slang ไม่ใช่อะไรหรอกนะครับ แต่เผื่ออยู่ในกรณีที่ฝรั่งด่าแม่เรา เราจะได้ด่าแม่เขากลับ ไม่ใช่ยืนยิ้มงงๆ แล้วตอบ “Thank you” ดังนั้นความเป็นฟุดฟิดฟอไฟ ทั้งจากคอลัมน์คุณพ่อ จนรายการผม จะมากกว่าเพียง “A Apple-B Boy” หรือสิ่งที่เปิดเจอในพจนานุกรมทั่วไป

คำว่า Shortchange ถือว่าเป็น American Slang ที่ใช้ตั้งแต่ยุค 1880s และมีพื้นเพจากประเทศอังกฤษ โดยหลักๆ จะแบ่งเป็น 2 ซีกก็ได้ครับ ซีกแรกคือ to shortchange คือฝ่ายพ่อค้า หรือใครที่ต้องทอนเงินให้กับลูกค้า แต่ตั้งใจทอนให้ขาดหรือไม่ครบ ส่วนอีกซีกคือ to feel shortchanged คือฝ่ายรับเงินทอนที่ไม่ครบ และรู้ว่าถูกโกง

การจะ (to) shortchange ใครสักคนคือต้องตั้งใจโกงเขา แต่ไม่ใช่ว่าปล้นให้หมดตัว หรือไม่ให้อะไรเขาเลย ยังให้เขาอยู่ แต่ตั้งใจให้ไม่ครบ/หมด ส่วน (to) feel shortchanged คือถูกทั้งโกง ถูกทั้งปล้น แทนที่จะได้ 10 เขาให้เราเพียง 3 และแค่นั้นไม่พอ ทั้ง 2 ฝ่ายรู้ทั้งรู้ว่ามีการโกงขึ้นมา แต่คนรับทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น ฝ่าย (to) shortchange ก็ต้องเลวพอสมควรที่ตั้งใจโกงอีกฝ่าย ทั้งๆ ที่รู้ว่าอีกฝ่ายตรวจได้ แต่ก็ไม่สน ส่วนฝ่าย (to) feel shortchanged ทั้งรู้สึกโกรธที่ถูกโกงแบบหน้าด้านๆ และรู้สึกแค้น เพราะทำอะไรไม่ได้ เหมือนต้องก้มหน้ารับสิ่งที่คนโกงให้

ดังนั้นหน้าปก Time ก็ถือว่าตรงพอสมควร ประโยคสั้นๆ สรุปประเด็นได้ดี เพราะต้องยอมรับกันว่า จำนวนคนไทยไม่น้อยมีความรู้สึกว่าคะแนนเสียงของเขาถูกปล้นไป และนายกฯ ปัจจุบันไม่ใช่นายกฯ ที่เขาเลือก ซึ่งผมเข้าใจว่าสภาเป็นคนเลือก แต่เพราะมีอำนาจ (บ้าบอ) สว. เลือกนายกฯ ด้วย เขายิ่งรู้สึกถูกปล้นมากกว่าเดิม แถม…กลุ่มคนที่เคยออกมาต่อต้านแกนนำรัฐบาลชุดนี้ต้องก้มหน้ารับสภาพรัฐบาลเพียงเพราะ…มันจำเป็น

ห้ามบ่นกันนะครับ เป็นสิ่งที่คุณเลือกให้เป็น

ทิ้งท้ายวันนี้ ฟุดฟิดฟอไฟ มาจากมันสมองของคุณพ่อผม ในช่วงที่ผมยังเด็ก ผมเห็นคุณพ่อนั่งเขียนบทความด้วยมือ ทั้งๆ ที่บางวันไม่มีอารมณ์เขียน และไม่มีเรื่องจะเขียน คุณพ่อจะหาประเด็นจากการพูดคุยกันภายในบ้านบ้าง จากข่าวบ้าง จากประสบการณ์บ้าง หรือจากทั่วไปบ้าง ที่ผมต้องชี้แจงแบบนี้ เพราะเมื่อไม่นานมีคนเอาบทสัมภาษณ์ญาติที่เหลือของคุณพ่อมาให้ดู ในบทสัมภาษณ์ เขาพูดถึงฟุดฟิดฟอไฟที่คุณพ่อผมเขียน เขาพูดให้คนเข้าใจว่าเขามีบทบาทสำคัญ กับคอลัมน์คุณพ่อ เพราะเขาจะให้แนวคิดกับประเด็นกับคุณพ่อ และคุณผมจะขัดเกลาคำพูดจากนั้น

ใครจะเชื่อก็เชื่อไปครับ แต่สำหรับผม ผมขอแค่พูดว่า…เลอะเทอะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วันส่งท้าย 'สวัสดีปีใหม่'

หวังว่าวันนี้คงไม่สายเกินไปที่ผมจะทักแฟนคอลัมน์ด้วยคำว่า “สวัสดีปีใหม่” ครับ เนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกที่เราได้เจอกันในรอบปีใหม่ แต่ผมมีคำถามอยู่คำถามหนึ่งว่า

'This is what butterflies listen to after a long day.'

ทิ้งท้ายปีนี้ด้วยคอลัมน์สบายๆ ครับ ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมจะเขียนในวันนี้ จะถึงใจแฟนคอลัมน์หรือเปล่า เพราะผมไม่แน่ใจว่าพวกเราชอบฟังเพลงแนว Podcast

Gisele Pelicot วีรสตรีของโลก

วันนี้ผมขออนุญาตเขียนเรื่องที่อาจสะเทือนใจ และสร้างความอึดอัดให้กับแฟนคอลัมน์หลายท่าน มันไม่ใช่เรื่องที่คนปกติจะนั่งพูดคุยกัน เป็นเรื่องสะเทือนใจ

President Biden….You’re a Good Dad

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว

คุยเรื่อง…ที่ไม่ใช่เรื่อง

เผลอแป๊บเดียว วันนี้เราเข้าเดือนสุดท้ายของปีแล้ว ถือว่าเราเข้าฤดูกาลซื้อของขวัญสำหรับคริสต์มาสและปีใหม่อย่างเป็นทางการ ถึงแม้ตามห้างต่างๆ