2475 Dawn of Revolution

2475 Dawn of Revolution ภาพยนตร์การ์ตูน (Animation) ถ้าหากจะจัดประเภททางวรรณกรรม (genre) ก็คือว่า เป็นภาพยนตร์เชิงประวัติศาสตร์ (Movie based on history) ที่สามารถปลุกเร้าอารมณ์คนดู (dramatization) ได้ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดจริงและตัวละครที่เป็นคนที่มีตัวตนจริง (real incidents and real characters) โดยไม่มีเหตุการณ์ที่แต่งขึ้นและตัวละครที่สร้างขึ้น (fictional incidents and fictional characters) ตามปรกติแล้ว ถ้าเป็นสารคดีประวัติศาสตร์ (historical documentary) ก็มักจะไม่มีการปลุกเร้าอารมณ์ (dramatization) ส่วนภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ (movies based on history) หากจะมีการปลุกเร้าอารมณ์คนดู (dramatization) ก็มักจะมีการสร้างเหตุการณ์และตัวละครที่ไม่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เพื่อให้ภาพยนตร์สามารถปลุกเร้าอารมณ์คนดูได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมีความโดดเด่นที่ปลุกเร้าอารมณ์คนดูได้ด้วยเหตุการณ์จริง และตัวละครที่เป็นคนจริงที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการออกแบบการผลิตได้อย่างสร้างสรรค์และแสนฉลาด เริ่มต้นตั้งแต่ชื่อเรื่องและการเขียนชื่อเรื่อง ๒๔๗๕ ที่เขียนเลข ๗ เป็นสีทองนั้นสื่อความหมายให้เห็นคุณค่าของพระมหากรุณาของรัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี ที่พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่คนไทยตามที่คณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติต้องการ เพราะแท้ที่จริงแล้วพระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่คนไทย โดยมอบหมายให้ข้าราชบริพารคนไทยและที่ปรึกษาฝรั่งช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะพระราชทานแล้ว แต่เหล่าบรรดาข้าราชการมองว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ เนื่องจากประชาชนยังไม่มีคุณภาพเพียงพอ เพราะการเมืองจะมีคุณภาพได้ประชาชนต้องมีคุณภาพก่อน

การวาดภาพการ์ตูนทำได้ดีมาก โดยเฉพาะดวงตาของตัวละครที่สามารถแสดงอารมณ์ของตัวละครได้สอดประสานกับบทพูดของตัวละคร ในขณะเดียวกันเหล่าบรรดาดาราที่เป็นผู้พากย์ ให้เสียงตัวละครนั้น ต่างก็มีความสามารถในการใช้เสียงที่แสดงอารมณ์ (inner) ของตัวละครได้อย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกัน หลายๆ ฉากจะมีองค์ประกอบฉาก (miser en scene) ที่ตั้งใจสื่อข้อความบางอย่าง ถ้าหากคนดูใช้การสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่าในหลายๆ ฉาก สิ่งที่ใช้ตกแต่งฉาก (props) สื่อเรื่องราวบางอย่างให้แก่คนดู ทำให้มีหลายคนที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วพูดว่า ถ้าจะได้คุณค่าจากภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างแท้จริง ต้องดู 2 รอบ โดยรอบแรกดูเพื่อติดตามเรื่องราวให้เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อดูไปจนจบ เราก็จะยอมรับว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เนื้อหาข้างในสอดคล้องกับชื่อเรื่องที่สามารถพูดได้ว่า “ตรงปก”

การเดินเรื่อง (plot) เป็นไปตามทฤษฎีการละครแบบไม่ผิดเพี้ยนเลย เริ่มต้นด้วยการให้เราได้รู้สถานการณ์และตัวละครที่เกี่ยวข้อง (exposition) ตามมาด้วยการพัฒนา (development) โดยมีปมฉงน (suspense) เกี่ยวกับการริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง บทบาทของตัวละคร ความขัดแย้งกันเองระหว่างตัวละครในคณะราษฎรผู้ก่อการ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะราษฎร ที่คนดูจะรู้สึกตื่นเต้นว่าผลของการขัดแย้งจะมีผลเป็นอย่างไร แม้ว่าผู้ชมบางคนอาจจะมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การปฏิวัติในปี 2475 บ้าง แต่ก็ไม่ได้ลงลึกเหมือนที่ภาพยนตร์นี้นำเสนอ พัฒนาการดังกล่าวนั้นนำไปสู่จุดสุดยอด (climax) ของเรื่อง เมื่อรัชกาลที่ 7 ตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ โดยที่ผู้ชมจะได้รู้สาเหตุที่แท้จริงของการสละราชสมบัติ เพราะมีการคลี่คลาย (denouement) ที่ชัดเจน หลังจากดูภาพยนตร์จบคนดูจะไม่มีอะไรติดค้าง (catharsis หรือ purgation) แม้ว่าในตอนท้ายจะมีการบอกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติอีกหลายเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ชมมีอารมณ์ติดค้างแต่อย่างใด เพียงแต่ได้รับการกระตุ้นเกิดแรงจูงใจที่อยากไปค้นหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ภาพยนตร์กล่าวถึงเหตุการณ์หลังการปฏิวัติในตอนจบของภาพยนตร์

วิธีการเล่าเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแบบเรียงตามลำดับเวลา (chronology) ไม่มีการย้อนไปย้อนมา และเพื่อนำเสนอมุมมอง (points of view) ที่แตกต่างกัน ให้เห็นผู้ชมเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เสนอมุมมองของคนที่คิดต่างอย่างเป็นกลาง มีการใช้วิภาษวิธี (dialectic) โดยให้ลุงดอนเป็นผู้เล่า ถกกับเด็กๆ Gen Y ได้อย่างน่าสนใจ ชื่อของลุงดอน ก็เป็นการตั้งชื่อให้พ้องเสียงกับคำว่า dawn ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า อรุณรุ่ง ลุงดอนเล่าเรื่องการปฏิวัติในเวลารุ่งอรุณของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่ก่อให้เกิดอรุณรุ่งของประชาธิปไตยไทย ในขณะเดียวกันลุงก็ทำให้เกิดอรุณรุ่งของความรู้และความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องของเด็กๆ ที่ไม่ได้อ่านหนังสือมากนัก แต่เชื่อสิ่งที่พบเห็นใน social media โดยไม่มีการหาข้อมูลให้รู้ความจริงอย่างถ่องแท้ การเข้าห้องสมุด การได้ถกตามแนววิภาษวิธีกับลุงดอน ทำให้เด็กๆ ได้รับการเปิดเนตร ให้พบกับความสว่าง ซึ่งในฉาก เราจะเห็นเด็กๆ เดินเข้าหาแสงสว่างในขณะที่เดินตามเข้าไปคุยกับลุงดอน

ก่อนจะเกิดการวิภาษระหว่างเด็กๆ กับลุงดอน ภาพยนตร์เกริ่นนำได้อย่างน่าสนใจ 2 ประเด็น คือ 1) เรื่องการชุมนุมทางการเมืองในปีต่างๆ และ 2) การปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดขึ้นในอดีต เมื่อได้ดูการเกริ่นนำดังกล่าวนี้ เราคิดถึงสิ่งที่เด็ก Gen Y และ Z ได้รับข้อมูลข่าวสารให้หมกมุ่นอยู่กับเหตุการณ์ที่พวกเขาถูกครอบงำให้เห็นว่าประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย มีแต่การใช้อำนาจเผด็จการที่ทำให้เด็กๆ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงตามข้อมูลที่พวกเขาได้รับจากนักการเมืองบางพรรคและอาจารย์บางคนที่เป็นปฏิปักษ์กับทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ก็ทำให้เราเห็นลักษณะนิสัยและค่านิยมของเด็ก Gen Y และ Gen Z ที่เชื่อข้อมูล online ฉาบฉวย ไม่ชอบอ่านหนังสือ มองการกระทำของผู้สูงอายุที่ไม่เป็นดิจิทัลว่าเป็นความล้าหลัง ไม่ทันสมัย การเรียนรู้ของพวกเขาไม่ได้ทำด้วยทัศนะของคนต้องการเรียน (want-to attitudes) แต่เป็นการเรียนรู้เพราะถูกบังคับให้เรียน (have-to attitudes) วิธีการนำเสนอของลุงดอน ทำให้เด็กเริ่มตาสว่าง เป็นการเล่าเรื่องอรุณรุ่งของประชาธิปไตยที่เกิดจากการปฏิวัติตอนอรุณรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทำให้เกิดอรุณรุ่งของความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องสำหรับเด็กๆ

ที่น่าชื่นชมอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การที่ลุงดอนทำให้เด็กได้เห็นพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์ของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ก่อนที่รัชกาลที่ 7 จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้คนไทย รัชกาลที่ 3 ทรงเตือนคนไทยให้ระวังฝรั่งด้วยวิสัยทัศน์ว่าจะถูกเอาเปรียบ รัชกาลที่ 4 สร้างความทันสมัยให้ประเทศไทย ทำสนธิสัญญาการค้า ยอมเสียเปรียบเพื่อหลีกเลี่ยงการทำสงคราม รัชกาลที่ 5 ทรงเลิกทาส ทรงปรับปรุงการปกครอง มีการกระจายอำนาจ มีสภาที่ปรึกษา เสมือนรัฐธรรมนูญฉบับแรก เทียบเท่า Magna Carta ของอังกฤษ พัฒนาการศึกษา รัชกาลที่ 6 ทรงทดลองประชาธิปไตย ศึกษาก่อนใช้จริง พบว่าคนไทยยังไม่พร้อม มีความพยายามของคนบางกลุ่มที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยการลอบปลงพระชนม์พระองค์ แต่ไม่ทรงเอาโทษผู้ใด ทรงส่งทหารไทยร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เป็นประเทศผู้ชนะ ยกเลิกสนธิสัญญาที่ถูกเอาเปรียบได้บางส่วน ได้ร่วมก่อตั้งสันนิบาตชาติ รัชกาลที่ 7 เมื่อมีการปฏิวัติ พระราชทานรัฐธรรมนูญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด

ภาพยนตร์เรื่องนี้ คนที่ยกย่องปรีดี พนมยงค์ คงไม่ค่อยจะพอใจนัก เพราะแนวความคิดของท่านที่มีกลิ่นอายของสังคมนิยมที่เป็นการบังคับประชาชนมากกว่าการให้เสรีภาพแก่ประชาชน และการได้รับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองนั้น แท้ที่จริงเป็นการเปลี่ยนกลุ่มครองอำนาจ และความขัดแย้งของผู้ก่อการที่ต้องการอำนาจมากกว่าทำเพื่อประชาชน พระมหากษัตริย์ต่างหากที่ทรงทำเพื่อประชาชน ดูได้จากพระราชดำรัสที่มีอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ แนะนำให้ดูอย่างน้อย 2 รอบนะคะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มาเป็นชุด! 'ดร.เสรี' ฟาดคนโอหัง ความรู้ไม่มี ทักษะไม่มี ไร้ภาวะผู้นำ น่าสมเพชอย่างแท้จริง

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า เตือนก็แล้ว ตำหนิก็แล้ว ต่อว่าก็แล้ว เยาะเย้ยก็แล้ว ล้อเลียนก็แ

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ดร.เสรี ยกวาทะจัญไรแห่งปี 'เขาเว้นเกาะกูดให้เรา'

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ประโยควาทะอัปรีย์จัญไรแห่งปี "เขาเว้นเกาะกูดให้เรา" แสดงว่าเขาเมตตาเราสินะ เราต้องขอบคุณเขา สำนึกบุญคุณเขาใช่ไหม