พันธมิตรมะกันในเอเชีย เริ่มหวั่นไหว...หากทรัมป์กลับมา

ประเทศในเอเชียที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เริ่มจะหวั่นไหวแล้ว..แม้ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังต้องรอไปอีก 8 เดือน

เหตุแห่งความหวั่นไหวในย่านนี้คือความกลัวว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมายึดทำเนียบขาวจากโจ ไบเดน ได้สำเร็จ

ทรัมป์มองว่า “พันธมิตร” นั้นเป็นภาระมากกว่าที่จะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ

เพราะทรัมป์มองทุกอย่างจากแง่มุมของผลประโยชน์ระยะสั้น

ใครค้าขายได้ดุลกับสหรัฐฯ ทรัมป์ถือว่าไม่เป็นมิตร

ใครยังรับความช่วยเหลือเป็นดอลลาร์จากวอชิงตัน ทรัมป์ถือว่าเป็นผู้เอาเปรียบอเมริกา

ดังนั้น หากทรัมป์กลับมาจริง นิยามของ “ความร่วมมือทางความมั่นคง” กับประเทศในเอเชียจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ

นักการทูตยูโรปเริ่มจะคาดเดาว่า หากโจ ไบเดน แพ้ให้ทรัมป์ รัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะถอนออกจาก NATO

ถึงขั้นที่เริ่มมีการพูดคุยกันในยุโรปว่าจะต้องมองอนาคตที่ไม่มีสหรัฐฯ อยู่ในสมการการป้องกันตัวเองแล้ว

ใครที่ได้อ่าน “บันทึกความทรงจำ” ของมาร์ก เอสเปอร์ ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมภายใต้รัฐบาลยุคก่อน ทรัมป์จับจ้องที่จะถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากเกาหลีใต้ตอนที่นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี

แต่คนใกล้ชิดจำนวนหนึ่งคัดค้านอย่างสุดฤทธิ์

ด้วยการขอให้การตัดสินใจเช่นนั้นเป็นเรื่อง "ลำดับความสำคัญสำหรับระยะที่สอง"

ทำให้เกิดคำถามใหญ่ว่า ถ้าทรัมป์กลับทำเนียบขาว และจีนตัดสินใจเข้ายึดเกาะไต้หวัน สหรัฐฯ จะมีจุดยืนอย่างไร

Nikkei Asia รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีการปิดประตูแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการของนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักการทูต และนักข่าวประมาณ 40 คนจากสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่นที่โอดาวาระ ใกล้โตเกียว

เป็นการนัดหมายเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าด้วยฉากทัศน์ของเอเชียในกรณีที่ทรัมป์กลับมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ อีกครั้ง

หัวข้อถกแถลงร้อนแรงที่สุดคือเรื่องทรัมป์กับไบเดน

ตัวแทนจากทั้งญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักรเห็นพ้องกันว่า ผู้ทั้งสองประเทศต้องเตรียม “แผนสำรอง” ในกรณีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในนโยบายของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้

มาตรการที่เสนอในระหว่างการแลกเปลี่ยนประกอบด้วยสามประเด็น

ประการแรก สร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ทันที ไม่เพียงแต่กับพรรคเดโมแครต แต่ยังรวมถึงพรรครีพับลิกันที่ทรัมป์กำกับควบคุมอยู่ด้วย

ประการที่สอง ติดต่อกับพันธมิตรอื่นๆ ของสหรัฐฯ และประเทศที่มีแนวคิดเดียวกัน เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการทูตและความมั่นคงระหว่างประเทศที่เป็น “มหาอำนาจกลาง” หรือ Middle Powers

ในเวลาเดียวกัน ผู้เข้าร่วมจำนวนมากเรียกร้องให้เพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันโดยรวมด้วย

เพราะกลัวว่าถ้าอเมริกาถอนความร่วมมือทางทหารออกจากเอเชีย จำเป็นต้องมีการสร้างพันธมิตรในรูปแบบใหม่มาทดแทนทันที

แนวโน้มที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ การเคลื่อนไหวของประเทศอำนาจขนาดกลางเพื่อยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงร่วมกันในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

มีสัญญาณว่าพันธมิตรของสหรัฐฯ และประเทศที่เป็นมิตรกำลังเคลื่อนตัวไปในทิศทางนี้อย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างเช่น ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นและออสเตรเลียได้ลงนามในข้อตกลงป้องกันประเทศทวิภาคีที่อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคลากรทางทหารและอุปกรณ์ระหว่างสองประเทศ

เพื่อให้กองทัพของแต่ละประเทศดำเนินการฝึกอบรมร่วมกันได้ง่ายขึ้น การซ้อมรบ ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และปฏิบัติการบรรเทาภัยพิบัติบนดินแดนของกันและกัน

ญี่ปุ่นและออสเตรเลียยังได้เริ่มมองหาทางที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมด้านกลาโหม

ในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา Mitsubishi Electric ลงนามในสัญญากับกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลียเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันร่วมกัน

โครงการนี้มุ่งเน้นไปที่การสร้างต้นแบบของระบบแจ้งเตือนและเฝ้าระวังโดยใช้เทคโนโลยีเลเซอร์สำหรับติดตั้งในเครื่องบินรบและยานพาหนะ

 นี่ถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทญี่ปุ่นได้ทำสัญญาโดยตรงกับรัฐบาลต่างประเทศในด้านการป้องกันประเทศ

อีกประเทศหนึ่งที่ต้องเดือดร้อนคือฟิลิปปินส์

เพราะกำลังเผชิญกับแรงกดดันทางทหารจากจีนในทะเลจีนใต้

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฟิลิปปินส์จะขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงนอกเหนือจากสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ พบกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แอนโธนี อัลบานีส เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ปีนี้

และลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงทางทะเลและการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

กองทัพของฟิลิปปินส์และออสเตรเลียได้ดำเนินการลาดตระเวนทางทะเลร่วมกันครั้งแรกในน่านน้ำ รวมทั้งทะเลจีนใต้

นอกจากนี้ ในปีนี้ ฟิลิปปินส์วางแผนที่จะติดตั้งขีปนาวุธต่อต้านเรือภาคพื้นดินเป็นครั้งแรกด้วยความร่วมมือกับอินเดีย

เป็นการเพิ่มความระมัดระวังต่อการขยายตัวทางทะเลของจีนมากขึ้น

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารของอินเดียเดินทางเยือนฟิลิปปินส์เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้บุคลากรเกี่ยวกับการปฏิบัติการและการบำรุงรักษาระบบขีปนาวุธ

เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของฟิลิปปินส์เผยว่า มะนิลาจะขยายความร่วมมือด้านกลาโหมไม่เพียงแต่กับสหรัฐฯ แต่ยังรวมถึงประเทศที่เป็นมิตรอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และประเทศสำคัญๆ ในยุโรปด้วย

เพราะวางฉากทัศน์เผื่อกรณีทรัมป์กลับมา

เอเชียไม่เหมือนยุโรปที่อย่างน้อยมีเกราะกำบังของ NATO

แต่สำหรับเอเชียแล้ว ความร่วมมือของสหรัฐฯ กับแถบนี้ไม่มีกรอบการทำงานด้านความปลอดภัยพหุภาคี

มีแต่พันธมิตรทวิภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์เท่านั้น

แต่หากทรัมป์กลับมา รากฐานของพันธมิตรที่สำคัญเหล่านี้อาจถูกสั่นคลอนถึงแก่นเลยก็ได้

ถามว่าจีนกับรัสเซียดีใจไหมถ้าทรัมป์กลับมาเป็นใหญ่ที่สหรัฐฯ

คำตอบคือยังไม่มีใครรู้ว่าหากทรัมป์กลับมาจริง จะปรับเปลี่ยนนโยบายสหรัฐฯ ต่อสองประเทศนี้อย่างไร

ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียตอบคำถามนักข่าวว่า เขาคิดว่าผู้นำสหรัฐฯ ที่มีพฤติกรรมที่ “คาดเดาได้” ดีกว่าที่จะได้คนที่คาดอะไรไม่ได้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปูติน หรือสี จิ้งผิง ของจีนจะสบายใจได้หากโจ ไบเดน แพ้ทรัมป์

เพราะไม่มีใครทำนายได้ว่าทรัมป์สมัย 2 จะยุ่งวุ่นวายกว่าสมัยแรกหรือไม่ อย่างไร!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ