ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 14: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

 

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม

“จนกระทั่งบัดนี้ (นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน จนถึง 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2475/ผู้เขียน) มีปฏิกิริยาโต้ตอบรัฐบาลชุดใหม่เพียงครั้งเดียว คือ บัญชีหางว่าวที่นายทหารและพลเรือนรวม 300 คนลงลายมือชื่อเรียกร้องให้ พลตรี พระยาศัลวิธานนิเทศ อดีตเจ้ากรมแผนที่ทหาร ซึ่งถูกปลดหลังจากเหตุการณ์ปฏิวัติได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยบรรดาผู้ลงชื่อให้เหตุผลว่า ท่านเป็นที่รักของผู้ใต้บังคับบัญชา และได้แสดงให้เห็นมาโดยตลอดว่าเป็นผู้ปกครองที่มีความสามารถ บัญชีที่แนบท้ายด้วยแถลงการณ์ทางการฉบับนี้ได้รับความสนใจจากคณะรัฐบาลชุดใหม่อย่างมาก

พระยาศัลวิธานนิเทศ

หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆในวันเดียวกันตีพิมพ์แถลงการณ์ของรัฐบาลที่เตือนให้ประชาชนระวังสมาคมบางแห่ง ซึ่งมีท่าทีเป็นฟาสซิสต์ ที่อาจอยู่ระหว่างก่อตั้ง และระบุถึงอันตรายของสมาคมเหล่านั้น ที่อาจคุกคามเสรีภาพของประชาชนได้   หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆของวันรุ่งขึ้นในบทความชื่อ ‘ระบบฟาสซิสต์ไม่เป็นประชาธิปไตย’ นำเรื่องนี้มาพูดใหม่ โดยเน้นประเด็นเดียวกัน           

แถลงการณ์ราชการบางฉบับอาจะทำให้เชื่อว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่สนใจการปฏิรูปที่สำคัญ แต่กลับหมกมุ่นกับสิ่งที่สำคัญรองลงมา เช่น เมื่อรัฐบาลประกาศให้ลดค่าเล่าเรียนลงจาก 80 บาทเป็น 60 บาทต่อปี และครูจะต้องประหยัดค่าไฟและค่าน้ำมันให้ได้มากที่สุด เป็นต้น 

บทสรุป

จนกระทั่งบัดนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านมาได้ด้วยดี และสถานการณ์ยังคงเงียบสงบเช่นเดิม ซึ่งแสดงถึงความว่านอนสอนง่ายและความไม่กระตือรือร้นของประชาชนชาวสยาม  ดังที่ข้าพเจ้าเคยพูดถึงในรายงานฉบับก่อนๆ และยังคงดำเนินต่อไป เราจึงไม่ต้องแปลกใจในเรื่องนี้                   

ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่พำนักอยู่ในสยามบอกข้าพเจ้าว่า เมื่อครั้งที่กองเรือรบฝรั่งเศสเข้ามาใน ค.ศ. 1893 (เหตุการณ์ ร.ศ. 112/ผู้เขียน) หลังจากฝ่าแนวกั้นปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาโดยพลการ และทอดสมอที่หน้าสถานอัครราชทูตฝรั่งเศส  ในวันนั้น ประชาชนชาวสยามยังคงเพิกเฉยต่อสถานการณ์อย่างไม่น่าเชื่อ และดูเหมือนจะไม่สนใจที่เห็นเรือรบฝรั่งเศสเข้ามาจอด แต่อย่างไรก็ตาม บาดแผลแห่งศักดิ์ศรีที่สยามได้รับในครั้งนั้น ต้องใช้เวลานานในการเยียวยา   และยังบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่า ทุกวันนี้ บาดแผลนั้นสมานดีแล้วหรอืไม่ 

คนจีนที่อาศัยอยู่ในบางกอกยังไม่มีความเคลื่อนไหวในช่วงนี้ แต่ก็เป็นเรื่องจริงว่า พวกเขาส่งโทรเลขเรื่องการปฏิวัติไปยังพรรคก๊กมินตั๋งด้วยความกระตือรือร้นตั้งแต่วันแรก  เพื่อขอให้ส่งโทรเลขแสดงความยินดีต่อรัฐบาลชุดใหม่ในทันที  หลังจากนั้น จึงส่งผู้แทนของบุคคลสำคัญมาเสนอความช่วยเหลือให้รัฐบาลชุดใหม่ของสยาม  แต่ผู้แทนเหล่านี้ไม่ได้รับการต้อนรับ จึงรู้สึกไม่พอใจมาก ในระหว่างนี้ พวกเขายังเก็บตัว แต่ก็พร้อมจะแสดงศักยภาพในการก่อความไม่สงบ

ท่ามกลางความนิ่งนอนใจของชาวสยาม มีคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ยังไม่ถึงขั้นรุนแรงเริ่มก่อตัวขึ้น  เป็นคำวิจารณ์เกี่ยวกับความประพฤติมิชอบของผู้นำการปฏิวัติ ที่ให้ตำแหน่งสำคัญๆแก่ตัวเองหรือพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงความสามารถ ความเหมาะสม หรือสิทธิที่ได้มา เรื่องนี้เป็นเชื้อไฟที่จะปะทุใหญ่โตขึ้นได้ สรุปคือ ควรประเมินว่าสถานการณ์ในปัจจุบันยังขาดเสถียรภาพและควรเฝ้าติดตามพัฒนาการของความรู้สึกนึกคิดอย่างระมัดระวัง

อองรี รูซ์”

รายงานวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475)

“บัดนี้ รัฐบาลชุดใหม่ก่อตั้งมาได้ 1 เดือนแล้ว ในช่วงนี้ ยังไม่อาจพูดได้ว่า สถานะของรัฐบาลเข้มแข็งแล้ว  เกิดการต่อต้านขึ้น  ในตอนแรก การต่อต้านนี้ยังไม่รุนแรงนัก นั่นคือ การลงบัญชีหางว่าวของ ‘ประชาชน’ จำนวน 300 คน เรียกร้องให้อธิบดีกรมตำรวจกลับมาปฏิบัติราชการ และบัญชีหางว่าวของประชาชนอีก 500 คน เรียกร้องให้นายพลที่เป็นเจ้ากรมแผนที่ทหารกลับมาเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์และนักศึกษาอีก 122 คน ที่ต้องการให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยลาออก ในแต่ละครั้ง รัฐบาลชุดใหม่ตอบว่า จะพิจารณาข้อเสนอที่น่าสนใจเหล่านี้ด้วยความละเอียดถี่ถ้วนอย่างยิ่ง

อาศัยสิทธิเสรีภาพในฐานะสื่อ หนังสือพิมพ์ต่างๆยังคงต่อต้านเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดใหม่ โดยที่รัฐบาลโต้ตอบผ่านองค์กรอื่นๆว่า ‘บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์มิได้เป็นศัตรูของพวกเรา’ ‘ระบอบฟาสซิสต์มิใช่ประชาธิปไตย’ ฯลฯ   เหล่านี้ คือ คำยืนยันจากผู้เป็นกระบอกเสียงของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร

หลายวันที่ผ่านมานี้ การข่มขู่คุกคามแรงมากขึ้น มีกลุ่มบุคคล 12 คนถูกสงสัยว่า วางแผนประทุษร้ายต่อชีวิตของสมาชิกคณะราษฎร นอกจากนั้น ยังมีการจับกุมเพิ่มอีก 2 คน ที่มีปากเสียงกันหลังดื่มสุรา เรื่องการลองสังหาร พันโท พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะปฏิวัติ โดยมีเงินรางวัล 800 บาท แต่ดูเหมือนว่า จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีการตัดสินลงโทษแต่อย่างใด คนที่ถูกจับบอกว่า ‘เงิน 800 บาท เป็นจำนวนที่น่าสนใจทีเดียว’

ดูเหมือนว่า รัฐบาลชุดใหม่จะเข้าใจดีถึงสถานะที่ไม่มั่นคงของตน สองสามวันมาแล้วที่คณะกรรมการราษฎรขังตัวเองอยู่ในพระราชวังดุสิต เมื่อวานนี้ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดการปฏิวัติ ที่มีรถหุ้มเกราะติดปืนกลออกมาวิ่งลาดตระเวนตามถนนในเมือง ทว่าผู้คนต่างเฉยเมยเป็นที่สุด รถถังขนาดเล็กมาจอดคุมสถานการณ์บริเวณสี่แยกแรกๆ บนถนนสายต่างๆ ที่มุ่งสู่พระราชวัง บริเวณใกล้เคียงทางเต็นท์เพื่อเก็บสิ่งของสัมภาระ แต่ไม่มีการกีดขวางหรือปิดกั้นถนนหนทางแต่อย่างใด  รถบรรทุก 2 คันของผู้ก่อการปฏิวัติ ซึ่งคันหนึ่งน่าจะมีภารกิจ ‘พุ่งชน’ สิ่งกีดขวางที่บอบบาง  น่าจะฝ่าแนวกั้นเข้าไปได้โดยง่ายและไม่เสี่ยงอันตรายแต่อย่างใด

ตลอดทั้งคืน ไฟส่องสว่างจำนวนมากถูกนำมาติดตั้งบริเวณชั้น 2 ของพระราชวัง เพื่อสาดส่องถนนสายใหญ่ๆพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวดูเหมือนจะมิได้เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลชุดใหม่ ในทางตรงกันข้าม พระองค์ดูจะทรงสนับสนุนเสียด้วยซ้ำ  อาจพูดให้ชัดขึ้นได้ว่า ‘พระองค์ทรงเป็นผู้สนับสนุนเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น’  แต่ด้วยพระพลานามัยที่ไม่แข็งแรง จึงต้องบรรทมเกือบทั้งวัน และพระองค์เป็นบุคคลสำคัญที่สุดในสถานการณ์ โดยที่พระองค์เองอาจจะไม่ทรงตระหนักก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระสงฆ์ ซึ่งเป็นอำนาจเดียวที่เข้มแข็งที่สุด ก็อุทิศตนเพื่อพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ แต่พระองค์ย่อมจะได้รับผลกระทบไม่น้อย หากมีการปฏิวัติครั้งใหม่ และจะต้องยอมจำนนในลักษณะเดียวกัน พระองค์จึงตั้งพระทัยจะถอยห่างออกมาทันทีที่สถานการณ์มั่นคง เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน รัฐบาลชุดใหม่ประกาศเรื่อยๆว่า จะมีการเลือกผู้มีสิทธิสืบราชสันตติวงศ์ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลกลับไม่ได้เร่งรีบกระทำเท่าไรนัก”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


(พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย.   ข้อความทั้งหมดในส่วนของนายพันโท อองรี รูซ์ ข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 97, 99, 107-110).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' สื่อสารถึง 'สนธิ' : 'การทำอย่างเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม'

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

'ณัฐวุฒิ' ดับกลางอากาศ! 'เจี๊ยบ-สาวกส้ม' แห่แชร์คลิปตาสว่างหลงเชื่อ 'ไอ้เต้น' มา 20 ปี

นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์คลิปวิดีโอความเห็นของผู้ที่เคยสนับสนุน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ

นายกฯอิ๊งค์ ยืนยันจุดยืนรัฐบาล ไม่มีเจตนาแทรกแซงกองทัพ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า เรื่องนี้มีความคิดเห็นต่างกันอยู่แล้วก็ต้องรับฟังทุก