ครูตำรวจชายแดน

ตำรวจตระเวนชายแดน เป็นตำรวจหน่วยหนึ่งในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่แตกต่างจากตำรวจหน่วยอื่น เป็นหน่วยงานสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของตำรวจได้ดีมากที่สุด

ตำรวจตระเวนชายแดน ภาระหน้าที่หลัก ตระเวนตรวจตราพื้นที่ตามแนวชายแดนทั่วประเทศไทย เสมือนรั้วของชาติ เป็นแนวด่านแรกในการปกป้องอธิปไตย

ปฏิบัติการ ประสานงาน และสนับสนุนการทำงานของตำรวจหน่วยอื่นๆ เช่น ตำรวจภูธร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจหน่วยบิน ฯลฯ

ภารกิจต่างๆ ทั้งเรื่องป้องกันปราบปรามอาชญากรรม (การปราบปรามยาเสพติด การหลบหนีเข้าเมือง ฯลฯ) และความมั่นคงของชาติ

ตำรวจตระเวนชายแดน ออกตรวจตราบริเวณชายแดนพื้นที่ทุรกันดารพบพี่น้องประชาชนชาวไทยที่เดือดร้อน เกี่ยวกับการครองชีพและโรคภัยไข้เจ็บ ได้ให้ความช่วยเหลือเท่าที่สามารถจะช่วยได้

อาทิ แจกอาหาร เสื้อผ้า ให้การรักษาพยาบาล และก็ยังพบเห็นเด็กวัยเรียนจำนวนมากยังไม่ได้เรียนหนังสือ

ปี พ.ศ.2498 ตำรวจตระเวนชายแดนได้จัดตั้งโรงเรียนชาวเขา เพื่อสอนภาษาไทย จะได้สามารถติดต่อสื่อสาร เป็นสื่อเผยแพร่ความรู้ พัฒนาความเป็นอยู่ต่างๆ

ปี พ.ศ.2499 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และครูตำรวจชายแดนเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ที่หมู่บ้านดอนมหาวัน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2499 ใช้ชื่อว่า "โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบำรุงที่ 1"

การจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือ ระยะแรกไม่มีงบประมาณสนับสนุน ครูก็ใช้ตำรวจตระเวนชายแดน นักเรียนก็ยากจน ไม่มีสมุด ดินสอ และหนังสือเรียน

ต้องอาศัยผู้มีจิตศรัทธาบริจาคผ่านตำรวจตระเวนชายแดน และเดินทางไปเยี่ยมเยียนในบางครั้ง เพื่อแจกอุปกรณ์ต่างๆ กิจการเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับชาวเขาที่เข้ามาพักอาศัยในประเทศไทยและประชาชนคนไทยไกลคมนาคม

ได้พระราชทานทรัพย์ให้สร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนหลายครั้ง

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้มีพระเมตตาให้ความอุปถัมภ์ ด้วยการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินผู้บริจาคถวายโดยเสด็จพระราชกุศล นำไปจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และจะเสด็จไปทรงเปิดด้วยพระองค์เองทุกแห่ง

ตลอดเวลาจะเห็นภาพพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเยี่ยมเยียนประชาชนในถิ่นทุรกันดาร เอาอาหาร ยารักษาโรค และคณะแพทย์ ไปดูแลพี่น้องประชาชน โดยมีตำรวจตระเวนชายแดนติดตามไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยทุกครั้ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   รัชกาลที่ 9 ได้ตรัสตอนสมเด็จย่าสิ้นว่า  "สมเด็จย่าสิ้นแล้วอย่างสงบที่สุด สมเด็จย่ารักตำรวจมาก ช่วยดูแลงานตำรวจต่างๆ เป็นอย่างดี เป็นการสมควรที่ตำรวจทุกคนจะได้ปฏิบัติหน้าที่โดยความเข้มแข็งอย่างสุดความสามารถเพื่อประเทศชาติ และถวายเป็นพระราชกุศลต่อสมเด็จย่าต่อไป”

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสืบสานงานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จย่า

ได้ทรงริเริ่มและให้ดำเนินการโครงการต่างๆ โดยให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเป็นพื้นที่รองรับและสนองงานโครงการพระราชดำริโครงการต่างๆ จำนวน 8 โครงการ

โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ร่วมกันทำเกษตรในโรงเรียน นำผลผลิตไปประกอบอาหารกลางวัน อีกทั้งทำให้นักเรียนได้รับความรู้และทักษะด้านเกษตรแผนใหม่

โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ส่งเสริมคุณภาพการเรียนการสอน สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งการก่อสร้างและปรับปรุงโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร

โครงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลูกฝังการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นให้กับนักเรียนและประชาชน เพื่อความอุดมสมบูรณ์และความสมดุลของธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ป่า และทรัพยากรท้องถิ่น

โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ ส่งเสริมให้นักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ ให้มีโอกาสเรียนสูงขึ้นตามระดับสติปัญญาและความเหมาะสม เพื่อให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ สำหรับใช้ในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น

โครงการฝึกอาชีพ ส่งเสริมการฝึกอาชีพให้แก่เด็กนักเรียนที่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อ โดยเน้นอาชีพที่เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ

โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนให้กับนักเรียนและชุมชนในท้องถิ่นทุรกันดาร

โครงการส่งเสริมสหกรณ์ ส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับหลักการ วิธีการสหกรณ์ และส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในชุมชนที่มีความพร้อม

โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่ ส่งเสริมให้หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และเด็กตั้งแต่แรกเกิด ได้รับบริการที่เหมาะสม ให้แม่มีโภชนาการและสุขอนามัยที่ดี เด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ

โครงการทั้งหมด เป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ช่วยให้โรงเรียนสามารถปฏิบัติภารกิจได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย บนความจำกัดของทรัพยากร

ในลักษณะการป้องกันปัญหาและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นปัจจัยความสำเร็จที่เป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

หน่วยงานภาครัฐ มากกว่า 10 หน่วยงาน ร่วมให้การสนับสนุน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมอนามัย กรมส่งเสริมเกษตร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค สถาบันอาชีวะ รวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ

พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมติดตามการดำเนินการโครงการพระราชดำริต่างๆ ตามโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศตลอดเวลา

อีกทั้งยังได้ทรงให้คำแนะนำ กำหนดปรัชญาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอย่างแท้จริง

ตำรวจตระเวนชายแดนจึงได้กำหนดปรัชญาของโรงเรียนขึ้นว่า "สร้างภูมิปัญญา พัฒนาคุณภาพชีวิต สัมฤทธิผลความมั่นคง"

สะท้อนบทบาทสำคัญ 3 เรื่อง คือ บทบาทเป็นสถานศึกษา บทบาทเป็นศูนย์กลางพัฒนาคุณภาพชีวิต และบทบาทเป็นหน่วยงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยและรักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชน

การบริหารงานวิชาการ บูรณาการภาควิชาการกับการพัฒนาทักษะชีวิต จัดหลักสูตรท้องถิ่นให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาไทยและสากล ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ มีการฝึกอาชีพ มีการประเมินผลคุณภาพการศึกษา มาตรฐานเดียวกับโรงเรียนสังกัดอื่นๆ

การบริหารงานบุคคล ประกอบด้วย ครูตำรวจชายแดน ครูพลเรือน ผู้ดูแลเด็กเล็ก และครูอาสาช่วยสอน

มีโครงการผลิตครูทายาท โดยสอบคัดเลือกจากศิษย์เก่านักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเข้าไปเป็นข้าราชการตำรวจที่ทำหน้าที่ครูตำรวจชายแดน และมีทุนพระราชทานเพื่อให้ครูตำรวจชายแดนได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี

โดยมีนายตำรวจสัญญาบัตรเป็นผู้บริหาร ครูตำรวจชายแดน ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถรอบด้าน นอกจากการรบแบบทหาร ป้องกันอาชญากรรมแบบตำรวจ สอนหนังสือแบบครู ยังต้องมีความสามารถในกิจกรรมพิเศษ เช่น ครูพยาบาล ครูสหกรณ์ และผู้สอนอาชีพ

การบริหารงานงบประมาณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติสนับสนุนการจัดการศึกษาให้นักเรียนเรียนฟรีมาตั้งแต่ต้น จัดหาเครื่องแบบนักเรียนจำนวน 2 ชุด หนังสือแบบเรียน และอาหารเสริม (นมผง) สำหรับเด็กปฐมวัย ฯลฯ

ปัจจุบัน พ.ศ.2564 โรงเรียนตำรวจชายแดนดำเนินการมา 65 ปี จัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมาแล้ว จำนวน 761 แห่ง ทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ที่บริเวณหมู่บ้านชายแดนในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศไทย

รับนักเรียนโดยไม่เลือกชั้น วรรณะ และกลุ่มชาติพันธุ์ นักเรียนมีหลากหลายเชื้อชาติ ได้แก่ ไทย กะเหรี่ยง ลีซอ อีก้อ มูเซอ อาข่า ม้ง เย้า จีนฮ่อไทยใหญ่ ลัวะ กะหร่าง มอญ

มีเด็กและเยาวชนที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาเข้าเรียนกว่า 500,000 คน หากไม่มีการดำเนินการเช่นนี้ เด็ก เยาวชน และประชาชนกลุ่มนี้จะถูกทอดทิ้ง ขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดโอกาสทางสาธารณสุข ขาดโอกาสการดำรงชีวิตในทุกๆ ด้าน

การนำการศึกษาเข้าไปเป็นเครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์ ผลได้รับคือความมั่นคงตามแนวชายแดน

นอกจากนี้ ผลพลอยได้อีกประการหนึ่ง คือพื้นที่ตำรวจตระเวนชายแดนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ จะเป็นพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่เหล่านั้นจะได้รับการพัฒนาทางด้านคมนาคม ทำให้มีเส้นทางเข้าถึงพื้นที่ชายแดนเกือบทุกแห่งอีกด้วย

ทุกวันนี้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และครูตำรวจชายแดน ยังคงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง อดทนต่อความยากลำบาก อุปสรรค และข้อจำกัดนานัปการ เป็นรั้วของชาติบริเวณชายแดน และเป็นเปลวเทียนส่องสว่างให้ความรู้กับเด็กผู้ยากไร้ทั้งหลาย เพื่อเติบโตไปเป็นพลเมืองดีของชาติต่อไป

ขอจบเรื่องเล่าวันนี้ด้วยบทเพลง "ตำรวจชายแดน" บทประพันธ์คำร้องโดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค

โอ้ชีวิตเธอ อยู่ตามเขาลำเนาป่า ตระเวนชายแดน เหมือนดังพรานล่องพนา ต้องนอนกลางดิน ต้องกินล้วนอาหารมีในป่า สุดทรมาน เพียงใดเธอไม่ท้อเลย

เมื่อยามค่ำคืน มีเพียงนวลแสงจันทร์ส่อง กับเสียงนกร้อง ทำนองดนตรีที่เคย ตกดึกเหน็บหนาว กายใจไม่เห็นเธอเอื้อนเอ่ย โอ้น่าชมเชย สมเป็นยอดตำรวจตระเวนชายแดน

หากเธอระทม นอนซมเพราะพิษไข้ป่า อยู่แดนกันดาร ร้าวรานน่าเบื่อระอา ขาดคนเอาใจ ห่างไกลทั้งมวลมิตรสนิทหน้า อยู่ตามประสา เชื้อชายชาติอาชาไนย

ต้องนอนกอดปืน ผจญศัตรูสู้ไป ชีพดับสลาย ความตายคือเกียรติที่เธอได้ พวกเราชาวไทย เห็นใจยอดตำรวจชายแดน”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตำรวจ ศชต.

“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”

ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต

เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ