อ่านเศรษฐกิจจีนจาก ที่ประชุมสภาประชาชน

ที่ต้องจับตาการประชุมสภาประชาชนของจีนสัปดาห์ที่ผ่านมาเพราะคนทั้งโลกต้องการรู้ว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้จะเป็นอย่างไร

ในโลกวันนี้ หากจีนจาม คนทั้งโลกอาจจะติดหวัด

เหมือนตอนโควิด-19 เริ่มระบาดจากอู่ฮั่นของจีน ทั้งโลกต้องมีอันหยุดหมุนไปเกือบ 3 ปีทีเดียว

นายกฯหลี่ เฉียงของจีนประกาศตั้งเป้าหมายการเติบโต “อย่างทะเยอทะยาน” ไว้ที่ประมาณ 5% ในปีนี้

แถมด้วยการให้กำลังใจว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีด้วย

แต่หลี่ก็ยอมรับว่าการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของจีนให้บรรลุเป้าหมายนั้นต้องเผชิญกับ "ความยากลำบาก"

อีกทั้งยอมรับว่าอุปสรรคหลายสิ่งหลายอย่าง "ยังไม่ได้รับการแก้ไข"

การจะกลับมาเฟื่องฟูเหมือนก่อนยังเป็นความท้าทายที่มองไม่เห็นว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด

ต้องยอมรับว่าผู้นำจีนวันนี้ยอมรับความจริงมากกว่าแต่ก่อน

เพราะไม่ปิดยังอำพรางว่ามีขยะใต้พรมไม่น้อยที่ต้องกวาดออกมา

นายกฯหลี่บอกว่า “ความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับอสังหาริมทรัพย์ หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น และสถาบันการเงินขนาดเล็กและขนาดกลางนั้นรุนแรงมากในบางพื้นที่”

“ภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ เราเผชิญกับปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกมากขึ้นอย่างมากในการตัดสินใจด้านนโยบายและการทำงานของเรา”

ภาษาอย่างนี้เราไม่เคยได้ยินจากผู้นำจีนยุคก่อน ๆ แน่นอน

แต่ก็เข้าใจได้ว่าผู้นำยุคนี้ถ้าไม่พูดความจริงกับประชาชน ผลที่สะท้อนกลับมาอาจจะรุนแรงเกินกว่าที่คาดคิด

พอยอมรับถึงปัญหา นายกฯจีนก็ประกาศมาตรการอื่นๆ อีกหลายชุดเพื่อช่วยรับมือกับการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของประเทศจากโรคระบาด

รวมถึงการพัฒนาโครงการริเริ่มใหม่เพื่อจัดการกับปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ

ปักกิ่งยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มงาน 12 ล้านตำแหน่งในเขตเมือง

นายกฯหลี่เสริมว่า กฎระเบียบของตลาดการเงินจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่การวิจัยในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) และวิทยาศาสตร์ด้านที่เกี่ยวกับชีววิทยาก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว การใช้จ่ายด้านกลาโหมจะเพิ่มขึ้น 7.2% ในปีนี้

งบประมาณด้านกลาโหมของปักกิ่งถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดโดยประเทศเพื่อนบ้านและสหรัฐฯ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับแผนของจีนในด้านความมั่นคงท่ามกลางความตึงเครียดในไต้หวันที่ยังคุกรุ่นอยู่

เศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตราที่โดดเด่นมาหลายสิบปี

ช่วงเฟื่องฟูนั้นตัวเลขทางการระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโตโดยเฉลี่ยเกือบ 10% ต่อปี

ถึงขั้น จีนสามารถแซงหน้าญี่ปุ่นจนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

และปักกิ่งประกาศว่าได้ช่วยเหลือผู้คนหลายร้อยล้านคนให้หลุดพ้นจากความยากจน

ปีที่แล้ว จีนบอกว่าเศรษฐกิจเติบโต 5.2% ซึ่งสำหรับจีนแล้วยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ

นักวิเคราะห์ตะวันตกบางสำนักไม่เชื่อตัวเลขนี้ อ้างว่าจริง ๆ อาจจะต่ำกว่านั้น

แต่ก็ไม่มีใครเข้าถึงข้อมูลทางการจีนได้มากไปกว่าการนั่งคาดเดาจากข้างนอก

แต่ว่าไม่จะเชื่อหรือไม่เชื่อตัวเลขทางการของจีน ประเทศยักษ์แห่งนี้ก็กำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่มีปัจจัยความเสี่ยงไม่น้อยเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในช่วงวิกฤต ตลาดหุ้นที่สั่นคลอน การว่างงานของเยาวชนที่สูง และภัยคุกคามต่อภาวะเงินฝืดเนื่องจากราคาผู้บริโภคยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาเฉพาะหน้าเหล่านี้มาต้นเหตุมาจากปัญหาระยะยาวไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์

ตลอดถึงอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของจีน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่ามูลค่าของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีสัดส่วนถึงประมาณ 20% ของเศรษฐกิจเลยทีเดียว

และมันไม่ใช่ปัญหาที่จำกัดแต่กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงธนาคารในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงด้วย

อาทิตย์ก่อน วิกฤตอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ถูกตอกย้ำอีกครั้งเมื่อบริษัทคันทรี การ์เดน ผู้พัฒนาเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ถูกเจ้าหนี้ยื่นคำร้องให้ระงับกิจการในฮ่องกงโดยเจ้าหนี้

เรื่องนี้เกิดขึ้นเพียงหนึ่งเดือนหลังจากที่เอเวอร์แกรนด์ คู่แข่งที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้รับคำสั่งให้เลิกกิจการโดยศาลในเมืองด้วย

สองยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์จีนโดนฟ้องเพราะขาดสภาพคล่องและขาดทุนถึงจุดอันตรายอย่างนี้ย่อมสร้างความหวั่นไหวไปทั่ว

แต่ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในโลกส่วนใหญ่ต้องต่อสู้กับราคาที่พุ่งสูงขึ้นจากการระบาดของโควิด จีนเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจหลักไม่กี่แห่งที่สามารถหลีกเลี่ยงอัตราเงินเฟ้อที่สูงได้

แต่ตอนนี้กลับต้องรับมือกับปัญหาตรงกันข้าม

นั่นคือราคาที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องที่อาจเข้าข่าย “ภาวะเงินฝืด”

เพราะราคาผู้บริโภคในจีนร่วงลงในเดือนมกราคมในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 15 ปี นับเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันที่ราคาหดตัวลงอย่างน่ากังวล

นับเป็นการลดลงที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงซบเซาจากผลกระทบของวิกฤตการเงินโลก

ภาวะเงินฝืดย่อมส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเพราะหมายความว่าผู้คนมักชะลอการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องซักผ้าหรือรถยนต์

เพราะคาดหวังว่าสินค้าเหล่านี้จะถูกลงในอนาคต

อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจที่มีหนี้สินอีกด้วย

ปัญหาก็คือราคาและรายได้อาจลดลงแต่หนี้สินไม่ลดลง สำหรับบริษัทที่รายได้ลดลง หรือครัวเรือนที่มีรายได้ลดลง การชำระหนี้จะกลายเป็นภาระหนักขึ้นอย่างแน่นอน

ทั้งหมดนี้หมายความว่าจีนยังขาดบางสิ่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง นั่นคือความเชื่อมั่น

นายกฯ หลี่ เฉียงยอมรับในการแถลงต่อที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าจีนกำลังเผชิญทั้งความท้าทาย ความเสี่ยงและโอกาสใหม่ ๆ

แต่เขาก็ยืนยันว่าสภาพการณ์ในด้านบวกยังคงมีมากกว่าด้านลบ

พร้อมยืนยันว่าจะใช้นโยบายการคลังเชิงรุก

และจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง

เป็นการส่งสัญญาณว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเศรษฐกิจในตอนนี้

หลี่ เฉียงยอมรับความจริงที่ปกติผู้นำจีนจะหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึง

เขาบอกว่า "รากฐานของการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนในระยะยาวยังคงไม่มั่นคง ความต้องการบริโภคยังไม่เพียงพอ การผลิตมากเกินไปในบางอุตสาหกรรม ความคาดหวังของสังคมยังอ่อนแอ และยังมีความเสี่ยงและอันตรายที่มองไม่เห็นอยู่มาก"

พร้อมกับเผยแผนกระตุ้นการเจริญเติบโตด้วยการออกพันธบัตรระยะยาวในช่วงหลายปีข้างหน้า เริ่มด้วย 1 ล้านล้านหยวนในปีนี้

โดยรัฐบาลจะใช้โมเดลใหม่สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการให้เงินอุดหนุนในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อบรรเทาวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนด้วย

หลี่ เฉียงกล่าวว่า "การทำตามเป้าหมาย (การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5%) นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย"

และไม่เพียงแต่การขยายตัวของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเป้าหมายอื่น ๆ เช่น การสร้างงาน 12 ล้านตำแหน่ง และการทำให้จีนเป็นประเทศที่พึ่งพาพลังงานสะอาดมากขึ้น

รัฐบาลจีนยังมีแผนกระตุ้นการจ้างงานเพื่อบรรเทาความกังวลของประชาชนว่าจะไม่มีงานทำ

โดยเฉพาะบรรดาคนหนุ่มสาวที่เพิ่งจบการศึกษา รวมถึงนโยบายประกันการว่างงานและสวัสดิการทางสังคมต่าง ๆ ตลอดจนการให้เงินกู้หรือเงินอุดหนุนแก่บริษัทที่มีการจ้างงานใหม่ เป็นต้น

ดังนั้น หากเห็นสีหน้าของสี จิ้นผิงระหว่างการประชุมสภาประชาชนปีนี้ค่อนข้างจะเคร่งเครียดก็คงจะพอเข้าใจได้ว่าปัญหาที่กำลังรุมเร้าผู้นำจีนนั้นหนักหนาสาหัสไม่น้อยเลย!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021