งบทหารของจีนปีนี้ โตแค่ 7.2% จริงหรือ?

งบประมาณกลาโหมของจีนจากคำประกาศในที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจดูเพิ่มขึ้นไม่มาก...แต่หากพิเคราะห์จากคำแถลงจากผู้นำจีน ก็จะเห็นได้ถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้างแสนยานุภาพทางทหารอย่างจริงจังทีเดียว

ตัวเลขที่รายงานโดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง บอกว่างบประมาณกลาโหมอย่างเป็นทางการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ในปีนี้

แต่ผู้เชี่ยวชาญนอกจีนที่เกาะติดเรื่องนี้เชื่อว่าตัวเลขนี้ยังอาจจะมีอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างมีนัยสำคัญ

เพราะหากพิจารณาจากการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการทหารที่แท้จริงแล้วจะต้องเชื่อว่างบทางทหารของปักกิ่งต้องสูงกว่านี้ค่อนข้างแน่นนอ

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงย้ำตลอดมาว่าจะต้องยกระดับกองทัพหรือที่เรียกชื่อทางการว่า “กองทัพปลดแอกแห่งชาติ” หรือ People’s Liberation Army (PLA) ให้เป็นกองกำลังที่มีศักยภาพมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

แต่อีกด้านหนึ่งก็น่าจะเข้าใจได้เช่นกันว่าผู้นำจีนต้องการจะหาทางลดต้นทุนการจัดซื้ออาวุธหากเป็นไปได้

เพื่อให้สอดคล้องกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่กัดกร่อนภาพรวมของรายได้และรายจ่ายของจีนจากนี้ไปอีกหลายปี

นักวิเคราะห์หลายสำนักตั้งข้อสังเกตว่าสี จิ้นผิงได้พูดถึงความจำเป็นในการเร่งการปรับปรุงระบบกลาโหมให้ทันสมัย

และตอกย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องผลักดันการปฏิรูปที่ช่วยให้เศรษฐกิจสามารถรองรับแผนการที่จะต้องสามารถยืนหยัดในสมรภูมิได้หากเกิดสงครามไม่ว่าจะในรูปไหนก็ตาม

จึงเป็นความเห็นพ้องต้องกันของนักสังเกตการณ์ว่าอย่างไรเสียกองทัพจีนก็ต้องมีงบรายจ่ายทางทหารทั้งหมดสูงกว่างบประมาณด้านกลาโหมอย่างเป็นทางการอย่างปฏิเสธไม่ได้

อีกทั้งต้องเข้าใจด้วยว่างบประมาณทางทหารในเอกสารทางการที่นำเสนอต่อสาธารณะในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นยังไม่รวมถึงงบการวิจัยและพัฒนาทางทหาร และการจัดซื้อจัดจ้างบางส่วนสำหรับกองกำลังกึ่งทหาร และหน่วยยามฝั่ง

บางสำนักถึงขั้นประเมินว่าค่าใช้จ่ายทางทหารทั้งหมดอาจจะสูงกว่างบประมาณอย่างเป็นทาง 30-35 เปอร์เซ็นต์

ยิ่งถ้าใครติดตามความเคลื่อนไหวของกองทัพจีนอย่างต่อเนื่องจะสังเกตได้ถึงการรุกคืบอย่างคึกคักของการวิจัยและพัฒนาอย่างครอบคลุมในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา

รวมถึงการผลิตระบบเชิงรุกและเชิงตั้งรับต่างๆ เช่น ขีปนาวุธ เครื่องบินรบ และเรือรบ

ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังเร่งกระบวนการกันอย่างคึกคักทีเดียว

ยิ่งหากวิเคราะห์ถ้อยแถลงของผู้นำจีนในการยืนยันความพร้อมที่จะเผชิญหน้าทางทหารกับมหาอำนาจตะวันตกหากจำเป็นด้วยแล้วก็ยิ่งจะเห็นว่าสี จิ้นผิงจะต้องเปิดไฟเขียวสำหรับการทุ่มเทด้านพัฒนากองทัพอย่างเข้มข้นค่อนข้างแน่นอนเช่นกัน

ในการกล่าวปราศรัยเมื่อปีที่แล้วต่อผู้แทนทางทหารของสภาประชาชนแห่งชาติจีน สีจิ้นผิงระบุอย่างละเอียดเกี่ยวกับแผนการสร้าง “ระบบยุทธศาสตร์และขีดความสามารถระดับชาติแบบบูรณาการ”

เท่ากับเป็นการขยายความภาคปฏิบัติของแนวคิดของสีในการกำหนดให้มีแผน “การบูรณาการระหว่างพลเรือนและการทหาร”

นั่นหมายถึงไม่เพียงแต่รวบรวมทรัพยากรเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมของทหารและพลเรือนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถเชิงกลยุทธ์เศรษฐกิจทั้งสิ้นทั้งปวงด้วย

แต่ก็ใช่ว่าจะไร้อุปสรรคเสียเลยทีเดียว

เมื่อเศรษฐกิจของจีนเกิดอาการสะดุดเพราะมีอัตราเติบโตที่ช้าที่สุดในรอบหลายปี  แผนของสี จิ้นผิงที่จะวางรากฐานทางทหารให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นก็ต้องมีการประนีประนอม

นั่นคือความจำเป็นที่ต้องลดต้นทุนการจัดซื้อจัดจ้าง

และหันไปเพิ่มแรงกดดันให้ยกระดับการผลิตของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เช่น เพิ่มการผลิตโดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุน

ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อเหล่าบรรดานักบริหารจีนทั้งในกองทัพและพลเรือนที่ต้อง “บูรณาการ” กันอย่างเป็นรูปธรรมจริง ๆ

เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในจังหวะขาลง เสียงดัง ๆ ของกองทัพก็ย่อมจะแผ่วลง

ภาษานักเศรษฐศาสตร์บอกว่า “ในยามลำบาก กองทัพไม่ว่าจะมีอำนาจทางการเมืองเพียงใดก็ไม่อาจจะเรียกร้องให้รัฐบาลเขียนเช็คเปล่าให้ได้”

เมื่อเดือนสิงหาคมสองปีก่อน กองทัพจีนเผยแพร่เอกสารที่ระบุว่าสถานการณ์ภาพรวมทำให้มี “ความจำเป็นเร่งด่วนในการเร่งการพัฒนายุทโธปกรณ์ทางทหารคุณภาพสูง ประสิทธิภาพสูง ความเร็วสูง และต้นทุนต่ำ”

สื่อตะวันตกไปค้นรายงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศที่เผยแพร่เน้นย้ำเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่แฉนโยบายให้กองทัพอากาศและหน่วยรบจรวดหรือ Rocket Force ซึ่งเป็นแขนด้านขีปนาวุธของกองทัพจีนที่ถูกเขย่าครั้งใหญ่หลังมีการพบการทุจริตในองค์กรครั้งใหญ่

มีผลให้ปลดย้ายนายพลระดับสูงกันเป็นทิวแถว

นั่นเป็นรอยด่างใหญ่สำหรับกองทัพที่มีผลทำให้สี จิ้นผิงต้องโยกย้ายบุคลากรระดับสูงหลายคนเพื่อปรามไม่ให้นายทหารหน่วยใดใช้อิทธิพบบารมีของตนเพื่อสร้างฐานของการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก

ความท้าทายจึงอยู่ที่การจะปรับกองทัพให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นตลอดเวลาเพื่อตั้งรับกับภัยที่อาจจะเกิดจากการแทรกแซงของฝ่ายสหรัฐฯต่อภูมิภาคนี้

โดยเฉพาะกรณีไต้หวัน

ซึ่งสำหรับสี จิ้นผิงแล้วคือลำดับความสำคัญอันดับต้น ๆ ของการเสริมสร้างฐานอำนาจทางการเมืองของตนให้ยั่งยืนถาวรต่อไปให้จงได้!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021