‘มาครง’แห่งฝรั่งเศสเล่นบท‘หัวหอก’ พร้อมส่งทหารช่วยยูเครนรบรัสเซีย

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส  กำลังจะแสดงตนเป็นผู้นำยุโรปที่พร้อมจะเผชิญหน้ากับรัสเซีย...ในยูเครน

ทุกประโยคที่มาครงเปรยในที่สาธารณะช่วงหลังนี้คือการส่งสัญญาณไปถึงมอสโกว่าถ้าทหารรัสเซียไม่หยุดรุกคืบในยูเครน ก็จะได้เห็นทหารจากฝรั่งเศสและหลายประเทศที่จะอาสาเข้าไปช่วยปกป้องยูเครน

วันก่อน มาครงปิดห้องคุยกับ สส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล เสนอนโยบายว่าถ้าทหารรัสเซียทะลวงผ่านแนวรบเข้ามาถึงเมืองท่าโอเดสซา หรือรุกเข้าถึงเมืองหลวงเคียฟของยูเครน ฝรั่งเศสและพันธมิตรก็คงไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องส่งทหารเข้าช่วยยูเครนสกัดรัสเซีย 

มาครงส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ในการประชุมที่ปารีสในสัปดาห์ครบสองปีของสงครามยูเครนด้วยการตอบคำถามนักข่าวว่า..."ทุกทางเลือกอยู่บนโต๊ะ"  

ความหมายคือไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปในฉากทัศน์ของสงครามในยูเครน

นักข่าวถามว่า นั่นแปลว่าอาจจะส่งทหารนาโตเข้าไปยูเครนอย่างนั้นหรือ?

มาครงตอบว่า “ทุกอย่างเป็นไปได้...ขึ้นอยู่กับสถานการณ์”

เท่านั้นแหละ หลายประเทศในนาโตรวมถึงสหรัฐฯ ต่างก็ออกมาชี้แจงว่านั่นเป็นความเห็นของมาครงเอง ไม่ใช่มติของนาโต

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เองบอกว่ายูเครนขอเพียงอาวุธและงบประมาณ ไม่ได้ขอให้ส่งทหารเข้าไปช่วยรบ

แต่บางประเทศในยุโรป เช่น เช็ก, โปแลนด์, ลัตเวีย ก็มีทีท่าว่าพร้อมจะร่วมขบวนกับฝรั่งเศสหากถึงจุดที่จำเป็นต้องคิดถึงการส่งทหารเข้าไปถึงสนามรบในยูเครน

แต่หลายประเทศก็มองว่ามาครง “ล้ำเส้น” หรือไม่ก็ “หิวแสง”

เยอรมนียืนอยู่คนละข้างกับฝรั่งเศสเรื่องนี้

จนถูกมองว่ามีความลังเลมากกว่าใครทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่ยืนหยัดต่อต้านรัสเซียเรื่องสงครามยูเครนมาตั้งแต่ต้น

เยอรมนีออกมาบอกว่าเรื่องจะส่งทหารของนาโตไปยูเครนนั้นไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดี

ถ้าฝรั่งเศสกับเยอรมนีงัดข้อกันเรื่องนี้ ก็น่าสงสัยว่าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของยุโรปมีอันต้องบุบสลายแน่นอน

แต่เห็นได้ชัดว่าฝรั่งเศสกำลังผลักดันเรื่องนี้อย่างกระตือรือร้น

รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส Stéphane Séjourné เยือนลิทัวเนียและพบรัฐมนตรีต่างประเทศในทะเลบอลติกและยูเครน เพื่อสนับสนุนแนวคิดที่ว่ากองทหารต่างชาติเข้าไปในยูเครน

อาจจะเริ่มด้วยการส่งทหารเข้าไปช่วยเก็บทุ่นระเบิด

“ไม่ใช่หน้าที่ที่รัสเซียจะบอกเราว่าเราควรช่วยยูเครนอย่างไรในอีกไม่กี่เดือนหรือหลายปีข้างหน้า”  เซเจอร์เนกล่าวในการประชุมที่มีรัฐมนตรีต่างประเทศลิทัวเนีย กาเบรียลอุส ลันด์สแบร์กิส เป็นประธาน

และมีรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ดีมีโตร คูเลบา เข้าร่วมด้วย

“ไม่ใช่หน้าที่ที่รัสเซียจะจัดวางแนวทางปฏิบัติของเรา หรือกำหนดเส้นแดง ดังนั้นเราจึงตัดสินใจในหมู่พวกเราเอง”

รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสบอกว่าปฏิบัติระบุถึงภารกิจกวาดล้างทุ่นระเบิดหลายครั้ง

แปลความหมายว่าบุคลากรที่จะส่งเข้าไปนั้นอาจจะไม่ได้ทำการต่อสู้โดยตรง แต่เข้าไปช่วยเสริมศักยภาพด้านอื่นๆ ของยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย

การประชุมรอบนี้มีขึ้นในขณะที่ยูเครนกำลังประสบปัญหาขาดแคลนกระสุนปืนใหญ่

เป็นอุปสรรคต่อการสกัดกั้นการรุกคืบของรัสเซียในสนามรบยูเครน

                    “ตอนนี้ ยูเครนไม่ได้ขอให้เราส่งทหาร แต่ยูเครนกำลังขอให้เราส่งกระสุน” รัฐมนตรีฝรั่งเศสกล่าว                    "และเราก็เปิดทางสำหรับทุกๆ มิติ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า"

รัฐมนตรีในทะเลบอลติกยกย่องฝรั่งเศสว่ามีแนวคิด "นอกกรอบ" ที่น่าชื่นชม

เดือนที่แล้วประธานาธิบดีมาครงยกเรื่องความเป็นไปได้ที่ทหารตะวันตกอาจต้องถูกส่งไปยังยูเครนในลักษณะ “โยนหินถามทาง”

หะแรก ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ รวมถึงเยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก และโปแลนด์ รีบบอกว่ายังไม่มีแผนแบบที่ฝรั่งเศสนำเสนอ

แต่ก็เห็นชัดว่าความเห็นเริ่มจะไม่ไปในทิศทางเดียวกัน

เพราะประเทศแถบบอลติกทั้งสามที่เสี่ยงกับการถูกโจมตีจากรัสเซียมากที่สุดหากมอสโกประสบความสำเร็จในสนามรบในยูเครนต่างก็บอกว่า “เปิดใจกว้างไว้” ต่อแนวคิดนี้

โปแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่รัสเซียมองว่าสนิทกับยูเครนมากที่สุดประเทศหนึ่ง ก็กำลังทำท่าว่าจะกำลังทบทวนจุดยืนเรื่องนี้เหมือนกัน

ตอนแรกก็ออกตัวว่า “การปรากฏตัวของกองกำลังนาโตในยูเครนเป็นเรื่องที่คาดคิดไม่ถึง”

นั่นคือคำกล่าวของราดอสลาฟ ซิกอร์สกี รัฐมนตรีต่างประเทศโปแลนด์

แต่ก็ไม่ลืมที่จะเสริมว่าเขาชื่นชมความคิดริเริ่มของมาครง

“เพราะความคิดนี้ตอกย้ำว่าปูตินต้องกลัวเรา ไม่ใช่พวกเราที่กลัวปูติน”

รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนที่เข้าร่วมประชุมด้วยยืนยันว่า ประเทศยุโรปต้องยอมรับความจริงที่ว่าถ้ารัสเซียยึดยูเครนได้ ประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็ไม่มีวันปลอดภัย

เขาบอกว่า “โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกเบื่อหน่ายกับ … ความกลัวของบางประเทศที่ว่าถ้าช่วยยูเครนรบมากขึ้นสงครามจะบานปลาย”

เขาย้ำว่าปัญหาของฝั่งนี้คือยังมีคนที่คิดถึงสงครามครั้งนี้ในแง่ของความกลัวว่าจะบานปลาย 

เขาประกาศว่า "คุณกลัวการบานปลายแบบไหนล่ะ? ต้องเกิดอะไรขึ้นกับยูเครนอีกเพื่อให้คุณเข้าใจว่าความกลัวเช่นนี้ไร้ผล? คุณคาดหวังให้ปูตินทำอะไร

ยูเครนต้องการจะกระตุ้นยุโรปให้ตัดสินใจกระโดดเข้าช่วยยูเครนอย่างไม่ลังเล เพราะสงครามกำลังเข้าสู่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีความเสี่ยงที่จะแพ้หรือชนะพอๆ กัน

เมื่อมาครงแห่งฝรั่งเศสประกาศตนเป็น “หัวหอก” ของการเตรียม “ลุย” เราก็กำลังเห็นสงครามยูเครนเข้าสู่มิติใหม่ที่อาจจะบานปลายอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ ในอีกไม่นานข้างหน้านี้ค่อนข้างแน่นอน!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021