อันวาร์กับการถ่วงดุล อิทธิพลจีน-สหรัฐฯ

นายกฯอันวาร์ อิบราฮิมของมาเลเซียกำลังพยายามจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกกระทบจากหลายปัจจัย ไม่ต่างกับที่อีกหลายประเทศรวมถึงไทยต้องเจออยู่

ค่าเงินริงกิตอ่อนลงถึงระดับต่ำสุดใน 26 ปี

วันก่อนอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินบาทอยู่ที่ 1 ริงกิตต่อ 7.52 บาท

นายกฯอันวาร์บอกว่ารัฐบาลมาเลเซียไม่ได้เพิกเฉยหรือละเลยค่าเงินริงกิตที่อ่อนค่าลงอย่างมาก

“แต่อย่าได้มองว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนลงเท่ากับเศรษฐกิจแย่...ยังไม่ใช่อย่างนั้น” นายกฯมาเลเซียบอก

และย้ำว่าตัวเลขเงินลงทุนยังเป็นไปตามแผนเดิม

ธนาคารกลางได้รับมอบหมายให้ติดตามริงกิตอย่างใกล้ชิด

นายกฯบอกว่ากระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสภาการลงทุนของประเทศ “ประชุมทุกวัน” เพื่อแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่

“ใช่ การที่เงินริงกิตอ่อนลงอย่างมากเป็นเรื่องน่ากังวล แต่ตัวเลขการลงทุนโดยรวมก็ยังสูงเป็นประวัติการณ์ อัตราเงินเฟ้อยังคงลดลงต่อเนื่อง อัตราการว่างงานลดลง และการเติบโตก็ยังคงที่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน”

เรามองเขา เขาก็มองเรา

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ค่าเงินมาเลเซียอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบทางการเมืองต่อนายอันวาร์

เมื่อมีคนวิเคราะห์ยกประเด็นว่าสถานการณ์จะคล้ายกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1998 หรือไม่ อันวาร์ย้อนว่า “มันคนละเรื่อง”

“ในปี 1998 ริงกิตลดลง การลงทุนลดลง และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น มันไม่เหมือนกัน” นายอันวาร์ย้ำ

แต่เขาก็ยอมรับว่ารัฐบาลต้องติดตามสถานการณ์วันต่อวัน

และต้องจับชีพจรความเคลื่อนไหวของค่าครองชีพและผลกระทบต่อปากท้องของผู้คน

ในการให้สัมภาษณ์ Financial Times อันวาร์ประณามกระแส “ความหวาดกลัวจีน” ที่พุ่งขึ้นในโลก

แต่ประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายอันเกิดจากการต้องถ่วงดุลผลประโยชน์ของตนท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างวอชิงตันและปักกิ่ง

อันวาร์ตั้งคำถามว่าทำไมมาเลเซียจึง “เลือกทะเลาะ” กับจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด

เพราะมีคนตั้งคำถามว่าอเมริกากำลังมองว่ามาเลเซียขยับเข้าใกล้จีนมากเกินไปหรือเปล่า

“ทำไมเราต้องผูกติดอยู่กับผลประโยชน์อย่างเดียว? ผมไม่ยอมรับอคติอันแรงกล้าต่อจีน ไม่ยอมรับความหวาดกลัวจีน”

สิ่งที่อันวาร์พูดสะท้อนถึงปัญหาร่วมของประเทศในอาเซียน (รวมทั้งไทยเราด้วย) ที่รวมกันแล้วมีประชากร 700 ล้านคน

และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ใกล้กับจีน

ขณะเดียวกันก็มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ เช่นกัน

ในความขัดแย้งนี้ก็มีโอกาส

อย่างน้อยมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และไทยได้พยายามใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการเมืองทั้งกับสหรัฐฯ และจีน

อยู่ที่แต่ละประเทศจะดำเนินนโยบาย “สร้างดุลถ่วงอันเหมาะควร” ระหว่างสองมหาอำนาจนี้อย่างไร

อันวาร์บอกว่ามาเลเซียยึดมั่นในจุดยืน “ความเป็นกลาง” ด้วยการ พยายามรักษา “ความสัมพันธ์อันดีที่มั่นคงกับสหรัฐฯ [ขณะเดียวกัน] มองจีนเป็นพันธมิตรที่สำคัญ”

อันวาร์เสริมว่าข้อกล่าวหาใด ๆ ที่ว่ามาเลเซียภายใต้การนำของเขาโน้มเอียงไปทางปักกิ่งอย่างที่รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ของสหรัฐฯ ได้พูดไว้ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนในกรุงจาการ์ตาเมื่อเดือนกันยายนนั้นเป็นเรื่อง “ไม่ถูกต้องและไม่ยุติธรรมอย่างร้ายแรง”

อันวาร์เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของมาเลเซียในรอบ 5 ปี

เข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายนปี 2022 หลังใช้ชีวิตการเมืองอย่างโชกโชนมายาวนาน

อันวาร์ในฐานะรองนายกฯและรัฐมนตรีคลังมีส่วนช่วยนำพามาเลเซียผ่านวิกฤตการเงินในเอเชียในปี 1997

แต่จาก “ทายาททางการเมือง” ของนายกฯมหาธีร์ โมฮัมหมัดกลายเป็นศัตรูทางการเมืองตัวฉกาจ

อันวาร์ถูกดำเนินคดีจนติดคุกอยู่หลายปี

ด้วยข้อหาคอร์รัปชันและมีพฤติกรรมรักร่วมเพศที่มีแรงจูงใจทางการเมือง

อันวาร์ได้รับอิสรภาพอีกครั้งในปี 2018 หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ

พอได้เป็นนายกรัฐมนตรี อันวาร์มีภารกิจหลักคือการพิสูจน์ว่าสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด-19

ปีที่ผ่านมา GDP ของมาเลเซียโตที่ 3.7% ลดลงอย่างมากจากอัตราโตก่อนโควิดที่ 8.7% เมื่อปี 2022

มาเลเซียเจอปัญหาคล้ายกับไทยเรื่องการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

อันวาร์ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภาคการผลิต พลังงาน และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย

มีการรับปากจากต่างประเทศว่าจะมีการลงทุนจากข้างนอกสูงเป็นประวัติการณ์

ผู้นำจีนสี จิ้นผิง รับปากจะลงทุนประมาณ 170.1 พันล้านริงกิต (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) ในมาเลเซีย หลังจากที่อันวาร์เดินทางไปปักกิ่งและการประชุมโป๋อ๋าวในไห่หนานเมื่อปีที่แล้ว

สัปดาห์ต่อมา อันวาร์ได้ปรับแผนเครือข่าย 5G ของมาเลเซียอย่างมีนัยสำคัญ

ปูทางให้ Huawei ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีนมีบทบาทเข้ามาร่วมในการสร้างระบบใหม่มากขึ้นกว่าเดิม

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของมาเลเซียใช้ประโยชน์จากบริษัทต่างๆ ที่เปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า "จีนบวกหนึ่ง"

มาเลเซียได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจที่มุ่งเน้นการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าเซมิคอนดักเตอร์

อันวาร์เน้นว่ารัฐบาลจะ "มุ่งเน้นอย่างจริงจัง" ในอันที่จะเสริมสร้างกำลังการผลิตแผ่นเวเฟอร์ส่วนหน้าอีกด้านหนึ่ง

กิจกรรมที่ว่านี้ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ปีนัง (ฐานการเมืองสำคัญของอันวาร์) ให้เป็นศูนย์กลางสำคัญของอุตสาหกรรมชิป

Micron Technology ผู้ผลิตชิปของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเดือนตุลาคมว่าจะลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 36,000 ล้านบาท) เพื่อขยายกิจกรรมบนเกาะปีนัง

ขณะที่ Intel กำลังสร้างโรงงานในต่างประเทศแห่งแรกสำหรับบรรจุภัณฑ์ชิป 3D ระดับสูงที่เกาะแห่งนี้เช่นกัน

กลุ่มชิปของจีนได้มาปรากฏตนในปีนังเช่นกัน

เป็นไปในลักษณะร่วมทุนที่ช่วยหลบหลีกภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และรักษาความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ชาวตะวันตก

xFusionซึ่งเคยมีความโยงใยกับHuawei กำลังจับมือกับผู้ให้บริการท้องถิ่น NationGateเพื่อผลิตเซิร์ฟเวอร์หน่วยประมวลผลกราฟิกในปีนัง

ในขณะที่บริษัททดสอบและบรรจุภัณฑ์ชิป TongFu Microelectronics ได้ขยายโรงงานในรัฐนี้โดยร่วมมือกับกลุ่ม AMD ของสหรัฐอเมริกา

อันวาร์บอกว่าเขาได้บอกกับรองประธานาธิบดีสหรัฐฯกมลา แฮร์ริสว่า

“เราเป็นประเทศเล็กๆ ที่กำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในโลกที่ซับซ้อน”

และหวังว่าทั้งสหรัฐฯและจีนจะเข้าใจถึงจุดยืนของอาเซียนที่เรียกร้องให้ทั้งสองยักษ์ใหญ่รับรู้ว่า

เราไม่ต้องการถูกบังคับให้เลือกข้าง

แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ก็อยู่ที่ความสามารถของแต่ละประเทศที่จะดำเนินนโยบายที่ชาญฉลาดและคล่องแคล่วพอที่จะให้ทั้งวอชิงตันและปักกิ่งเคารพใน “ความเป็นตัวของตัวเอง” ของเราด้วย!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021