เป็นอันครบสูตร...ตระกูล “ฮุน” ของกัมพูชา ที่ได้ยึดครองตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งในรัฐบาล, สภา และกองทัพเรียบร้อย
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กัมพูชาจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ถือเป็นการเปิดเวทีให้อดีตนายกฯ ฮุน เซน กลับมาสู่การเมืองอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปีที่แล้ว
หกเดือนก่อน หลังกุมบังเหียนรัฐบาลมาอย่างเหนียวแน่นและเข้มข้นเกือบ 40 ปี ฮุน เซน ก็ส่งไม้ต่อแก่ฮุน มาเนต ลูกชายคนโต
หลังการเลือกตั้งทั่วไประดับชาติเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
เป็นการหย่อนบัตรที่ไร้การแข่งขันใดๆ
แต่ฮุน เซน ก็ส่งสัญญาณชัดเจนมาตลอดว่ายังไม่ได้ทิ้งบทบาททางการเมืองไปแต่อย่างใด
ยังไงๆ ก็ยังต้องมีตำแหน่งเป็นทางการไว้ให้
จะให้เล่นการเมืองแบบอยู่เบื้องหลังนั้นไม่ใช่วิสัยของเขาผู้นี้
ฮุน เซน เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนก้าวลงจากตำแหน่งนายกฯ ว่า ก้าวต่อไปคือตำแหน่งประธานวุฒิสภา
อันเป็นตำแหน่งที่สวมบทบาทประมุขแห่งรัฐเมื่อกษัตริย์เสด็จไปต่างประเทศ
พรรคการเมือง 4 พรรค รวมถึงพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party หรือ CPP) ของรัฐบาลฮุน เซน, พรรคฟุนซินเปก และพรรคฝ่ายค้านเล็กๆ 2 พรรค เข้าร่วมแข่งขันในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาด้วย
กติกาของกัมพูชากำหนดว่า จากวุฒิสภาที่มี 62 ที่นั่งนั้น 58 ที่นั่งจะเป็นการโหวตโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 125 คน และผู้บริหารท้องถิ่นมากกว่า 11,000 คน
พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี จะทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 2 คน ในขณะที่รัฐสภาจะแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาอีก 2 คน
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่คือสมาชิกของพรรค CPP ซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งล่าสุด
จึงไม่เคยมีข้อสงสัยใดๆ ว่าฮุน เซน จะไม่ได้ตำแหน่งประธานวุฒิสภาดังที่แจ้งให้ประชาชนได้ทราบก่อนหน้านี้
การนั่งเป็นประธานวุฒิสภาคือการคงอำนาจเด็ดขาดไว้ในมือ
หนึ่ง-สามารถปกปักรักษาลูกชายในตำแหน่งนายกฯ ได้อย่างมั่นใจ และยังสามารถกำหนดทิศทางการเมืองในสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จ
แม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ คาดว่าจะใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการประเมินผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่เกือบจะไม่มีใครสงสัยเลยว่าผลจะออกมาอย่างไร
ไม่มีอะไรในกัมพูชาที่จะสร้างเซอร์ไพรส์ได้มากมายนัก
ทุกอย่างเป็นไปตามก้าวย่างที่วางเอาไว้แล้วในการส่งต่ออำนาจทางการเมือง
ก่อนหน้านี้เพียงสัปดาห์เดียว (วันที่ฮุน เซน บินมาเยี่ยมทักษิณ ชินวัตร ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า) ก็มีการโหวตกันในสภานิติบัญญัติเพื่ออนุมัติให้ฮุน มานี ลูกชายคนเล็กของฮุน เซน เป็นรองนายกรัฐมนตรี
เท่ากับว่า ขณะนี้รัฐบาลกัมพูชามีคนในตระกูลฮุนอยู่ในตำแหน่งเบอร์ 1 และ 2 ของคณะรัฐมนตรี
ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังมีญาติของฮุน เซน จำนวนหนึ่งที่มีตำแหน่งแห่งหนในรัฐบาลที่วางตัวให้เป็น “การเมืองครบวงจร” ด้วย
แถมยังมีลูกๆ หลายคนของรัฐมนตรีที่เป็นพรรคพวกกันมายาวนาน ขึ้นมารับตำแหน่งในรัฐบาลเป็นแผงพร้อมกับทายาทของฮุน เซน อีกด้วย
วันเดียวกับที่เศรษฐา ทวีสิน ได้รับการลงมติในสภาไทยให้เป็นนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต วัย 47 ลูกชายคนโตของฮุน เซน ก็ได้รับเสียงท่วมท้นในสภากัมพูชาให้ขึ้นมาเป็นนายกฯ ต่อจากพ่อเช่นกัน
ฮุน มาเนต เคยศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยสหรัฐฯ ที่เวสต์พอยต์ ก่อนที่จะกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพกัมพูชา และผู้บัญชาการทหารบก
ต่อมารัฐสภากัมพูชาก็โหวตด้วยคะแนนท่วมท้นให้ฮุน มานี น้องชายวัย 41 ปีของเขา ซึ่งเป็นลูกชายคนที่สามของฮุน เซน ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีทั้งหมด 125 คน ยกมือให้ 120 อีก 5 คนไม่ได้มาจากพรรค CPP
ฮุน มาเนต กล่าวกับฝ่ายนิติบัญญัติว่า การแต่งตั้งน้องชายของเขาสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมประสิทธิภาพเพื่อช่วยให้กัมพูชาบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2593
นายกฯ กัมพูชายืนยันว่า การที่น้องชายถูกเลือกเป็นรองนายกฯ นั้นไม่ใช่เรื่อง “เล่นเส้นสาย”
แต่เป็นเพราะความสามารถส่วนตัว
ที่มีนามสกุลเดียวกันก็เป็นเพียงเรื่องบังเอิญเท่านั้น
ฮุน มาเนต บอกด้วยว่าถึงแม้ฮุน มานี จะไม่ใช่น้องชาย เขาก็จะเสนอแต่งตั้งเป็นรองนายกฯ อยู่ดี
ตรรกะฟังดูแปลกๆ แต่สำหรับการเมืองกัมพูชาแล้ว ไม่มีอะไรแปลกเลยถ้าเป็นสิ่งที่ออกมาจากฮุน เซน
นอกจากตำแหน่งรองนายกฯ แล้ว ฮุน มานี จะควบตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพลเรือนอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
และก็ยังนั่งเป็น สส.อยู่ในสภาพร้อมๆ กันไป
ยังมีน้องชายของนายกฯ ฮุน มาเนต อีกคนหนึ่งที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้
เขาชื่อฮุน มานิต น้องชายคนกลาง อายุ 42 เป็นนายพลกองทัพระดับ 3 ดาว
ทุกวันนี้เป็นหัวหน้าแผนกข่าวกรองของกระทรวงกลาโหม
คณะรัฐมนตรีของนายกฯ ฮุน มาเนต ล้วนเป็นคนหน้าคุ้นๆ เพราะเป็นลูกๆ ของเหล่าบรรดารัฐมนตรีที่ทำงานร่วมกับฮุน เซน มายาวนาน
นับไปนับมาประมาณ 3 ใน 4 ของรัฐมนตรีชุดใหม่คือลูกที่มานั่งแทนพ่อ
คล้ายกับว่าฮุน เซน ได้ตกลงกับรัฐมนตรีคนอื่นๆ ว่าได้เวลาที่รุ่นเก่าจะถอยไปหลังฉาก และส่งลูกๆ มาทำหน้าที่ในคณะรัฐมนตรีแทน
เท่ากับเป็นการสืบอำนาจต่ออย่างราบรื่น
อำนาจก็ยังอยู่ในโครงสร้างเดิม เพียงแต่ให้รุ่นลูกขึ้นมาแทนพ่อเท่านั้น
จึงมีความเชื่อกันว่า คงจะคาดหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการเมืองของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้ลำบาก
เพราะกลุ่มผู้กุมอำนาจในกัมพูชายังต้องรักษาฐานอำนาจทางการเมือง และอิทธิพลด้านธุรกิจและด้านอื่นๆ ต่อไป
จนให้แน่ใจว่า คนกลุ่มเดิมยังจะกำกับดูแลทิศทางการเมืองของประเทศ เอาไว้อย่างเหนียวแน่นและมั่นคง...ไปอีกนานแสนนาน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ