ว่าด้วยเรื่อง อดอาหารประท้วง (Hunger Strike)
คงต้องพูดคุยกรณี "ตะวัน ทะลุวัง" ซ้ำไปซ้ำมา เพราะยิ่งนานวันเริ่มเห็นสิ่งผิดปกติหลายประการ
โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ "สมหมาย ตัวตุลานนท์" พ่อของ "ตะวัน"
ก็ไม่ทราบว่าที่ผ่านมา พ่อเห็นด้วยกับที่ลูกออกมาเคลื่อนไหว ยกเลิก ม.๑๑๒ ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์มากน้อยแค่ไหน
แม้ไม่อาจปฏิเสธความรักที่พ่อมีต่อลูกได้ แต่สิ่งที่ "สมหมาย ตัวตุลานนท์" ทำกำลังล้ำเส้น กลายเป็นการข่มขู่ศาล
ครั้งแรกที่บอกว่า...
"...หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จะดูแลลูกไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองอีก จะให้ใช้ชีวิตตามประสาวัยรุ่น และเรียนให้จบต่อไป..."
พอเข้าใจได้ครับว่า อยากได้ลูกคืนจริงๆ
และจะให้ลูกกลับไปใช้ชีวิตปกติ
เพราะที่ "ตะวัน" ทำอยู่มันไม่ปกติ
แต่หนังสือที่ "สมหมาย ตัวตุลานนท์" ยื่นถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา หลังศาลไม่ให้ประกันตัว "ตะวัน" และ "แฟรงค์ ทะลุวัง" เนื้อหาที่เขียน แทบไม่ใช่พ่อเขียนเพื่อช่วยลูก
เป็นแถลงการณ์ของกลุ่มทะลุวังเสียมากกว่า
"...ตามที่ศาลมีคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ข้าพเจ้าไม่มีคำโต้แย้งใดใด แต่อยากขอให้ศาลอาญาดูแลรับผิดชอบในชีวิตของผู้ต้องหาทั้ง ๒ ที่ท่านมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวนต่อไปด้วย
เขาทั้งสองเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาอัยการจะไม่มีคำสั่งฟ้องคดีแต่อย่างใด ดังนั้นยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย
หากทั้ง ๒ คนถึงแก่ความตายระหว่างที่อยู่การสอบสวน โดยคำสั่งของศาลอาญาขอให้ท่านโปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ดวงวิญญาณทั้ง ๒ ดวง ว่า ใครต้องรับผิดชอบการตาย จากการที่ท่านมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว และขอได้โปรดให้ท่านพิจารณาและหาทางออก..."
ข่มขู่ศาลชัดๆ
ใช่ว่าที่ผ่านมาศาลจะไม่ให้โอกาส
แต่เพราะ "ตะวัน-แฟรงก์" ทำผิดเงื่อนไขศาลซ้ำซาก
ถึงได้ประกันตัวคราวนี้ ทั้งคู่ก็จะทำผิดเงื่อนไขศาลอยู่ดี
อีกอย่างทั้ง "ตะวัน-แฟรงก์" ไม่มีทางตายระหว่างการสอบสวนหรอกครับ
การอดอาหารของทั้งคู่อยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดเวลา
เมื่อยังไม่ตาย ก็ไม่ควรดรามาเรื่องดวงวิญญาณ ๒ ดวง
ถ้าศาลต้องรับผิดชอบชีวิต ผู้ต้องขัง หรือนักโทษ ที่อดอาหารประท้วง ประเทศนี้คงไม่มีใครอยากเป็นผู้พิพากษาแล้วครับ
ต่อไปพ่อค้ายาเสพติด นักโทษคดีข่มขืนแล้วฆ่า ยันโจรห้าร้อย คงจะขู่อดอาหารประท้วงกันทั้งคุก
ฉะนั้นอย่าโยนความผิดให้ศาล
เบ้าหลอมแรกของเด็กคือครอบครัว
เคยคิดโทษตัวเองบ้างหรือเปล่าว่า ทำไมปล่อยให้ "ตะวัน" เดินมาถึงจุดนี้
หรือว่านี่คือเส้นทางที่สนับสนุนกันมาตั้งแต่แรก
มีคำถามที่อยากรู้คำตอบเหมือนกัน...
ลองคิดในมุมกลับ ทั้ง "ตะวัน-แฟรงก์" ต่างยืนยันอดอาหารประท้วงต่อไป ไม่ขอรักษาตัว ไม่ขอประกันตัวเอง ญาติไม่ต้องมาเยี่ยม
ก็แสดงว่า การได้ประกันตัวหรือไม่ ไม่มีผลต่อการอดอาหารประท้วง
เมื่อเป็นเช่นนี้ หากวันหนึ่งเกิดได้ประกันตัวขึ้นมา เพราะญาติอยากให้ออกจากคุก ทั้งคู่จะออกไปอดอาหารนอกคุกต่อหรือไม่
หากวันนั้นทั้งคู่ตาย ใครจะรับผิดชอบ
แต่ในประวัติศาสตร์โลก มีน้อยครับที่ใครจะตายเพราะอดข้าวประท้วง
การอดอาหารประท้วงเป็นวิถีทางในการต่อสู้และปฏิบัติการไร้ความรุนแรงที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในความพยายามที่จะบรรลุผลซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
การต่อสู้ด้วยสันติวิธีนี้เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกซึ่งกระทำโดย มหาตมะ คานธี ที่ใช้วิธีอดอาหารประท้วงรวม ๑๘ ครั้ง
ระยะเวลาที่คานธีอดอาหารนานที่สุด คือ ๒๑ วัน
สั้นที่สุด คือ ๑ วัน
แต่การอดอาหารประท้วงในอินเดียครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในฐานะการอดอาหารประท้วงนานที่สุดในโลก เมื่อ อิรอม ชาร์มิลา (Irom Sharmila) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหญิงอดอาหารประท้วงเพื่อต่อต้านกฎหมายความมั่นคง ซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางเข้าควบคุมพื้นที่ในบางรัฐ (The Armed Forces (Special Powers) Act, 1958 หรือ AFSPA)
และยังให้ทหารมีอำนาจเข้าตรวจค้นอาคารบ้านเรือนประชาชน รวมทั้งสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล
หนักกว่านั้นคือการให้อำนาจสังหารผู้ต้องสงสัยได้ทันทีในกรณีพบเห็นการทำความผิดเฉพาะหน้า
ชาร์มิลาเริ่มอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ ซึ่งรัฐบาลอินเดียตอบโต้ด้วยการดำเนินคดีเธอด้วยข้อหา “พยายามฆ่าตัวตายด้วยการอดอาหาร” ถึง ๑๔ ครั้ง
และบังคับให้อาหารทางสายยางเพื่อรักษาชีวิตของเธอมาเป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี
การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของชาร์มิลา ทำให้เธอได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนจากหลายองค์กร อาทิ The 2007 Gwangju Prize for Human Rights เป็นต้น
ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็น “หญิงเหล็กแห่งมานิปูร์ (Iron Lady of Manipur)” การอดอาหารของเธอได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ปี ๒๕๖๐ ที่ผ่านมานี่เอง เมื่อศาลอินเดียวินิจฉัยให้เธอได้รับการประกันตัวโดยมีเงื่อนไขให้ยุติการอดอาหารประท้วงซึ่งเป็นระยะเวลาถึง ๑๖ ปี
แต่การอดอาหารแล้วเสียชีวิตในประวัติศาสตร์โลกก็มีอยู่บ้างแต่น้อยมากๆ
เช่นการอดอาหารของนักโทษในไอร์แลนด์เหนือ เมื่อปี ๒๕๒๔ (The 1981 Irish Hunger Strike)
จุดเริ่มต้นของการประท้วงมาจากข้อเรียกร้องที่ต้องการให้อังกฤษปฏิบัติต่อพวกเขาเยี่ยงนักโทษการเมือง และยุติพฤติกรรมอันเลวร้ายที่เข้าข่ายข่มขู่คุกคาม
รัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของ มาร์กาเร็ต แท็ตเชอร์ ยืนยันว่าจะไม่ประนีประนอมกับกลุ่มนักโทษ ส่งผลให้นักโทษกลุ่มหนึ่งยกระดับการประท้วงด้วยการอดอาหาร ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า ๒ เดือน
ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บ็อบบี แซนด์ส (Bobby Sands) สมาชิกกลุ่มกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Irish Republican Army: IRA) ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษขณะถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ
ปีที่แล้ว คาเดอร์ แอดนัน (Khader Adnan) ที่เป็นทั้งโฆษกและผู้นำกลุ่มติดอาวุธญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ เสียชีวิตขณะถูกทางการอิสราเอลควบคุมตัว หลังการอดอาหารประท้วงนาน ๘๗ วัน
กรณี "ตะวัน-แฟรงก์" ยังห่างไกลจากคำว่า อดข้าวประท้วงจนตาย
เพราะสิ่งที่บอกว่า "สู้" กับสิ่งที่ "ทำ" มันสวนทางกัน
ไม่มีใครเขาปล่อยให้ตายในคุกหรอกครับ เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า ใครจะได้ประโยชน์จากการตายแบบนี้บ้าง
สักวันทั้งคู่ จะได้ประกันตัว
ก็รอดูว่าจะประกาศอดข้าวจนตายนอกคุกหรือไม่
ถ้าสู้ต่อยอมรับว่าเป็นของจริง
แต่ถ้าไม่ ก็แสดงว่าอดข้าวขู่ศาลเท่านั้นเอง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เบื้องหลังผู้ลี้ภัย
เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี
วันนี้ของ "วันนอร์"
ไม่ค่อยได้เขียนถึง "อาจารย์วันนอร์" สักเท่าไหร่ เพราะไม่มีเหตุให้ต้องวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่ฉายา “รูทีนตีนตุ๊กแก” ที่นักข่าวรัฐสภาตั้งให้ ก็ยังแอบเคืองแทน หาว่ากอดเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ แน่น
๒๕๖๘ อันธพาลการเมือง
ที่สุดแห่งปีในปีที่แล้วไม่มีใครเกิน "หมูเด้ง" เกิดมาเพื่อดังจริงๆ ไม่ใช่ดังธรรมดา แต่ดังข้ามทวีป คนรู้จักไปทั่วโลก