อินโดนีเซียกับ ‘ส้มหล่น’ จากการเผชิญหน้าของยักษ์ใหญ่

เมื่อวานเขียนถึงประเด็นอุตสาหกรรมย้ายจากจีนไปอินเดียเมื่อเกิดสถานการณ์ที่สหรัฐฯกับจีนใช้นโยบาย de-risk หรือ “ลดความเสี่ยงของกันและกัน” เพื่อเอาชนะคะคานกันในเวทีระหว่างประเทศ

อินเดียได้ “ส้มหล่น” ไปส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งไปหล่นที่อินโดนีเซีย

ความจริง ในภาพรวมแล้วสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบบการค้าพหุภาคีแบบเปิดมีประโยชน์อย่างมาก

เพราะภูมิภาคนี้สามารถบูรณาการกับทั้งโลกได้เนื่องจากนโยบายการค้าแบบเปิดและอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการค้าขายและขนส่งอย่างยิ่ง

และเมื่อมีการลดความเสี่ยงในรูปแบบของการกระจายห่วงโซ่อุปทานก็เพิ่มโอกาสของการไหลเข้าของเงินลงทุนจากข้างนอกอีกด้วย

ศูนย์การผลิตนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอยู่สวนอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย Morowali (IMIP) ในเมืองสุลาเวสี

ว่ากันว่าที่นี่เปิดไฟส่องสว่างตลอดทั้งคืน

เพราะพนักงานกว่า 40,000 คนต้องประจำไซต์งานตลอดเวลา

อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่เกือบ 4,000 เฮกตาร์หรือ 25,000 ไร่ ใช้เวลาขับรถ 45 นาทีจากปลายด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง

มีโรงไฟฟ้า พื้นที่ท่าเรือ และแม้แต่สนามบินเป็นของตัวเอง

เมื่อ 11 ปีก่อน บริเวณนี้เป็นป่าฝนหนาทึบและเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านประมาณ 3,000 คน

พอทุนจีนบุกนำโดย Tsingshan Holding Group บริษัทเหล็กกล้าไร้สนิมยักษ์ใหญ่ ก็เกิดการเปลี่ยนป่าไม้เป็นโรงงาน

บริษัท Hamid Mina เป็นผู้ส่งออกนิกเกิลจัดหาแร่ให้กับประเทศจีนอย่างแข็งขัน

บริษัทอินโดฯแห่งนี้ลงทุนร่วมกับ Tsingshan สร้างโรงงานแปรรูปนิกเกิลแห่งแรกในปี 2013

ธุรกิจยักษ์ Tsingshan ของจีนมองว่าหุ้นส่วนอินโดฯเก่งเรื่องการสร้างโรงงานและการผลิต

และแน่นอนว่าบริษัทในประเทศย่อมจะรู้เรื่องกฎระเบียบและรายละเอียดระบบราชการของอินโดฯอย่างถี่ถ้วน

ส่วนจีนมีเทคโนโลยีและทุน

แร่นิกเกิลเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเหล็กกล้าไร้สนิมมายาวนาน

และกำลังกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญมากขึ้นสำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในยานพาหนะไฟฟ้า

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศประมาณการว่าภายในปี 2040 เทคโนโลยีพลังงานสะอาดจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของความต้องการนิกเกิลทั้งหมด

อินโดนีเซียเป็นแหล่งนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นผู้ขุดแร่นิกเกิลรายใหญ่ที่สุด

เพราะสามารถสกัดได้เกือบครึ่งหนึ่งของอุปทานทั่วโลก

ในขณะเดียวกัน จีนก็มีบริษัทแบตเตอรี่และเทคโนโลยีสีเขียวรายใหญ่ที่สุดของโลกเช่นกัน

จึงเป็นการสอดประสานที่ลงตัว

IMIP รับบทถลุงและปรับแต่งนิกเกิลในปริมาณมหาศาล และมีส่วนสนับสนุนความพยายามของจีนในการกระจายแหล่งที่มาของปัจจัยการผลิตที่สำคัญซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

การเติบโตทั่วโลกของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่ไม่ได้เป็นเพียงแรงผลักดันเพียงอย่างเดียวที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของ Morowali

เรื่องของเรื่องคือคำสั่งห้ามการส่งออกสินแร่นิกเกิลของอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2020

ซึ่งถูกวิพากษ์จากสหภาพยุโรป, WTO และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

แต่คำสั่งห้ามนี้เองที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องสร้างโรงถลุงแร่ในประเทศอินโดฯ

เท่ากับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับการส่งออกโลหะและสร้างงานจำนวนไม่น้อย

ในปี 2014 การส่งออกแร่นิกเกิลของอินโดนีเซียมีมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

พอถึงปี 2565 ส่งออกผลิตภัณฑ์นิกเกิลมูลค่ากระโดดไปที่ 34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นั่นสะท้อนถึงตัวคูณมหาศาล

วันนี้ หลายบริษัทกำลังทำงานร่วมกันที่ Morowali เพื่อผลิตแร่ตัวนี้ที่บัดนี้มีสมญาว่าเป็น “ทองคำแห่งศตวรรษที่ 21” แล้ว

โดยมีการลงทุนเกือบ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 180,000-200,000 ล้านบาท

อินโดฯกำลังส่งสัญญาณว่า “เรายินดีต้อนรับทุกคน เราไม่สนใจว่า คุณจะมาจากตะวันตกหรือตะวันออก เราทำธุรกิจ ไม่มีการเมือง”

ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อก้าวขึ้นสู่ห่วงโซ่ที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น อินโดนีเซียกำลังสร้าง "ระบบนิเวศ" สำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ลิเธียมให้สมบูรณ์มากขึ้นทุกขณะ

ในปี 2022 ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกที่ประกอบในอินโดนีเซีย ซึ่งผลิตโดย Hyundai

และกำลังทำงานร่วมกับบริษัทเกาหลีใต้อีก 2 แห่งเพื่อผลิตแบตเตอรี่ EV ในอินโดนีเซีย

เมื่อปีที่แล้ว ตอนเขาเยือนออสเตรเลียมีการลงนามข้อตกลงในการทำเหมืองลิเธียมและนิกเกิลเพื่อผลิตแบตเตอรี่ EV

โดยมีการย้ำถึงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างทั้งสองประเทศในสาขานี้เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก

ขณะที่จีนมี BYD จับมือกับ Wuling ผู้ผลิต EV สัญชาติจีน สหรัฐฯก็มี Tesla ที่กำลังหารือโครงการลงทุนกับรัฐบาลอินโดนีเซียเคียงคู่กันไป

ในอนาคตอันใกล้นี้ บริษัทจีนสามารถแปรรูปนิกเกิลในอินโดนีเซีย จากนั้นจึงประกอบเป็นแบตเตอรี่ EV โดยเกาหลีใต้

และอาจรวมถึงบริษัทออสเตรเลียเพื่อผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซียโดยผู้ผลิตในอเมริกาและจีน

ในโลกที่ต้องเผชิญกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ จาการ์ตามองว่าความร่วมมือระดับโลกดังกล่าวเป็นอนาคตของการพัฒนาชาติ

เป้าหมายสำคัญคือการหลีกเลี่ยงการกระจุกตัวของห่วงโซ่อุปทาน ในมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ยุทธศาสตร์คือการพยายามกระจายห่วงโซ่อุปทานโดยไม่แสดงว่าโอนเอียงไปอยู่มหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่ง

ที่น่าสังเกตคือเทคโนโลยีของจีนในด้านการประมวลผลนิกเกิลล้ำหน้าประเทศตะวันตกจะช้ากว่า 10 ถึง 15 ปี

แต่นั่นไม่ได้แปลว่าอินโดฯจะเลือกจีนหรือสหรัฐฯเป็นหลัก

เป็นที่มาของการประกาศความร่วมมือที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

เพราะเป็นที่ยอมรับว่าไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งหรือภูมิภาคเดียวที่สามารถเติมเต็มแร่ธาตุสำคัญทั้งหมดที่เราต้องการสำหรับการปรับตัวเข้าสู่พลังงานสะอาดตามมาตรฐานโลกได้

เมื่อเร็วๆ นี้ IMF ประเมินว่าอาเซียน "จะยังคงเติบโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 1.5 เท่า

ในด้านการค้า ภูมิภาคนี้มีการเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2022 ถึงห้าเท่า

หากอาเซียนรวมตัวกันสำแดงความแข็งแกร่งให้มหาอำนาจทั้งหลายได้รับรู้ว่าจะต้องไม่ถูกบังคับให้ต้องเลือกข้าง ผลสุดท้ายทรัพยากรของอาเซียนก็จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกประเทศในโลกนี้อยู่ดี

ไม่ว่าจะเป็นค่ายไหนทั้งนั้น

ดูตัวอย่างของอินโดนีเซียแล้ว ไทยเราจะต้องทบทวนยุทธศาสตร์กันหลายตลบจึงจะวิ่งไล่ทันเพื่อนเราในอาเซียน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ