พอยักษ์ทะเลาะกัน ส้มก็มาหล่น ที่อินเดียกับอินโดนีเซีย

เมื่อสหรัฐกับจีนใช้นโยบาย de-risk คือ ‘ลดความเสี่ยงต่อกันและกัน’ ก็แปลว่า 2 ยักษ์จะลดการไปมาหาสู่กันด้านเศรษฐกิจ...คำถามที่ประเทศไทยควรถามทันทีก็คือ...ใครจะสามารถฉวยจังหวะนี้สร้างโอกาสให้กับตัวเอง

ภาพที่เห็นวันนี้คืออินเดียและอินโดนีเซียขยับได้เร็วกว่าใครในการถมช่องว่างที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที

ปีที่แล้วอินเดียมีกิจกรรมเฉลิมฉลองมากมายหลายอย่าง

เช่น Apple เปิดร้านเรือธงแห่งแรกในประเทศ และย้ายการผลิตบางส่วนจากจีนไปยังอินเดียด้วย

อีกทั้งยังมีบริษัทอื่นๆ อีกตามมาอีกเป็นพรวน

ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือ Micron Technology ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกาตกลงที่จะสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์มูลค่า 2.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 1 แสนล้านบาท) ในรัฐคุชราต

โดยไมครอนทุ่ม 825 ล้านดอลลาร์ (เกือบ 30,000 ล้านบาท) และอินเดียควักเงินทุนส่วนที่เหลือ

อีกรายหนึ่งคือ Applied Materials ในสหรัฐ ประกาศว่าจะสร้างศูนย์วิศวกรรมความร่วมมือในเบงกาลูรู ด้วยเงินลงทุน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 14,400 ล้านบาท)

บริษัทเซมิคอนดักเตอร์อีกแห่งคือ Lam Research จะเริ่มโครงการฝึกอบรมวิศวกรชาวอินเดีย 60,000 คน

Foxconn ซึ่งตั้งอยู่ในไต้หวัน เป็นผู้รับจ้างผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก จะเพิ่มจำนวนพนักงานและการลงทุนในอินเดียเป็น 2 เท่าภายในปีนี้

อินเดียกำลังจะเปล่งประกายขึ้นเมื่อทั้งสหรัฐและจีนใช้นโยบาย “ลดความเสี่ยง” (de-risk) ด้วยการลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป

นโยบายเช่นว่านี้กำลังมีผลปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ส่งผลให้เกิดการเขย่าระบบเดิมในหลายภูมิภาค

นอกจากอินเดียแล้ว อีกประเทศหนึ่งที่ดูเหมือนจะได้ “ส้มหล่น” คล้ายกันคือ อินโดนีเซีย ซึ่งมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว เพราะภาวะการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์เช่นกัน

ทั้ง 2 ประเทศใช้ยุทธศาสตร์ผสมผสานของภูมิรัฐศาสตร์กับนโยบายภายในประเทศ

จะเปรียบไปก็เหมือนเรื่อง When Titans Clash (เมื่อยักษ์ใหญ่ปะทะกัน) ที่มีผลทำให้ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอนุทวีปและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะได้รับประโยชน์อย่างไร

เพื่อไทยเราจะได้ใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อปรับนโยบายของเราให้สร้าง “โอกาสในวิกฤต” ได้เฉกกัน

ในกรณีของอินเดีย เรื่องราวของ Apple ที่ตัดสินใจไปลงทุนรอบใหม่ที่อินเดียนั้นเกิดจากการที่ประเทศนั้นสามารถปรับนโยบายที่เกี่ยวกับมีบุคลากรที่มีทักษะเหมาะสม รวมถึงระเบียบเกี่ยวกับที่ดิน สถานที่ ระบบขนส่ง

คาดการณ์ว่า Apple จะมีอัตราเติบโตของรายได้ 15% และจำนวนคนใช้เพิ่ม 20% จากการลงทุนในอินเดียในอีก 5 ปีข้างหน้า

อินเดียได้ประโยชน์จากการจ้างงานคนท้องถิ่นและการส่งผ่านเทคโนโลยี

เข้าทางนโยบายนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี ที่ประกาศการรณรงค์โครงการ "Make in India" เมื่อปี 2014

ไม่มีผู้นำรัฐบาลประเทศไหนจะเพิกเฉยกับภูมิหลังทางภูมิรัฐศาสตร์ได้อีกต่อไปหากจะบริหารประเทศให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ

อินเดียกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล และเชื่อว่านี่อาจจะเป็น Zero-Sum Game หรือ “เกมที่มีผลรวมเป็นศูนย์”

นั่นหมายความว่าอะไรที่หลุดจากจีนอาจมาเติมเต็มให้อินเดียได้...หากรู้จักบริหารความเปลี่ยนแปลงให้ทันสถานการณ์     

นโยบาย “คบกับทุกฝ่าย” ของอินเดีย (โดยไม่ต้องประกาศว่า “เป็นกลาง”) ทำให้ประเทศตะวันตกต้องมีปฏิสัมพันธ์กับอินเดีย

แต่ขณะเดียวกันโมดีก็ไม่ได้หันหลังให้กับรัสเซีย

ตรงกันข้าม อินเดียกลับนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียมากขึ้น และการค้าทวิภาคีของ 2 ประเทศนี้ก็เร่งตัวขึ้นแม้ความขัดแย้งในยูเครนยังคงดำเนินต่อไป

อีกด้านหนึ่ง อินเดียก็สานสัมพันธ์กับสหรัฐเพิ่มมิติขึ้นเช่นกัน

ความร่วมมือใหม่ระหว่างสหรัฐและอินเดียในด้านการป้องกัน การสำรวจอวกาศ และการผลิตเซมิคอนดักเตอร์มาในรูปการลงนามในข้อตกลงเมื่อปีที่แล้ว

หนึ่งในข้อตกลงความร่วมมือเปิดทางให้ขายโดรน SeaGuardian MQ-9B ที่ผลิตในอเมริกาให้อินเดีย

General Electric ของสหรัฐก็ผูกมิตรเป็นพันธมิตรกับ Hindustan Aeronautics ร่วมกันผลิตเครื่องยนต์ไอพ่นสำหรับเครื่องบินของอินเดีย

ไม่แต่เท่านั้น อินเดียยังได้ลงนามในข้อตกลงอาร์เทมิส ซึ่งถือได้ว่าเป็นพิมพ์เขียวสำหรับความร่วมมือในการสำรวจอวกาศระหว่างประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมในแผนการสำรวจดวงจันทร์ที่มีอเมริกาเป็นแกนนำ

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และองค์การวิจัยอวกาศของอินเดียก็ตกลงที่จะปฏิบัติภารกิจร่วมกันในสถานีอวกาศนานาชาติในปีนี้

ท่ามกลางภารกิจทางการทูตระหว่างประเทศ รวมทั้งในฝรั่งเศส มีการกล่าวถึงการหดตัวของอินเดียในเรื่องเสรีภาพทางศาสนาและสื่อ...แต่เป็นเพียงการเอ่ยผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้มีการพูดถึงการลงโทษด้วยการคว่ำบาตรเหมือนที่ประเทศตะวันตกทำกับชาติอื่นที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า

องค์กรสิทธิเสรีภาพนานาชาติออกรายงานต่อเนื่องว่า ภายใต้รัฐบาลของโมดี อาชญากรรมจากความเกลียดชังทางศาสนาได้เพิ่มมากขึ้น โดยมีการรุมประชาทัณฑ์ชาวมุสลิมที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายครั้ง

สหรัฐตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์กับอินเดียในระดับยุทธศาสตร์

เพราะ โจ ไบเดน เห็นความสำคัญของอินเดียจนทำเนียบขาวต้องมองข้ามเรื่องอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์

แต่ภูมิศาสตร์การเมืองก็ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่กำหนดแนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับมหาอำนาจทั้ง 2 ค่าย               

ประเทศจีนมีประชากรสูงวัย ซึ่งมากกว่าร้อยละ 30 จะมีอายุมากกว่า 60 ปี ภายในปี 2035

ในทางกลับกัน อินเดียแซงหน้าจีนเมื่อปีที่แล้วจนกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร 1.4 พันล้านคน มีอายุต่ำกว่า 30 ปี

ดังนั้นการสร้างเศรษฐกิจจึงไม่ได้เกี่ยวกับการผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น แต่ยังรวมเข้ากับศักยภาพทางการตลาดขนาดใหญ่ แรงดึงดูดมหาศาลของชนชั้นกลางที่ร่ำรวยมากขึ้น

หรือหากไม่ร่ำรวยก็ต้องมีชนชั้นกลางที่มีอำนาจในการใช้จ่ายอย่างสม่ำเสมอ

แต่ก็ใช่ว่าอินเดียจะไม่มีปัญหาของตนเอง

อินเดียมีปัญหา “คอขวด” ในหลายๆ ด้าน แต่ก็กำลังพยายามแก้ไขโดยปรับปรุงการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ

เช่น โครงข่ายทางหลวงของประเทศจะขยายออกไปพร้อมเพิ่มขีดความสามารถทางรถไฟในการขนส่งสินค้าและโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าเพื่อให้เข้าถึงไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น

แผนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการสร้างสนามบิน ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และสนามบินน้ำใหม่ประมาณ 200 แห่ง เพื่อส่งเสริมการบิน

อินเดียยังเสนอเงินอุดหนุนและอำนวยความสะดวกทางการค้าเหมือนที่หลายๆ ประเทศทำอยู่

เช่น โครงการจูงใจที่เชื่อมโยงกับการผลิตสำหรับภาคส่วนต่างๆ เช่น การผลิตโมดูลเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ขั้นสูง

รัฐคุชราตของอินเดียเจรจากับญี่ปุ่นและบริษัทสหรัฐ ขณะที่โมดีจับตาดูศูนย์กลางการผลิตชิป

แต่ใช่ว่าจะไม่มีความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านความน่าเชื่อถือของระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า ไปจนถึงประเด็นด้านลอจิสติกส์ และกฎระเบียบที่นักลงทุนต่างชาติอ้างเป็นอุปสรรคบ่อยๆ

สำหรับบริษัทที่คิดจะย้ายห่วงโซ่อุปทานจากจีนไปยังอินเดีย ปัญหาที่ต้องแก้ทันทีคือ การขาดบุคลากรที่มีทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการ

แม้ว่าอินเดียจะมีแรงงานราคาถูกไม่น้อย แต่คุณภาพของแรงงานยังอยู่ไกลจากมาตรฐานความต้องการในอีกหลายด้าน

อีกปัญหาหนึ่งคือ อินเดียยังคงมีระดับความยากจนและภาวะทุพโภชนาการในระดับสูง

เกือบ 12% ของประชากรอาศัยอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนตามมาตรฐานของธนาคารโลก

ขณะที่ในประเทศจีน อัตราความยากจนเดียวกันนั้นแทบจะเป็นศูนย์

หากพูดถึงความสามารถด้านเทคโนโลยี จีนมีผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับอินเดีย

ปักกิ่งยังทุ่มลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา และอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรม

(พรุ่งนี้ : อินโดนีเซียก็ได้ประโยชน์จากการเผชิญหน้าของยักษ์)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ