ใช่อื่นไกล
"ฮุน เซน" กับ "ทักษิณ" คู่หูดูโอในตำนาน
ฉะนั้นไม่แปลกอะไร ที่ผู้มีบารมีเหนือรัฐบาลกัมพูชา จะเดินทางมาเยือนเพื่อนเก่าถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า
ประเดิมก่อนลูกหาบในพรรคเพื่้อไทยได้เข้าพบด้วยซ้ำ
แล้วมีนัยสำคัญอะไรหรือไม่?
หากพิจารณาตามเนื้อผ้า มีเรื่องไทยต้องคุยกับกัมพูชา เพราะยังคุยกันไม่จบ คือพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Areas - OCA)
๗ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา "ฮุน มาเนต" นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ลูกชาย ฮุน เซน เดินทางมาคุยเรื่องนี้กับนายกฯ เศรษฐา
สรุปคร่าวๆ ในวันนั้นจากโฆษกรัฐบาล ชัย วัชรงค์
“.....ทั้งสองฝ่ายได้หารือและตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน มีการตกลงที่จะหารือเพิ่มเติมเพื่อแสวงหาประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรไฮโดรคาร์บอนในพื้นที่เรียกร้องที่ทับซ้อนกันระหว่างทั้งสองประเทศ....”
ก็ยังต้องคุยกันต่อ...
พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่ผูกโยงไว้ด้วย บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ที่เรียกกันว่า MOU 2544 ถือเป็นข้อตกลงชั่วคราว ที่รัฐบาลทั้ง ๒ ประเทศจะต้องมาเจรจากันเพื่อหาข้อยุติในเรื่องการปักปันเขตแดนทางทะเลที่มีปัญหาทับซ้อนกัน
จนเวลาผ่านมาถึง ๒๓ ปี ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้
เมื่อมอง "ฮุน เซน" กับ "ทักษิณ" ย้อนกลับไปปี ๒๕๔๔ จะเห็นภาพชัดเจนขึ้น
MOU นี้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๔ ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา หลัง "ทักษิณ" ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นานนัก
เมื่อเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง มีความพยายามผลักดันการเจรจาตาม MOU ๒๕๔๔
แต่ก็มีความแคลงใจจากวุฒิสภา เพราะนอกจากเรื่องผลประโยชน์แล้ว ยังมีเรื่องอธิปไตยอีกด้วย
"คำนูณ สิทธิสมาน" ยอมรับห่วงรัฐหารือพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา เพราะปัญหา ๓ ล็อก จาก MOU ๒๕๔๔ อาจเจอทางตันและไปต่อไม่ได้
พร้อมย้ำโจทย์ต้องหารือพื้นที่แบ่งประโยชน์-ทับซ้อน ให้ได้ข้อสรุปพร้อมกัน โดยไทยต้องไม่เสียอธิปไตย
"....มีหลักประกันอะไร ที่การหารือยึดโยงกับ MOU ๒๕๔๔ แล้วไทยจะไม่เสียผลประโยชน์ หรือ สิทธิอธิปไตย จึงอยากให้รัฐบาลทบทวน
การหารือร่วมกันของรัฐบาลไทย-กัมพูชา อาจไม่สามารถตกลงกันเองได้ หากแต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วย..."
ก่อนนี้ "คำนูณ สิทธิสมาน" ได้ตั้งข้อสังเกตว่าหากเจรจาไม่รอบคอบไทยอาจเสียเปรียบ
------------------------------
เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยไปลงนามอย่างเป็นทางการ “รับรู้” และ “ยอมรับ (การมีอยู่)” ของเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๕ โดยไม่มีหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงใดๆ รองรับ ทั้งยังอาจพิจารณาได้ว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทยเสียด้วยซ้ำ
เส้นที่เห็นกันชินตาในรอบ ๒๐ ปีมานี้ว่าลากผ่าน “เกาะกูด” นั่นแหละ
ทั้งนี้ โดยลากออกมาจากแผ่นดินบริเวณหลักเขตแดนไทยกัมพูชาที่ ๗๓ บริเวณบ้านหาดเล็ก ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ตรงลงทะเลมาทางทิศตะวันตกประชิดและอ้อมเกาะกูดเป็นครึ่งวงกลมตรงไปยังกึ่งกลางอ่าวไทยบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้ววกลงใต้ขนานกับแผ่นดินกัมพูชา
เป็นเส้นเขตไหล่ทวีปที่นักกฎหมายระหว่างประเทศ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ บางคน และอดีตนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่หลายคน เคยขนานนามไว้ต่างๆ นานาในรอบ ๒๐ ปีมานี้
“เส้นนอกกฎหมาย” บ้าง “เส้นตามอำเภอใจ” บ้าง "เส้นยโสโอหัง” บ้าง ไปจนถึง "เส้นอันธพาล” แม้แต่ผมเองยังเคยเขียนบทความเรียกว่า…
“เส้น (ไหล่ทวีป) วิปลาส ๒๕๑๕”
แต่วันนี้ หลังจากทบทวนข้อมูลต่าง ๆ ในรอบ ๑๒-๑๕ ปีมานี้ถึงเบื้องหลังที่มาของเส้นเขตไหล่ทวีป ๒๕๑๕ ของกัมพูชา ผมอยากจะขนานนามตรงไปตรงมาว่า…
“เส้นฮุบปิโตรเลียม“
----------------------
กระทรวงการต่างประเทศเองก็เคยให้มูลว่าการประชุมระหว่างไทยกับกัมพูชาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ท่าทีของกัมพูชา คือ ต้องการพูดคุยในประเด็นเรื่องการพัฒนาร่วมเท่านั้น
ไม่ต้องการพูดคุยในเรื่องเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา
โดยที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้เคยแจ้งกับทางกัมพูชาไปแล้วหลายครั้งว่า ไม่สามารถยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาที่ลากผ่านกลางเกาะกูด ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของไทยได้
อีกทั้งการลากเส้นผ่านกลางเกาะกูดดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย
ครับ...นั่นคือเรื่องผลประโยชน์ ระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
และอาจส่งผลไปถึงอธิปไตยของชาติ
แม้หน้าฉาก "ฮุน เซน" จะโพสต์ความรู้สึกผ่านโซเชียลว่า...
"...เดินทางมาเยี่ยมนายทักษิณที่บ้านในกรุงเทพมหานคร แม้จะยังป่วย แต่นายทักษิณได้ให้การต้อนรับอย่างดีแบบพี่น้อง โดยมี 'อุ๊งอิ๊ง' ลูกสาวคนเล็ก หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร่วมให้การต้อนรับด้วย
ทั้งนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ได้เชิญ 'อุ๊งอิ๊ง' ไปเยือนกัมพูชา ในวันที่ ๑๔-๑๕ มีนาคมนี้
ทั้งสองอดีตนายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยกัน โดยไม่มีเรื่องการเมือง มีแต่การรำลึกความทรงจำในมิตรภาพระหว่างกันตลอด ๓๒ ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี ๑๙๙๒ ขอบคุณน้องชายและหลานที่ให้การต้อนรับอย่างดี..."
แต่หลังฉาก ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการพบกันของทั้งคู่ มีอิทธิพลกับรัฐบาลทั้ง ๒ ประเทศ
เหมือนผู้นำตัวจริงกรุยทางให้!
พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเต็มไปด้วยผลประโยชน์มหาศาล มันหอมหวานล่อให้นักการเมืองตาลุกวาว
ฉะนั้นอย่าให้คลาดสายตา
๖ เดือนนับจากนี้บ้านจันทร์ส่องหล้า จะกลายเป็นศูนย์บัญชาการในเรื่องสำคัญๆ ของรัฐบาล
ที่ระบุมานี้ไม่เกินจริงเลยครับ
พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีก๊กเดียว
เพราะเมื่อครั้ง "นักโทษชายทักษิณ" ยังเร่ร่อนเป็น สัมภเวสี ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สิงคโปร์ กัมพูชา หรือแม้กระทั่งดูไบ เมื่อมีเรื่องทุกข์ร้อนใจบรรดาสมุนแต่ละก๊ก จะยกพลไปขอให้เคาะหัวถึงที่
คราวนี้ง่ายแล้วครับ ไม่ต้องไปต่างประเทศ
บ้านจันทร์ส่องหล้าอยู่แค่เอื้อม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เบื้องหลังผู้ลี้ภัย
เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี
วันนี้ของ "วันนอร์"
ไม่ค่อยได้เขียนถึง "อาจารย์วันนอร์" สักเท่าไหร่ เพราะไม่มีเหตุให้ต้องวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่ฉายา “รูทีนตีนตุ๊กแก” ที่นักข่าวรัฐสภาตั้งให้ ก็ยังแอบเคืองแทน หาว่ากอดเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ แน่น
๒๕๖๘ อันธพาลการเมือง
ที่สุดแห่งปีในปีที่แล้วไม่มีใครเกิน "หมูเด้ง" เกิดมาเพื่อดังจริงๆ ไม่ใช่ดังธรรมดา แต่ดังข้ามทวีป คนรู้จักไปทั่วโลก