หลายประเทศแจกเงินให้ประชาชนเพื่อช่วยกลุ่มคนเปราะบาง...แต่ไม่ได้กู้มาแจก และไม่ต้องทำดิจิทัลวอลเล็ตให้ยุ่งยาก
และประเทศอื่นที่แจกเงินช่วยเหลือประชาชนก็ขึ้นภาษี VAT พร้อมกับการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อสร้างความน่าลงทุนในประเทศไปพร้อมๆ กัน
สิงคโปร์และมาเลเซียส่งเงินสดไปยังครัวเรือนโดยตรงเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพในขณะที่ข้าวของแพงขึ้น
แต่ก็มีคำถามตามมาว่า มาตรการ helicopter money อย่างนี้มีประสิทธิภาพแท้จริงอย่างไร
และเป็นภาระด้านนโยบายการคลังที่มีปัญหาอยู่แล้วเพียงใดหรือไม่
รัฐบาลสิงคโปร์เสนองบประมาณปี 2024 ของสิงคโปร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรวมบัตรกำนัลช็อปปิ้งมูลค่า 600 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 16,000 บาท) สำหรับแต่ละครัวเรือน
โดยแบ่งแจกเป็นสองรอบในเดือนมิถุนายนและมกราคมหน้า
ปีนี้แจกมากกว่าปีก่อนที่เป็นบัตรกำนัลมูลค่า SG$500 (ประมาณ 13,000 บาท)
รองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง Lawrence Wong เน้นย้ำถึงความกังวลของรัฐบาลเกี่ยวกับค่าครองชีพของชาวบ้านที่สูงขึ้นในการเสนอร่างกฎหมายงบประมาณ “ในงบประมาณปีใหม่นี้ ผมจะให้การสนับสนุนครัวเรือนต่างๆ ให้มากขึ้น” เขากล่าว
รัฐบาลสิงคโปร์ย้ำว่าการแจกเงินเป็นเรื่องประชาสงเคราะห์
ไม่ได้ย้ำว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้จีดีพีโตขึ้น
ที่มาของนโยบายนี้คือเสียงเรียกร้องของประชาชนว่าค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างมาก
การสำรวจของทางการชี้ว่าราคาของศูนย์อาหารยอดนิยมในสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 15% ระหว่างปี 2019 ถึง 2023
ตามข้อมูลของกรมสถิติของสิงคโปร์ ผลสำรวจชิ้นหนึ่งเผยราคาข้าวมันไก่จานหนึ่งพุ่งขึ้นประมาณ 20% ในเวลาสองปี
ขณะเดียวกัน มาเลเซียก็กำลังเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเป็น 10 พันล้านริงกิต 75,600 ล้านบาท) ในปีนี้
เพิ่มจาก 8 พันล้านริงกิตในปี 2566
ฟิลิปปินส์จะมอบเงิน 5,000 เปโซ (ประมาณ 3,200 บาท) ให้กับครัวเรือนที่มีรายได้ 23,000 เปโซต่อเดือนหรือน้อยกว่านั้น
ในอินโดนีเซีย รัฐบาลของประธานาธิบดีโจโก "โจโกวี" วิโดโด เมื่อเดือนมกราคมได้ประกาศแจกเงินสดเดือนละ 200,000 รูเปียห์ (468 บาท) สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
เป็นคำประกาศก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ไม่นานนัก
แต่รัฐบาลสิงคโปร์และมาเลเซียไม่ได้แค่แจกเงินกลุ่มคนเปราะบาง แต่ขณะเดียวกันก็ขึ้นภาษีเพื่อเพิ่มรายได้เข้ารัฐด้วย
สิงคโปร์จะขึ้นภาษีสินค้าและบริการเป็น 9% จาก 8% ในเดือนมกราคม
มาเลเซียเตรียมขึ้นภาษีบริการเป็น 8% จาก 6% ในปีนี้
สิงคโปร์ยังจะปรับตัวให้สอดคล้องกับกรอบการทำงานระหว่างประเทศในการปฏิรูปกฎเกณฑ์ที่มุ่งแก้ไขปัญหาการเก็บภาษีที่ไม่สอดคล้องกันในประเทศต่างๆ ด้วย
การปฏิรูปที่ว่านี้ออกแบบมาเพื่อให้แน่ใจว่าจะเป็นแรงจูงใจให้กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ให้มาลงทุนและเปิดศูนย์ปฏิบัติการที่เกาะแห่งนี้
ในเวลาเดียวกัน สิงคโปร์ก็กำลังออกมาตรการบรรเทาทุกข์สำหรับบริษัทต่างๆ โดยมีส่วนลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ซึ่งจำกัดไว้ที่ 40,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับปีการประเมินปี 2024
นอกจากนี้ ยังได้ประกาศโครงการ "เครดิตการลงทุนที่สามารถขอคืนได้" ซึ่งจะมอบเครดิตให้กับบริษัทต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ชดเชยภาษีเงินได้นิติบุคคลบางส่วนได้
บริษัทต่างๆ สามารถใช้สิทธิผ่อนปรนด้านภาษีนี้ได้ถ้าเข้ามาทำโครงการในสิงคโปร์ เช่น การลงทุนในโรงงานผลิตใหม่ การจัดตั้งกิจกรรมสำนักงานใหญ่ และดำเนินการวิจัยและพัฒนาบนเกาะแห่งนี้
นอกจากเรื่องปฏิรูปด้านภาษีแล้ว สิงคโปร์ที่ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วก็จะลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อเสริมสร้างความสามารถและการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้าน AI เป็นการเฉพาะ
“การลงทุนส่วนหนึ่งจะถูกใช้เพื่อให้แน่ใจว่าสิงคโปร์สามารถเข้าถึงชิปขั้นสูงซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและการใช้งาน AI” รัฐมนตรีหว่องกล่าว และเน้นว่า
"เรายังจะทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำในสิงคโปร์และทั่วโลกเพื่อจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้าน AI ของพวกเขาที่นี่"
ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจของสิงคโปร์ต้องต่อสู้กับการเติบโตทั่วโลกที่ซบเซา
อาทิตย์ที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ปรับตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2566 เป็น 1.1% ในปีนี้
ลดลงจากประมาณการเบื้องต้นที่ 1.2%
และต่ำกว่าอัตรา 3.8% ที่บันทึกไว้ในปี 2565
การส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมันในประเทศของสิงคโปร์ลดลง 1.5% ในเดือนธันวาคม โดยได้รับแรงหนุนจากการขนส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ตกต่ำและความอ่อนแอในภาคส่วนเภสัชกรรม
โดยรวมแล้ว การส่งออกไปยังตลาด 10 อันดับแรกของเมืองลดลง โดยไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มีส่วนทำให้ลดลง
แต่สิงคโปร์ยังคงยึดการคาดการณ์ว่าการเติบโตในปี 2567 น่าจะอยู่ระหว่าง 1% ถึง 3% โดยคาดว่าจะฟื้นตัวในเซมิคอนดักเตอร์และการส่งออกอื่นๆ
“การเติบโตของ GDP ของจีนคาดว่าจะยังคงไม่สดใสในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่ซบเซาและการเติบโตของการส่งออก ควบคู่ไปกับสภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอ” กระทรวงการค้าของสิงคโปร์รายงานในสัปดาห์ที่ผ่านมา
"การเติบโตมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและอุปสงค์ทั่วโลกที่ดีขึ้น"
สรุปว่าสิงคโปร์และมาเลเซียแจกเงินให้ประชาชนในกลุ่มเปราะบางโดยไม่ใช้เงินกู้
และมีความกล้าหาญพอที่จะขึ้นภาษีเพื่อชดเชยรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่แผนของรัฐบาลไทยคือการแจกเพื่อกระตุ้นการบริโภค และเน้นว่าไม่ใช่การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
อีกทั้งยังไม่มีแผนใดๆ ที่จะขึ้นภาษีวีเอทีหรือธุรกิจมีกำไรสูง
และยังมองไม่เห็นมาตรการอื่นๆ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจนอกจากนโยบายแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่เป็น “เรือธง” ที่กำลังเกยตื้นอยู่ขณะนี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ