ทรัมป์ยินดีให้รัสเซียทำอะไรก็ได้กับชาติสมาชิกนาโตที่ไม่ยอมตั้งงบกลาโหมตามข้อตกลง ทำให้นาโตปั่นป่วน แต่อาจเป็นแค่การหาเสียงกับคนอเมริกันเท่านั้น
บนเวทีปราศรัยหาเสียง อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า ตนยินดีให้รัสเซียทำอะไรก็ได้กับชาติสมาชิกนาโตที่ไม่ยอมตั้งงบกลาโหมตามข้อตกลงนาโต รวมถึงเข้ารุกรานทำสงคราม และสหรัฐจะไม่ปกป้องประเทศนั้น พวกที่ตั้งงบกลาโหมต่ำเอารัดเอาเปรียบสหรัฐ
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน คู่แข่งทางการเมืองกล่าวทันทีว่าทรัมป์ไฟเขียวให้ปูตินก่อสงครามอีก อาจรุกรานโปแลนด์กับประเทศในแถบบอลติก (เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย) การที่ทรัมป์สนับสนุนให้รัสเซียโจมตีชาตินาโตเป็นเรื่องที่ “โง่เขลา น่าละอายและไม่ใช่ความคิดอย่างอเมริกัน” ("dumb", "shameful" and "un-American") ตราบใดที่ตนเป็นประธานาธิบดีจะขอปกป้องสมาชิกนาโตอย่างถึงที่สุด
ภาพ: อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
เครดิตภาพ: https://www.facebook.com/DonaldTrump/photos/pb.100044274887410.-2207520000/10165490156655725/?type=3
วิพากษ์เหตุผลของทรัมป์:
ทรัมป์จะไม่ปกป้องสมาชิกนาโตเพราะประเทศนั้นไม่ตั้งงบกลาโหมอย่างน้อย 2% ของจีดีพีตามข้อตกลงนาโต เป็นการเอารัดเอาเปรียบสหรัฐที่แต่ละปีต้องใช้จ่ายด้านกลาโหมมหาศาล แต่เหตุผลของทรัมป์ฟังไม่ขึ้น เพราะการปกป้องสมาชิกเป็นไปตามสนธิสัญญา ไม่ขึ้นกับการตั้งงบประมาณของแต่ละประเทศ อีกทั้งข้อตกลงที่ว่าให้ปฏิบัติตามความสมัครใจ กลายเป็นว่าทรัมป์ตั้งกฎใหม่ของตัวเอง ล้มล้างสนธิสัญญา ไม่สนใจว่าชาติสมาชิกอื่นๆ คิดเห็นอย่างไร
หลังท่าทีของทรัมป์ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการนาโต รีบออกมาย้ำว่านาโตพร้อมปกป้องทุกประเทศที่เป็นสมาชิก (ไม่เกี่ยวข้องกับงบกลาโหมของแต่ละประเทศ) คำพูดใดๆ ที่บอกว่าพันธมิตรจะไม่ปกป้องพวกเดียวกันทำให้ทั้งทหารอเมริกันกับยุโรปเสี่ยงอันตรายมากขึ้น ตนหวังว่าไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะยังยึดมั่นความเป็นพันธมิตรนาโตอย่างเข้มแข็ง
อันที่จริงแล้วหากนาโตยุโรปโดนโจมตี สหรัฐจะไม่ส่งกองทัพเข้าปกป้องก็ได้ เพราะนาโตไม่สามารถสั่งรัฐบาลสหรัฐแม้มีสนธิสัญญา นาโตจึงสั่นคลอนเพราะท่าทีของทรัมป์
ในมุมมองที่กว้างขึ้น แต่ไหนแต่ไรชาติพันธมิตรที่มีข้อตกลงความมั่นคงกับสหรัฐต่างสงสัยอยู่เสมอว่า รัฐบาลสหรัฐจะยึดมั่นข้อตกลงหรือไม่ จะช่วยรบหรือไม่หากทำสงครามกับมหาอำนาจ ไต้หวัน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างกังวลเช่นกัน
ท่าทีของทรัมป์ตอกย้ำความไม่น่าเชื่อของรัฐบาลสหรัฐที่อาจเอาตัวรอดโดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา ไม่สนใจข้อตกลงสนธิสัญญาใดๆ
ผลประโยชน์ที่สหรัฐได้:
หากสมาชิกตั้งงบประมาณ 2% ของจีดีพี ผลประโยชน์จากการขายอาวุธมักถูกเอ่ยถึงเป็นลำดับแรก แม้ยุโรปตะวันตกผลิตอาวุธใช้เองไม่น้อย แต่อาวุธชิ้นใหญ่มักใช้ของสหรัฐ ดังนั้นการเพิ่มงบกลาโหม สร้างกองทัพให้เข้มแข็งคือซื้อใช้ของสหรัฐมากขึ้นนั่นเอง
เหตุผลที่ลึกซึ้งกว่าคือการควบคุมประเทศอื่นด้วยอาวุธ
การขายอาวุธเครื่องกระสุนมีความสำคัญไม่เพียงด้านการทหาร ยังสัมพันธ์กับการสร้างขั้วกระชับอำนาจในขั้วของตน อาวุธที่ซื้อใช้จากสหรัฐหากขาดกระสุน อะไหล่บำรุง จะกลายเป็นแค่เศษเหล็ก ยิ่งอียูใช้อาวุธสหรัฐมากเพียงไรเท่ากับว่าการป้องกันประเทศอยู่ใต้อำนาจควบคุมของสหรัฐมากขึ้นเท่านั้น
ชาติสมาชิกนาโตที่ทรัมป์เอ่ยถึงส่วนใหญ่คือประเทศในยุโรปตะวันตก กลุ่มประเทศเจริญมั่นคงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ หากยุโรปตะวันตกยังต้องก้มหัวให้สหรัฐ หลายประเทศทั่วโลกมิอาจไม่ทำตาม เป็นการกระชับอำนาจที่รัฐบาลสหรัฐทุกชุดกระทำเรื่อยมา
ทำไมนาโตยุโรปไม่ตั้งงบกลาโหมให้สูง:
คำถามน่าคิดคือ หลายคนชี้ว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามร้ายแรง หากชนะศึกยูเครนจะบุกยึดประเทศอื่นๆ ในยุโรป ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงทำไมสมาชิกนาโตยุโรปไม่ตั้งงบประมาณกลาโหมให้สูง ดังที่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ไม่ถึง 2% ตามเกณฑ์ขั้นต่ำของนาโต
หรือว่าแท้จริงแล้วรัสเซียไม่ได้คุกคามยุโรปจริง เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของบางประเทศ ส่วนยูเครนเป็นกรณียกเว้นที่รัฐบาลปูตินประกาศล่วงหน้าหลายปีแล้วว่ายูเครนเป็นเส้นต้องห้าม ยูเครนต้องไม่เข้าร่วมนาโต รัสเซียไม่คิดบุกยึดครองยุโรปแต่อย่างใด
กระตุ้นให้ยุโรปถอยห่างจากสหรัฐ:
นานแล้วที่ยุโรปตะวันตกหรืออียูมีแนวคิดป้องกันตัวเองโดยไม่พึ่งพาสหรัฐ คิดมีกองทัพของตนเอง
พฤศจิกายน 2018 ประธานาธิบดีมาครงกล่าวว่า ยุโรปต้องมีกองทัพที่เป็นของยุโรปจริงๆ เพื่อปกป้องภัยจากรัสเซีย จีน และแม้กระทั่งสหรัฐ ผู้นำฝรั่งเศสเสนอจัดตั้งกองทัพยุโรป ลดพึ่งพาความมั่นคงทางทหารจากสหรัฐ เป็น “กองทัพยุโรปจริงๆ” เราต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองและประกันความมั่นคงด้วยตัวเอง ปกป้องอธิปไตยยุโรป
ในช่วงเวลาเดียวกัน อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในขณะนั้นเอ่ยถึงการรวมทัพสหภาพยุโรป ชี้ว่าไม่ใช่เพื่อบั่นทอนแต่เพื่อสนับสนุนนาโต หมดสมัยแล้วที่จะพึ่งพาคนอื่น คนยุโรปต้องดูแลอนาคตด้วยมือของตัวเอง “มีวิสัยทัศน์ว่าวันหนึ่งต้องสร้างกองทัพของยุโรปแท้ๆ”
ในกรณีล่าสุด รัฐบาลโปแลนด์ ฝรั่งเศสและเยอรมนี ประกาศอียูจะกระชับความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ตอกย้ำแนวคิดยุโรปมีกองทัพของตัวเอง
ในด้านเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ วันที่สหรัฐไม่ปกป้องอียู สิ่งแรกที่อียูน่าจะทำคือขอเป็นมิตรกับรัสเซีย เท่ากับว่าอียูดำเนินนโยบายขัดแย้งยุทธศาสตร์แม่บทสหรัฐที่ต้องการกำราบรัสเซีย ด้วยแนวทางนี้อียูจะไม่สนับสนุนให้รัฐบาลเซเลนสกีทำสงครามกับรัสเซียอีกต่อไป กลับมาติดต่อค้าขายกับรัสเซียตามเดิม นำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงรัสเซีย สหรัฐจะเสียหายหนัก สูญเสียอิทธิพลในยุโรป ต้องเผชิญหน้ารัสเซียที่กล้าแข็งขึ้นแน่นอน
หากรัฐบาลสหรัฐละทิ้งนาโตจึงเป็นข้อผิดพลาดใหญ่ นี่คือประเด็นสำคัญที่ทรัมป์ไม่พูดในเวทีหาเสียง
ทรัมป์จะไม่ทิ้งนาโต:
หลายทศวรรษแล้วที่นาโตคือพันธมิตรทางทหารที่แข็งแกร่งที่สุดของสหรัฐ สมาชิกมีบทบาทร่วมกับสหรัฐในด้านเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศมากมาย หากสหรัฐทิ้งอียูเท่ากับโดดเดี่ยวตัวเอง คำพูดทรัมป์ไม่กี่ประโยคทำให้นาโตปั่นป่วน ชาติสมาชิกหลายประเทศออกมาตอบโต้ ฝ่ายโลกเสรีตะวันตกแตกแยก พันธมิตรตั้งข้อสงสัยว่ารัฐบาลสหรัฐโดยเฉพาะภายใต้คนอย่างทรัมป์จะปกป้องพวกเขาจริงหรือไม่ ตอกย้ำข้อสงสัยที่มีอยู่แล้วให้หนักข้อขึ้นอีก
รวมความแล้วหากคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล การถอนตัวจากนาโตมีผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นเชื่อว่าทรัมป์จะไม่ทิ้งนาโต คำพูดของทรัมป์อาจเป็นแค่การหาเสียงดังที่ Antonio Tajani รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีกล่าวว่า คำพูดของทรัมป์เป็นแค่ “มุกตลกของการหาเสียงเท่านั้น” (electoral campaign joke) แต่ทรัมป์มีสิทธิพูดเช่นนั้นเพราะเป็นข้อตกลง
คำพูดของรัฐมนตรี Tajani อธิบายอีกมุมหนึ่งว่า แท้จริงแล้วทรัมป์ไม่หวังให้นาโตแตกจริง เป็นแค่การหาเสียงกับคนอเมริกันเท่านั้นเอง อันที่จริงแล้วเป็นมุกเก่าซ้ำเดิม ทรัมป์เคยใช้มาแล้วตั้งแต่เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก เคยขู่ว่าจะทิ้งหรือล้มนาโต สุดท้ายสหรัฐยังต้องการนาโต ต้องการพันธมิตรยุโรป ดูเหมือนว่าทุกคนเล่นตามเกมอย่างรู้หน้าที่ รู้บทบาทตัวเอง
ปลายปีนี้สหรัฐจะเลือกตั้งผู้นำประเทศอีกครั้ง ทรัมป์มีโอกาสเป็นผู้สมัครในนามพรรครีพับลิกัน กลุ่มประเทศอียูเริ่มหารือรับมือหากทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย หลายคนกังวลว่าทรัมป์จะทำให้นาโตปั่นป่วนเช่นเคย น่าติดตามว่าหากเป็นเช่นนั้นจะมีผลต่อสถานการณ์โลกอย่างไร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านกับสหรัฐ2025 (2)
จุดยืนร่วมจีน รัสเซีย และอิหร่าน 2025 บ่งบอกว่าจีนกับรัสเซียทนไม่ได้ที่รัฐบาลสหรัฐเล่นงานอิหร่านด้วยโครงการนิวเคลียร์อีกแล้ว
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านกับสหรัฐ 2025 (1)
การเจรจารอบปี 2025 คือการเริ่มเล่นงานอิหร่านอีกครั้ง อาจต่างกันที่รายละเอียดวิธีการตามบริบทล่าสุด เป้าหมายสุดท้ายคือล้มระบอบอิหร่าน
แนวคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2023 (3)
รัสเซียหวังระบบโลกหลายแกนนำที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น อันจะส่งเสริมความมั่นคงของตน แต่เท่ากับขัดขวางฝ่ายตรงข้าม
เจ้าพ่อทรัมป์ (Trump the Godfather)
ทรัมป์ไม่ได้ทำงานคนเดียว ต้องรวมสมาชิกรัฐสภารีพับลิกัน รวมทั้งคนอเมริกันหลายล้านคนที่สนับสนุนอย่างแข็งขัน เป็นพวกอำนาจนิยม
แนวคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2023 (2)
Russian Foreign Policy Concept 2023 สะท้อนมุมมองสถานการณ์โลก โดยเฉพาะส่วนที่รัสเซียกำลังเผชิญ วิสัยทัศน์อนาคตโลก
แนวคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2023 (1)
Russian Foreign Policy Concept 2023 มีรายละเอียดมาก ช่วยให้เข้าใจนโยบายต่างประเทศรัสเซียได้เป็นอย่างดี