เลือกตั้งอินโดฯ 14 กุมภาฯนี้สำคัญอย่างไร?

อีกสองวันจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย...เป็นเรื่องที่ทั้งโลกสนใจเพราะความสำคัญของประเทศนี้

คนอินโดฯเลือกผู้นำและตัวแทนประชาชนเข้าสภาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ถือเป็นการกำหนดทิศทางของประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสี่ของโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า

ผู้ชนะจะเข้ามารับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดี โจโค "โจโควี" วิโดโด 

เพราะโจโควีไม่สามารถลงสมัครสมัยที่ 3 และจะก้าวลงจากตำแหน่งในเดือนตุลาคมนี้หลังนั่งเก้าอี้สูงสุดมา10 ปี 

คนอินโดฯกว่า 204.8 ล้านคนมีสิทธิ์หย่อนบัตรในการลงคะแนนเสียงโดยตรงของประธานาธิบดีที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

นับเป็นการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบครั้งที่ 5 นับตั้งแต่เริ่มปฏิรูปการเมือง พลิกจากเผด็จการทหารมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงเต็มที่เริ่มตั้งแต่ปี 1998

เพื่อการติดตามข่าวคราวเรื่องนี้ให้ทันสถานการณ์ เราควรจะรู้ว่าใครคือตัวเต็งที่จะมาแทนโจโควี

ตัวเต็งหลักน่าจะเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ปราโบโว ซูเบียนโต วัย 72 ปี 

เขาคนนี้คืออดีตนายพลที่ควบคุมกำกับหน่วยบัญชาการพิเศษของกองทัพ 

ที่สำคัญไม่น้อยกว่าตำแหน่งทางการคือความเป็นอดีตลูกเขยของประธานาธิบดีซูฮาร์โต อินโดนีเซียผู้ล่วงลับ 

เขาเคยลงแข่งมาแล้ว 2 ครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

จนครั้งนี้พยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเองเป็น “คุณปู่ที่น่ากอด”

นั่นคือการละทิ้งบุคลิกนักรบที่แข็งกร้าวอย่างที่เคยพบเคยเห็น

หลังจากพ่ายแพ้ให้กับโจโควีในการเลือกตั้งปี 2014 และ 2019

คู่แข็งที่สำคัญคือกันจาร์ ปราโบโว วัย 55 ปี อดีตผู้ว่าการจังหวัดชวากลาง 

และนักการเมืองอาวุโสของพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซียแห่งการต่อสู้ (PDI-P) ซึ่งมีโจโกวีสังกัดอยู่ 

กันจาร์มีอะไรคล้ายกับปราโบโวเพราะมีความโน้มเอียงที่จะยอมรับนโยบายส่วนใหญ่ของโจโควีถ้าได้รับเลือก 

แต่ผู้สนับสนุนโจโควีจำนวนไม่น้อยพลิกกลับมาเชียร์ปราโบโว หลังจากที่เขาประกาศให้จิบราน ราคาบูมิง ลูกชายของโจโควีเป็นเพื่อนร่วมทีมงานเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ผู้สมัครอีกคนคือ อานีส บาสเวดาน วัย 54 ปีอดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา 

เขาเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยและนักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง อานีสเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลโจโควีตอนต้น ๆ

แต่หลังจากถูกปรับออกในการปรับคณะรัฐมนตรี เขาก็กระโดดเข้าร่วมกับฝ่ายค้าน 

อานีสวางตัวเองเป็น “ทางเลือก” แทนปราโบโวและกันจาร์

และพยายามเอาตัวออกห่างจากแนวนโยบายของโจโควี

การสำรวจความคิดเห็นที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยผู้สำรวจความคิดเห็นในท้องถิ่น LSI Denny JA ชี้ว่าปราโบโวกำลังนำในสัดส่วน 50.7% 

ในขณะที่อานีสและกันจาร์ตามหลังด้วยคะแนนคนละ 20% สูสีกัน

ถามว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญแค่ไหนสำหรับอินโดนีเซียก็ต้องบอกว่าใครได้เป็นผู้นำต่อจากโจโควีจะเป็นผู้กำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การเติบโตของเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อินโดนีเซียมีปริมาณสำรองนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลก

โจโควีมีนโยบายแปรรูปนิกเกิลในประเทศแทนที่จะส่งออกแร่นิกเกิล เพราะความต้องการโลหะที่ไม่ใช่เหล็กเพิ่มมากขึ้น 

แม้ว่าปราโบโวและกันจาร์จะถูกมองว่ามีแนวโน้มที่จะเดินหน้าสืบสานนโยบายนี้ต่อ แต่อานีสก็มีแนวโน้มจะ “ทบทวน” นโยบายนี้หากชนะเลือกตั้ง

อีกประเด็นที่สำคัญคือผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากโจโควีจะทำอย่างไรกับโครงการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียซึ่งเป็นผลงานสำคัญของโจโควี

อานีเอสวิพากษ์ว่าอินโดนีเซียมี "ความต้องการเร่งด่วน" เรื่องอื่นมากกว่าการ “จัดหาบ้านใหม่” สำหรับประธานาธิบดี 

อินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะก้าวไปสู่สถานะที่มีรายได้สูงและกลายเป็นหนึ่งในห้าประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกภายในวันครบรอบ 100 ปีแห่งการประกาศเอกราชในปี 2045 หรืออีก 21 ปีข้างหน้า

การจะบรรลุเป้าหมายนั้น เศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะต้องเติบโต 6% ถึง 7% ต่อปีเทียบกับอัตราปัจจุบัน ประมาณ 5% 

ดังนั้นนโยบายของประธานาธิบดีคนต่อไปใช้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

มีคำถามด้วยว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอินโดนีเซียคาดหวังอะไรจากประธานาธิบดีคนต่อไป?

โพลที่จัดทำเมื่อเดือนกันยายนโดย IndikatorPolitik Indonesia พบว่า 31% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าการควบคุมราคาสิ่งของจำเป็นขั้นพื้นฐานเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดสำหรับประธานาธิบดีคนต่อไป

ส่วนการสร้างงานและลดการว่างงานเป็นปัญหาที่ถูกอ้างถึงมากเป็นอันดับสอง 

ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่มีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคงของงาน

ข้อมูลของรัฐบาลระบุว่าอัตราการว่างงานของประเทศลดลงเหลือ 5.3% ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้วจากจุดสูงสุดล่าสุดในปี 2020 

แต่การว่างงานในกลุ่มคนงานอายุน้อยค่อนข้างสูง 

อยู่ที่ 17% สำหรับผู้ที่มีอายุ 20 ถึง 24 ปีในปี 2022

อีกประเด็นที่ต้องวิเคราะห์คือผลการเลือกตั้งของอินโดฯจะส่งผลกระทบต่อประชาคมระหว่างประเทศอย่างไร?

นักวิเคราะห์ด้านยุทธศาสตร์และการต่างประเทศเชื่อว่าผลการเลือกตั้งจะเป็น "เกี่ยวกับอนาคตของประชาธิปไตยและวัฒนธรรมทางการเมืองในอินโดนีเซีย" 

รวมถึงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกอีกด้วย

ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือการเลือกตั้งครั้งนี้จะกำหนดบทบาทความเป็นผู้นำของอินโดนีเซียในเวทีระหว่างประเทศด้วย 

สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสถือเป็นประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดของประเทศนี้

ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากต่อต้านสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการรุกรานของอิสราเอล 

ผู้สมัครทั้งสามคนมีจุดยืนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ 

ปราโบโวประกาศชัดเจนว่าจะส่งเสริมเอกราชของชาวปาเลสไตน์ รวมถึงการเปิดสถานทูตในดินแดนปาเลสไตน์หากได้รับเลือก

หากมองในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ก็ยังมีประเด็นด้านความสัมพันธ์ของอินโดฯหลังการเลือกตั้งต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและจีนอย่างไร 

สำหรับประเทศไทย ผลการเลือกตั้งอินโดฯจะมีผลต่อบทบาทของอินโดฯในอาเซียนและความสัมพันธ์ทวีภาคีกับเราด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้

คนไทยจึงต้องเกาะติดผลการเลือกตั้ง “อิเหนา” ครั้งนี้อย่างใกล้ชิดทุกย่างก้าวกันเลยทีเดียว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021