บันทึกหน้า 4

ไทยโพสต์ "อิสรภาพแห่งความคิด" www.thaipost.net พลพรรคเพื่อไทยปากแจ๋วทั้งหลายพากันเงียบฉี่ มีเพียงนายกฯ เศรษฐา ที่ออกอาการฟาดงวงฟาดงาไปเมื่อวันพุธ หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ล่าสุดฟากรัฐบาลมีเพียง รมช.คลัง "กฤษฎา จีนะวิจารณะ" บอกเสียงอ่อย ช่วงนี้อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้นโยบายการเงินมาช่วยดูแลเศรษฐกิจให้สอดคล้องกัน เนื่องจากนโยบายการคลังได้ออกไปเยอะมากแล้ว ส่วนขาประจำอย่าง "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งถนัดโพสต์เฟซบุ๊กอบรมแบงก์ชาติ ก็ยังฟาดต่อเนื่อง "มือไม่พาย เอาหางราน้ำ" ทำให้ย้อนนึกถึงสมัยที่ "เสี่ยโต้ง" นั่งรองนายกฯ ควบขุนคลัง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ช่วงปี 255-2557

เรียกว่าเป็น 2 ปี ไม้เบื่อไม้เมากับ "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการ ธปท. ในขณะนั้น โดยไม่พอใจนโยบายแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า พยายามกดดันให้ลดดอกเบี้ย ที่สำคัญ ดร.ประสารยังขวางนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปลงทุนต่างประเทศตามข้อเสนอของรัฐบาล จนออกปากเองอยากปลดผู้ว่าฯ สุดท้าย 7 พ.ค.2557 เสี่ยโต้งโดนปลดซะเอง หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการ สมช.

๐ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ "ดร.ประสาร" อยู่ได้ครบวาระ 5 ปี จนถึง 30 ก.ย.2558 ถึงแม้ในอดีตจะเคยมีผู้ว่าการแบงก์ชาติ 4 คน ถูกปลดพ้นจากตำแหน่ง คนแรกก็คือ "โชติ คุณะเกษม" ผู้ว่าการคนที่ 9 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2502 สาเหตุพัวพันกรณีจ้างต่างชาติพิมพ์ธนบัตร รายที่สอง "นุกูล ประจวบเหมาะ" ผู้ว่าการคนที่ 13 สมัยนายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2527 เพราะขัดแย้งนโยบายเงินฝาก ส่วนรายที่สาม "กำจร สถิรกุล"  ผู้ว่าการคนที่ 14 ยุคนายประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2533 จากความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ “หม่อมเต่า” ผู้ว่าการคนที่ 19 สมัยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นขุนคลัง เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2544 โดยคาดว่าเป็นเรื่องดอกเบี้ย เพราะหลังแต่งตั้ง "หม่อมอุ๋ย" มาดำรงตำแหน่งแทนเพียงไม่กี่วัน ก็ประกาศขึ้นดอกเบี้ยถึง 1% กระทั่งภายหลังหม่อมเต่าเปิดใจว่า “ถูกปลดเพราะไม่สนองนโยบายการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอี" หากดูไทม์ไลน์ทั้ง 4 คน ก็เกิดขึ้นก่อนจะมีพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 เพราะเดิม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 การแต่งตั้งหรือการถอดถอนให้อำนาจคณะรัฐมนตรี โดยระบุไว้ในมาตรา 19 ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งหรือถอนจากตำแหน่งซึ่งผู้ว่าการและรองผู้ว่าการ โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี"

๐ ต่างจาก พ.ร.บ.ฉบับปี 2551 ถือเป็นการแก้ไขกฎหมายครั้งใหญ่ มีการปรับโครงสร้าง ธปท. ให้เหมาะสมกับการดำเนินภารกิจในการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน ทันต่อเหตุการณ์และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจทางการเงินของโลก โดยเฉพาะทำให้ผู้ว่าการ ธปท. มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ ดังนั้น ครม. จึงไม่มีอำนาจปลดได้ตามใจเหมือนก่อน ซึ่งระบุไว้ชัดในมาตรา 28/19 (4) "คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่" และมาตรา 28/19 (5) "คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง" กลายเป็นเกราะป้องกันสำคัญของผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่ทำให้ฝ่ายการเมืองต้องถอยทัพ ขืนกล้าปลด มีหวังต้องไปสู้คดีในชั้นศาล ซึ่งโอกาสชนะแทบมองไม่เห็น ไม่แปลกที่กิตติรัตน์ถึงปลดได้แต่ปาก เพราะฉะนั้นต่อให้นายกฯ หรือบรรดาเพื่อไทยทั้งหลายจะลงแขกเขย่าเก้าอี้ทุกวี่วัน ณ วันนี้ "ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ก็ยังคงมีสถานะเป็นผู้ว่าการ ธปท.

 

ลี้คิมฮวง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บันทึกหน้า 4

” นึกว่าจะอยู่ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง อบจ.เชียงราย แต่ที่ไหนได้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับมาในฐานะเป็นเจ้าของรัฐบาล โชว์บทบาทกำหนดทิศทางการทำงานของประเทศ การปรับ ครม. แถมยังด่ากราดคนเห็นต่างในหลายประเด็น

บันทึกหน้า 4

เปิดบันทึกด้วยความตะลึงตึงตึงกับตำแหน่ง "ที่สุด" อีกครั้งของนายกฯ หญิงอายุน้อยที่สุด แพทองธาร ชินวัตร เพราะมีทรัพย์สินอยู่ถึง 13,846 ล้านบาท และตัวเลขที่ออกนี้ วิเคราะห์วิจารณ์กันยกใหญ่ว่า อาจจะเป็นนายกฯ ที่มั่งคั่งที่สุดในโลกนะเออ!! ...0

บันทึกหน้า 4

หลังกลับเข้าสู่โหมดการทำงาน-การใช้ชีวิตประจำวันแบบปกติ ตามปฏิทินประจำปี 2568 กันแล้ว ตลอดปี 2568 ที่เป็นปีมะเส็ง นักวิเคราะห์การเมืองหลายสำนักก็ยังมองว่า การเมืองไทยปีหน้า ก็ยังมีหลายเรื่องให้น่าติดตาม เช่น การเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ก.พ.2568

บันทึกหน้า 4

" ปีใหม่วันแรก 1 มกราคม 2568 ห้วงเวลา สัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2567 เต็มไปด้วยความสูญเสีย ในประเทศไทยเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ช่วงผู้คนสัญจรไปต่างจังหวัด

บันทึกหน้า 4

การเมืองท้ายปี อาจทำให้พรรคส้มใจชื้นขึ้นมาบ้าง สำหรับนิด้าโพลเที่ยวล่าสุด โดยคะแนนขึ้นนำมาเป็นอันดับ 1 ส่วนจะส่งผลนัยทางการเมืองหรือไม่ ต้องไปถาม “เทพไท เสนพงศ์” อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ฟันธงโดยผลการสำรวจความคิดเห็นของ “นิด้าโพล”

บันทึกหน้า 4

เหนื่อยทั้งปีมีแต่เรื่องเรืองอำนาจ คนทั้งชาติตั้งตารอของขวัญอันปรารถนา ภาวนาเศรษฐกิจให้รุ่งเรืองเฟื่องเงินตรา แต่รัฐบาลไม่นำพาให้ประชาได้อุ่นใจ แพทองทาพาทองโพยโดยไอแพด