อะไรจะเกิดขึ้นกับการค้ากับ เอเชียถ้าทรัมป์คว่ำไบเดน?

ข่าวล่าสุดตอนที่ผมเขียนอยู่นี้บอกว่า ศาลอุทธรณ์ของสหรัฐฯ มีคำวินิจฉัยแล้วว่าโดนัลด์ ทรัมป์ แม้จะเคยเป็นประธานาธิบดี ก็ไม่มีเอกสิทธิ์ที่จะได้รับการยกเว้นในการถูกดำเนินคดีหลายๆ กระทงที่ถูกฟ้องร้อง

นี่อาจจะเป็นประเด็นการเมืองที่ร้อนแรงที่สุดในอเมริกาขณะนี้

เพราะเส้นทางกฎหมายของทรัมป์จะเป็นอย่างไรต่อนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับอนาคตการเมืองของทั้งประเทศไม่น้อย

และยังเป็นปัจจัยเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศในหลายๆ มิติเช่นกัน

ภายใต้การบริหารงานของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา สหรัฐฯ ได้ผลักดันข้อตกลงหุ้นส่วน Trance-Pacific (TPP) เพื่อขยายวงของการค้าเสรี

แต่พอทรัมป์เข้าทำเนียบขาวเมื่อรอบก่อน ก็ถอนอเมริกาออกจากข้อตกลงการค้าทันที

โดยอ้างว่ามันจะเป็นภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมและการจ้างงานของสหรัฐฯ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง จีนซึ่งเป็นคู่แข่งในด้านการค้ากับสหรัฐฯ ตัวหลักก็เพิ่มอำนาจต่อรองของตนในภูมิภาคนี้ด้วยการกลายเป็นผู้นำในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

อันเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ลงนามกับ 10 ประเทศในอาเซียน (รวมทั้งไทย) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 1 มกรา.ปีก่อน

พอถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2564 ปักกิ่งสมัครเป็นสมาชิกในข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งเป็นผู้สืบทอดต่อ TPP

นอกจากนี้ ปักกิ่งยังได้ผลักดันโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ในเอเชียอย่างคึกคักอีกด้วย

พอเห็นจีนขยับคึกคักอย่างนี้ โจ ไบเดน ก็จึงเปิดตัว IPEF (Indo Pacific Economic Framework) เพื่อฟื้นอิทธิพลของตนในย่านนี้

โดยเรียกร้องให้มีการสร้างกฎเกณฑ์ทั่วไปสำหรับธุรกรรมสินค้าและบริการใน 4 ด้าน ได้แก่ การค้า ห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจที่สะอาด และเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

ญี่ปุ่นพยายามเรียกร้องให้สหรัฐฯ กลับไปสู่ข้อตกลงการค้า แต่ไบเดนปฏิเสธ

ในแง่หนึ่ง ไบเดนก็มองเรื่องการค้าเสรีเหมือนกับทรัมป์ตรงที่ว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อจีนเพื่อแลกกับความเสียหายของสหรัฐฯ เท่านั้น

แต่ไบเดนไม่เหมือนทรัมป์ตรงที่ว่าทรัมป์เพียงแค่ปฏิเสธการค้าเสรีเท่านั้น แต่ไบเดนพยายามเปลี่ยนแนวคิดพื้นฐานโดยการนำเอาปัจจัยต่างๆ เช่น ความมั่นคงของชาติ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนมาใส่ในข้อเสนอใหม่ด้วย

แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ยังกังขาเกี่ยวกับประโยชน์ของ IPEF ที่มีต่อผู้ที่เข้าร่วม เพราะกรอบการทำงานนี้แตกต่างจาก TPP, RCEP และข้อตกลงการค้าเสรีอื่นๆ

เพราะกรอบการทำงานของ IPEC ไม่ได้กำหนดให้สหรัฐฯ ต้องเปิดตลาดด้วยการลดภาษี

แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนเลือกที่จะเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ถูกกดดันให้เปิดเสรีการเข้าถึงตลาด

แต่ก็อาจจะมีเหตุผลอื่นซ่อนเร้นอยู่ด้วยก็ได้

ในแง่หนึ่งแม้ว่าข้อตกลง IPEF จะไม่มีการระบุการเข้าถึงตลาด แต่ก็มีข้อกำหนดเกี่ยวกับประเด็นการค้าร่วมสมัย เช่น ห่วงโซ่อุปทานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง FTA ทั่วไปในปัจจุบันไม่มี

การเจรจาเกี่ยวกับ IPEF เคลื่อนไหวค่อนข้างจะรวดเร็ว เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับการเจรจาเรื่องภาษี

เพราะทุกครั้งที่มีเรื่องผลประโยชน์ของชาติก็หนีไม่พ้นความขัดแย้ง

ปีเศษๆ ที่มีการเจรจาก็มีการบรรลุข้อตกลงในสามในสี่เสาหลัก โดยการค้ายังอยู่ระหว่างการเจรจา

รัฐมนตรีการค้าของ 14 ประเทศในการเจรจา IPEF ตกลงที่จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2566 และลงนามข้อตกลงในเดือนพฤศจิกายน

ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ครั้งแรกของการเจรจา

เพราะมีความกระตือรือร้นที่จะลดการพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์และทรัพยากรแร่ของจีน สหรัฐฯ จึงเร่งเดินเรื่องนี้อย่างเห็นได้ชัด

เหตุผลสำคัญน่าจะเป็นว่าวอชิงตันต้องการสร้างผลลัพธ์ที่โดดเด่นในข้อเสนอใหม่นี้

สหรัฐฯ แสดงให้เห็นศักยภาพและ "ความรอบรู้" ของตนในฐานะมหาอำนาจในการประชุมสุดยอดกับอินโดนีเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ในการประชุมกับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก "โจโควี" วิโดโด ซึ่งอยู่ในสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก และฟอรัม IPEF ไบเดนตกลงที่จะร่วมมือในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุ

ในวันเดียวกันนั้น เอ็กซอนโมบิล บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนการขุดลิเทียม ซึ่งเป็นวัสดุที่อินโดนีเซียไม่ได้ผลิตในรัฐอาร์คันซอ

ออสเตรเลีย ชิลี และจีนรวมกันคิดเป็น 90% ของผลผลิตลิเทียมทั่วโลก ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับแบตเตอรี่ EV

อินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเป็นวัสดุแบตเตอรี่หลักอีกชนิดหนึ่งใช้เงินลงทุนของจีนเพิ่มความสามารถในการแปรรูปแร่นิกเกิล

แต่ในขณะเดียวกันก็ร่วมมือกับออสเตรเลียในการจัดหาลิเทียม

ตอนนี้สหรัฐฯ พร้อมที่จะแทรกตัวเองเข้ามาในเกมนี้เหมือนกัน

เพราะไม่ต้องการจะเดินตามหลังจีนในเรื่องสำคัญอย่างนี้แน่นอน

ไม่ต้องแปลกใจว่า IPEF ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้สหรัฐฯ สามารถจัดหาอุปทานที่มั่นคงจากประเทศเกิดใหม่ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์

แต่โครงการอาร์คันซอแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ เองสามารถกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักที่สามารถจัดหาเงิน เทคโนโลยี และตลาดได้

ไบเดนพยายามย้ำให้โจโควีตระหนักในประโยชน์ของการกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ ในขณะที่ประเทศในเอเชียสร้างกระแสชาตินิยมด้วยการเน้นย้ำเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่ตนมี

หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งครั้งนี้ เขาอาจไม่คัดค้าน IPEF เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกับการเปิดตลาดสหรัฐฯ และมีองค์ประกอบของการทำข้อตกลง

ส่วน CPTPP มีเพียงสี่ประเทศจากกลุ่มอาเซียนเท่านั้นที่เป็นสมาชิก

ในขณะที่ IPEF มีเจ็ดประเทศจากกลุ่มนี้

หากสหรัฐฯ แยกตัวจาก IPEF ก็อาจส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือมากกว่าการออกจาก TPP ครั้งแรกด้วยซ้ำไป

สหรัฐฯ จึงจะผิดซ้ำซากในย่านนี้บ่อยๆ ไม่ได้

แต่ชัยชนะของไบเดนก็อาจไม่เป็นผลดีต่ออาเซียนทั้งหมด

เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับการเจรจา IPEF วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐฯ ว่ามักจะชักชวนสมาชิกใหม่โดยไม่ปรึกษาหารือกับสมาชิกดั้งเดิม

แต่ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ที่อเมริกา มหาอำนาจที่เป็นผู้นำระเบียบหลังสงครามในเอเชียจะยังคงเป็นตัวแปรที่สำคัญวันยังค่ำ

จึงเป็นเรื่องที่ไทยเราจะต้องเฝ้ามองความเคลื่อนไหวของทรัมป์และไบเดนอย่างใจจดใจจ่อจากนี้ถึงวันเลือกตั้งที่สหรัฐฯ ชนิดที่ละสายตาไม่ได้เลย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ