การ์ตูนล้อเลียนชิ้นนี้ปรากฏในสื่อทางการจีน Global Times ที่ประชดประชันเสียดสีอินเดียเรื่อง “นกพิราบสอดแนม” ที่ถูกจับเป็น “ผู้ต้องหา” อยู่นาน 8 เดือนเพราะสงสัยเป็น “สายลับ” จากจีน
อาจฟังดูเป็นเรื่องขบขัน แต่เป็นข่าวที่มีที่มาที่ไปที่ไม่ธรรมดา เพราะความสัมพันธ์ของสองยักษ์แห่งเอเซียเป็นเรื่องที่ฝังรากลึกมายาวนานย้อนกลับไปประวัติศาสตร์หลายร้อยปี
สัปดาห์ก่อน วันที่ตำรวจอินเดียออกข่าวว่าได้ปล่อยนอกพิราบผู้โชคร้ายตัวนั้นไปแล้ว ผมเขียนขึ้นเฟซบุ๊กว่า
‘พิราบสายลับ’!
คดีขบขันนี้จบลงแบบหักมุม!
ตำรวจอินเดียเพิ่งปล่อยนกพิราบที่ถูกสงสัยว่าเป็น ‘สายลับจีน’ หลังถูก’กักตัว’นาน 8 เดือน
โดยปล่อยมันออกสู่ป่าเมื่อวันอังคาร สำนักข่าว Press Trust of India รายงาน กรณีประหลาดว่าด้วย ‘นกพิราบสายลับ’ นี้เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
นกตัวนี้ถูกจับได้ใกล้ท่าเรือแห่งหนึ่งในมุมไบเพราะมีห่วงสองวงผูกอยู่ที่ขาและที่มีตัวหนังสือที่ดูเหมือนภาษาจีน
ตำรวจอินเดียตั้งข้อสงสัยว่านกตัวนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจารกรรม จึงส่งไปที่โรงพยาบาลสัตว์ Bai Sakarbai Dinshaw Petit ในเมืองมุมไบ
ในที่สุด การสอบสวนพบว่านกพิราบตัวนั้นเป็นนกแข่งจากไต้หวันที่หลงเข้าอินเดีย
เมื่อได้รับอนุญาตจากตำรวจ นกผู้ต้องหาก็ถูกย้ายไปยังสมาคมบอมเบย์เพื่อการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ท้ายที่สุดสัตวแพทย์ปล่อยให้เป็นอิสระเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
สื่อจีนก็รายงานเรื่องนี้เป็นการใหญ่เพื่อจะตอกย้ำว่าฝ่ายอินเดียทำอะไรเกินเหตุ มีความระแวงสงสัยในทุก ๆ เรื่องทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ มายืนยันเลย
แต่กรณี “นกพิราบสายลับ” นี้ก็ใกล้เคียงกับที่สหรัฐฯกล่าวหาว่าจีนส่งบอลลูนไปลอยล่องเหนือท้องฟ้าสหรัฐฯเมื่อเร็ว ๆ นี้
ตอนนี้วอชิงตันกล่าวหาว่าจีนส่งบอลลูนพร้อมซ่อนเครื่องไม้เครื่องมือจารกรรมด้วย
สหรัฐฯตัดสินใจยิงบอลลูนร่วงลงมา สอบสวนไปมาก็หาหลักฐานไม่ได้ว่าเป็นการสอดแนมแต่อย่างใด
จีนชี้แจงว่าเป็นบอลลูนสำรวจอากาศที่พลัดหลงเพราะลมพัดผิดทิศทาง แต่อเมริกาไม่เชื่อ กลายเป็นเรื่องกึ่งเฮฮาระหว่างยักษ์ใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง
แต่กรณีอินเดียกับจีนมีประวัติแห่งความร้าวฉานจริง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องตลก
เมื่อปีสองปีก่อนความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองก็มีอันถดถอยลง เพราะการเผชิญหน้ากันตรงชายแดนอันเป็นข้อพิพาทในภูมิภาคหิมาลัย
สาเหตุมาจากข้อพิพาทชายแดนที่มีความยาว 3,440 กม.ซึ่งไม่มีการกำหนดที่ชัดเจนมายาวนาน ธรรมชาติของแม่น้ำ ทะเลสาบ และหิมะที่ปกคลุมตามแนวชายแดนทำให้แนวรบเปลี่ยนไป ส่งผลให้ทหารต้องเผชิญหน้ากันในหลายๆ จุด ก่อให้เกิดความตึงเครียดเป็นระยะ ๆ
ทั้งสองประเทศแข่งขันกันเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามแนวชายแดน เรียกอีกอย่างว่า “แนวควบคุมตามความเป็นจริง”
การก่อสร้างถนนสายใหม่ของอินเดียไปยังฐานทัพอากาศบนที่สูงถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการปะทะร้ายแรงกับกองทหารจีนในปี 2020
ถ้าถามว่าตอนนั้นสถานการณ์เลวร้ายแค่ไหน? ก็ต้องบอกว่าค่อนข้างจะน่ากังวลหากบานปลายกลายเป็นสงครามกันจริง ๆ
แม้จะมีการพูดคุยในระดับทหาร แต่ความตึงเครียดยังคงดำเนินต่อไป ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2022 กองทหารปะทะกันเป็นครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งปี
เหตุเกิดขึ้นใกล้กับเขตตะวัง ของรัฐอรุณาจัลประเทศ ปลายด้านตะวันออกของอินเดีย ทหารบางส่วนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
ก่อนหน้านั้นเกิดการปะทะกันครั้งใหญ่ในเดือนมิถุนายน 2020 เป็นการสู้รบในหุบเขากัลวาน ซึ่งใช้ไม้และกระบอง ไม่ใช่ปืน
ถือเป็นการเผชิญหน้ากันที่ร้ายแรงครั้งแรกระหว่างทั้งสองฝ่ายนับตั้งแต่การปะทะรุนแรงเมื่อปี 1975
ตอนนั้น ทหารอินเดียตายอย่างน้อย 20 นายและจีนเสียชีวิต 4
การเผชิญหน้ารอบหลังนี้เกิดในเดือนมกราคม 2021 ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บ เกิดขึ้นใกล้กับรัฐสิกขิมของอินเดีย ระหว่างภูฏานและเนปาล
ในเดือนกันยายน 2021 จีนกล่าวหาว่าอินเดียยิงปืนใส่กองทหารของตน อินเดียกล่าวหาจีนว่ายิงขึ้นไปในอากาศ
นั่นถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปีที่มีการยิงกันที่ชายแดน
ก่อนหน้านี้มีข้อตกลงระหว่างทั้งสองประเทศในปี 1996 ห้ามใช้ปืนและวัตถุระเบิดใกล้ชายแดน
ในเดือนเดียวกัน ทั้งสองตกลงที่จะถอยกองกำลังของตนออกห่างจากพื้นที่ชายแดนหิมาลัยทางตะวันตกที่เป็นข้อพิพาท
หากมองในภาพใหญ่ของความขัดแย้งก็จะเห็นว่าทั้งสองประเทศต่อสู้กันในสงครามใหญ่เพียงครั้งเดียวในปี 1962 ซึ่งเป็นช่วงที่อินเดียประสบความพ่ายแพ้อย่างเกือบจะหมดรูป เป็นรอยแค้นที่ฝังแน่นอยู่ในความรู้สึกของคนอินเดียหลายกลุ่มมาตลอด
แต่ความตึงเครียดที่คุกรุ่นขึ้นในช่วงหลังนี้ทำให้เกิดความกลัวถึงความเสี่ยงที่จะบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่
เพราะทั้งสองยักษ์แห่งเอเชียต่างก็เป็นมหาอำนาจทางพลังนิวเคลียร์
และจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อกันอย่างปฏิเสธไม่ได้
เพราะจีนเป็นหนึ่งในคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย
ความขัดแย้งทางทหารสะท้อนให้เห็นจากความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนมีความไม่ปกติไปด้วย
แม้ทั้งสองจะแสดงความอบอุ่นในการพบปะกันในช่วงหลังต่อสาธารณะ แต่ลึก ๆ แล้วทั้งปักกิ่งและเดลฮีก็ยังจับจ้องกันด้วยความระแวดระวังในหลาย ๆ ประเด็นที่มีผลต่อทั้งภูมิภาคและทั้งโลก
สะท้อนจากการที่อินเดียจับนกพิราบ (ซึ่งควรจะเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ) เป็น “ผู้ต้องสงสัย” ว่าเป็น “นกสายสืบ” จากจีน
กว่าจะปล่อยเจ้านกพิราบผู้น่าสงสารให้เป็นอิสระได้ก็ทำให้เกิดกรณี “ทารุณสัตว์” อีกด้วย!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ