"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด" ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยสั่งให้หยุดการกระทำ
ตามมาด้วยดาบสอง มีผู้ร้องให้ยื่นยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรคให้ กกต. เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 92
ต่อด้วยมีผู้ร้องให้ตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต 44 สส.พรรคก้าวไกลในสมัยที่แล้ว ให้ ป.ป.ช.เอาผิด ก่อนส่งให้ศาลฎีกาตัดสินว่าฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ อย่างเช่นกรณี ช่อ-พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ในข้อหาโพสต์ภาพและข้อความหมิ่นสถาบัน
แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น ทั้งการยุบพรรค และตัดสิทธิ์ทางจริยธรรมร้ายแรง คงไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ รวมถึงยังมีโอกาสรอดถ้าว่าด้วยเหตุผลทางกฎหมาย แม้สถานการณ์การเมืองจะริบหรี่ก็ตาม
เมื่อฟังมุมมองของ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้หลายคนคงมองว่าโอกาสที่ศาลจะไม่ยุบพรรคเกิดขึ้นยาก เพราะศาลมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง แม้จะเป็นการล้มล้างตามรัฐธรรมนูญ มันก็น่าจะเป็นการล้มล้างเดียวกันตามกฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่
หลายคนก็คาดคิดว่าผลที่ออกมามันจะส่งผลไปแบบนี้ แต่ต้องยืนยันในหลักการทางกฎหมายว่ามันยังคงมีความเป็นไปได้ที่ศาลอาจจะยุบหรือไม่ยุบพรรคก็ได้ โดยศาลอาจมองว่ามันไม่ใช่การล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 92 (1) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองก็ได้ ศาลยังมีอำนาจพิจารณาอยู่ เพราะเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่แยกต่างหากจากรัฐธรรมนูญ
“สิ่งที่เกิดขึ้นจากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีพรรคก้าวไกล มันไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ทุกๆ ความผิดของกฎหมาย เพราะแต่ละกฎหมายก็กำหนดวิธีการในการพิสูจน์ความผิด มีกระบวนการพิจารณาทางคดีที่แตกต่างกัน มาตรฐานในการรับฟังพยานหลักฐานก็มีความแตกต่างกัน เช่นในทางอาญา ก็ต้องดูเรื่ององค์ประกอบในทางอาญา ต้องดูเจตนา คงต้องติดตามกันต่อไปว่าเมื่อมีคนไปยื่นเรื่องแล้ว แต่ละองค์กรจะมีกระบวนการทางกฎหมายต่อไปอย่างไร” อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าว
นอกจากนี้ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช ได้โพสต์ข้อเขียนเรื่อง สส.ยื่นแก้ไข ม.112 ได้ ไม่ผิดจริยธรรม ผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ในฐานะที่เคยเป็น สส.มาร่วม 20 ปี ส่วนตัวผมเห็นว่า การแก้ไขมาตรา 112 สามารถกระทำได้ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ
1.จะต้องไม่มีการรณรงค์สร้างความขัดแย้ง และความแตกแยกในหมู่ประชาชน ซึ่งอาจจะบั่นทอน เซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.พรรคการเมืองจะต้องไม่ระบุ เป็นนโยบายเพื่อใช้ในการหาเสียง ซึ่งเป็นการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง
3.การแก้ไขมาตรา 112 เนื้อหารายละเอียดของการแก้ไข จะต้องไม่บั่นทอน ลดด้อยไปกว่าเนื้อหาของกฎหมายเดิม 4.การแก้ไขจะต้องทำภายใต้กระบวนการนิติบัญญัติ คือการเสนอการแก้ไขกฎหมายตามขั้นตอน ของข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้น กรณีที่ สส.พรรคก้าวไกล 44 คน ได้ยื่นแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ สส.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และได้ใช้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่โดยตรงของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่สามารถออกกฎหมาย ยกเลิก หรือแก้ไขกฎหมายได้
ส่วนรายละเอียดเนื้อหาของกฎหมายจะออกมาในลักษณะใดนั้น ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และถ้าหากเห็นว่าเนื้อหาของกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ ก็สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความก่อนออกประกาศใช้เป็นกฎหมายได้อีกขั้นตอนหนึ่ง
เพราะฉะนั้น การที่มีการร้องต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้พิจารณาว่า สส.พรรคก้าวไกล 44 คน ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงนั้น เชื่อว่าไม่สามารถเอาผิดเรื่องการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงได้.
ช่างสงสัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บันทึกหน้า 4
ถึงกับว้าว! "อิ๊งค์" ทอล์กโชว์ อลังการงานสร้าง เวทีใหญ่สวยงาม จัดเต็มแสงสีเสียง ยกเว้นเรื่องเดียว "สาระ" เนื้อหาผลงาน 90 วัน รัฐบาลแพทองธาร
อ่อนกว่าวัย
ไม่น่าเชื่อในวันที่ 13 ม.ค. 2568 รัฐมนตรี 17 สมัย อย่าง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สาธารณสุข จะมีอายุครบ 70 ปี เนื่องจากรูปร่างหน้าตาดูอ่อนกว่าวัยมาก เหมือนกับคนอายุประมาณ 50 ปีเศษเท่านั้น
บันทึกหน้า 4
ต้องเรียกว่าตีปี๊บกันอย่างยิ่งกับการแถลงผลงาน 90 วัน พร้อมสานฝันอนาคตในธีม “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” ที่ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีจะเป็นคีย์แมนหลัก โดยถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธ.ค.นี้
บันทึกหน้า 4
วันอังคารที่ 10 ธันวาคม ตรงกับ วันรัฐธรรมนูญ เป็นวันหยุดราชการ การประชุม ครม.จึงเลื่อนไปเป็นวันพุธ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2475 ถึงปัจจุบัน มีรัฐธรรมนูญแล้ว 20 ฉบับ มีรัฐประหารถึง 13 ครั้ง
บันทึกหน้า 4
” จับตาว่า ม็อบจะจุดติดหรือไม่ หลัง สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ จำนวน 6 ข้อ เพื่อยกเลิกเอ็มโอยู 44 รวมถึงยังยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อสมาชิกรัฐสภา
บันทึกหน้า 4
พรุ่งนี้ 10 ธ.ค. วันรัฐธรรมนูญ บันทึกให้ระลึกรู้ว่า ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ ฉบับปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ป