คงจะยากพอควร!
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ๙ ต่อ ๐ ไปแล้วว่า การแก้ไข ม.๑๑๒ ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลคือการล้มล้างการปกครอง
เกิดคำถามว่า แล้วหลังจากนี้ พรรคก้าวไกลจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ไม่ให้ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผูกพันทุกองค์กรในรัฐธรรมนูญ
จากนี้ไปไม่ว่าพรรคก้าวไกลจะมีสถานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหาร ก็ไม่อาจนำเสนอการแก้ไข ม.๑๑๒ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีกแล้ว
การแก้ไข และยกเลิก ม.๑๑๒ คือเป้าหมายหลักของพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล เพราะพรรคการเมืองนี้กำเนิดมาเพื่อสานต่อในสิ่งที่ คณะราษฎร ๒๔๗๕ ไม่อาจทำได้สำเร็จลุล่วง
คือ "เซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์"
เพราะมองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์คืออุปสรรคในการสร้างประชาธิปไตย
เมื่อการแก้ไข และยกเลิก ม.๑๑๒ คือหัวใจหลักที่จะนำไปสู่สิ่งนั้น ถูกปิดทางโดยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีวิธีอื่นที่จะทำให้พรรคก้าวไกลบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่
คำตอบคือ "มี"
แต่พรรคก้าวไกลมองเห็นหรือเปล่า
การหมกมุ่นกับการแก้ ม.๑๑๒ ทำให้โลกทัศน์ของพรรคก้าวไกลคับแคบ
ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลโฟกัสไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์และโจมตีอย่างเงียบๆ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
หรือการปฏิรูปกองทัพ
พรรคก้าวไกลทำสงครามแบบโบราณ ไปยืนหน้ากำแพงแล้วยิงธนูใส่ แต่กลับกระหยิ่มใจว่า ตัวเองคือคนรุ่นใหม่ นักการเมืองสายเลือดใหม่ ที่จะมาสร้างประชาธิปไตยไทยให้ทัดเทียมโลกตะวันตก
เลยเถิดไปถึงการล้มล้างวัฒนธรรมเดิม แล้วครอบด้วยวัฒนธรรมฝรั่ง
เมื่อบวกกับวัฒนธรรมคน Gen Z ซึ่งเป็นฐานมวลชนหลักของพรรคก้าวไกล ที่ใจร้อน มีความมั่นใจสูง ความอดทนต่ำ สุดโต่ง ไม่สนใจเรื่องขนบธรรมเนียม ประเพณี และศาสนา การปูพื้นทางความคิดของพรรคก้าวไกลจึงทำได้อย่างรวดเร็วผ่านสื่อโซเชียล
จนคน Gen Z พากันไปยืนรอ พรรคก้าวไกล ที่ปลายทางแล้ว
แต่พรรคก้าวไกลติดหล่มความคิดตัวเอง จนแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเดินต่อด้วยวิธีเดิม หากไม่ปรับเปลี่ยนการเดินไปข้างหน้าต่อไป ก็ไม่ต่างการจุดชนวนสงครามความขัดแย้งให้เกิดขึ้่นอีก
หากถอยกลับมาตั้งหลัก แล้วพิจารณาให้รอบคอบว่า ปัญหาที่แท้จริงของประเทศไทย รวมทั้งการพัฒนาประชาธิปไตยไทยอยู่ที่ไหนกันแน่
ก็อาจได้เห็นความจริง
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอุปสรรคจริงหรือเปล่า
เป็นเพราะกองทัพมีอำนาจมากเกินไป
หรือเป็นเพราะนักการเมืองอ่อนแอ ไม่มีศักยภาพมากพอที่จะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้
เป็นเพราะการคอร์รัปชันที่ซึมลึกเข้าไปอยู่ในดีเอ็นเอของสังคมการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นการเมืองท้องถิ่น หรือระดับชาติ โดยไม่มีใครคิดจะแก้ไขจริงจังใช่หรือไม่
การโฟกัสไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยความเชื่อว่าคือสิ่งที่คณะราษฎร ๒๔๗๕ ต้องการให้สานต่อนั้น คณะราษฎร ๒๔๗๕ ต้องการให้เป็นเช่นนั้่นจริงหรือไม่
หลักฐานความผิดพลาด "ปรีดี พนมยงค์" กล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์ กับ เอเชียวีก เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓
“...ในปี ค.ศ. ๑๙๒๕ เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกน ของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง ๒๕ ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้วและได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี
ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริง ในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ
ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี
ในปี ค.ศ. ๑๙๓๒ ข้าพเจ้าอายุ ๓๒ ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ...”
แม้จะมีการตัดต่อใจความที่ว่า "พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ" ไปแปลงความหมายเสียใหม่
ให้สิ่งที่ "ปรีดี" พูดหมายความถึงการจัดการกับสถาบันพระมหากษัตริย์
การรับมรดกที่ผิดเพี้่ยนมาสู่อุดมการณ์ของพรรคการเมือง คือความผิดพลาดที่พรรคก้าวไกลต้องกลับไปทบทวน
เพราะสิ่งที่ "ปรีดี" สะท้อนคือ การขาดความเข้าใจในความเป็นจริงของประเทศไทยในเวลานั้่น แต่กลับยึดเอาตำราตะวันตกเป็นสรณะ
วัฒนธรรมไทยกับฝรั่งตะวันตกในยุคนั้นต่างกันลิบลิ่ว
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในอดีตเป็นสิ่งที่ต้องเกิด
ไม่เกิดโดยคณะราษฎร
ก็ต้องเกิดโดยสถาบันพระมหากษัตริย์เอง
เพราะเป็นพระราชประสงค์นับตั้งแต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "ดุสิตธานี" ที่ทวยนาครมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเชษฐบุรุษขึ้นมาเป็นผู้แทนของตน
นี่คือการเปลี่ยนแปลงของโลก
ประเทศไทยจำต้องเปลี่ยนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
แต่เมื่อตีความผิดตั้งแต่แรกว่า พระมหากษัตริย์คืออุปสรรคในการสร้างประชาธิปไตย ถึงเวลาที่พรรคก้าวไกลต้องตีโจทย์ใหม่
ประชาธิปไตยมีส่วนเกี่ยวพันกับนักการเมืองมากที่สุด
ประเทศไหนมีนักการเมืองที่สุจริตต่อประชาธิปไตย ประชาชนในประเทศนั้นย่อมเสพสุขอยู่กับ ความเสมอภาค ภราดรภาพ และเสรีภาพ
เมื่อไหร่ก็ตามที่นักการเมือง คอร์รัปชันประชาธิปไตย ปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความหายนะจะเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
วันนี้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน จึงมีโอกาสดีที่สร้างการเมืองที่สุจริตต่อประชาธิปไตย
"ธนาธร ปิยบุตร พิธา" มองเห็นสิ่งนี้หรือเปล่า
แนวคิดขจัดสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อสร้างประชาธิปไตย คือวิธีคิดโบราณคร่ำครึ อย่างที่คิดกันในยุคคณะราษฎร ๒๔๗๕ ชิงอำนาจกันเอง
ปีนี้ ๒๕๖๗ แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญท่านกรุณาชี้ทางให้แล้ว
พรรคก้าวไกลน่าจะมีสติปัญญามากพอที่จะทบทวนบทบาทตัวเอง
เดินให้ถูกทางเสีย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เบื้องหลังผู้ลี้ภัย
เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี
วันนี้ของ "วันนอร์"
ไม่ค่อยได้เขียนถึง "อาจารย์วันนอร์" สักเท่าไหร่ เพราะไม่มีเหตุให้ต้องวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่ฉายา “รูทีนตีนตุ๊กแก” ที่นักข่าวรัฐสภาตั้งให้ ก็ยังแอบเคืองแทน หาว่ากอดเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ แน่น