ศูนย์ช่วยเหลือมนุษยธรรม: ก้าวเล็กๆ สู่การลดวิกฤตพม่า

อาเซียนจะขยับอย่างไรจึงจะผลักดันให้กระบวนการเจรจาเพื่อสงบศึกในพม่าเกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่หลวงพระบางเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  อาจทำให้เกิดความหวังเล็กๆ เพราะไทยเสนอเปิดศูนย์เพื่อการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับประเทศนั้น

การประชุมครั้งนี้เรียกว่า “อาเซียนรีทรีต” ซึ่งมีมติสนับสนุนข้อริเริ่มไทยเปิดจุดมนุษยธรรมชายแดนเมียนมา 

คุณปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมมีความเห็นพ้องและตอบรับกับข้อริเริ่มของไทยเรื่องนี้

ประเด็นคงไม่ได้อยู่ที่หลักการใหญ่ แต่พอลงรายละเอียดจะเจอกับอุปสรรคหลายประการที่ต้องอาศัยความจริงใจของรัฐบาลทหารพม่าว่าจะยอมทำตามจริงหรือไม่

คุณปานปรีย์บอกว่า ในขณะเดียวกันศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนจะเข้าไปร่วมสังเกตการณ์  

โดยจะมีสภากาชาดไทยและสภากาชาดเมียนมาเข้ามาร่วมด้วย

คุณปานปรีย์บอกว่า ในช่วงวันที่ 8-9   กุมภาพันธ์นี้ จะเดินทางไปที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อดูพื้นที่ที่จะเป็นจุดในการทำเป็นพื้นที่มนุษยธรรม 

หากพบว่าเหมาะสมก็จะเดินหน้าต่อไป

แต่จะเรียกแนวทางนี้ว่า “ระเบียงเพื่อความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม” (Humanitarian Assistance Corridor) อย่างที่เคยเป็นข้อเสนอมาระยะหนึ่งแล้วหรือไม่ยังไม่ชัดเจน  

กุญแจสำคัญที่จะทำให้มองว่าจะมีความคืบหน้าเรื่องพม่าอย่างไรหรือไม่ ยังอยู่ที่ว่ารัฐบาลทหารพม่าจะยอมทำตาม          

 “ฉันทามติ 5 ข้อ” ของอาเซียนหรือไม่

ไทยมองว่าข้อเสนอของไทยเรื่องช่องทางช่วยเหลือมนุษยธรรมเป็นหนึ่งในก้าวย่างของฉันทามติ 5 ข้อนั้น

ท่าทีด้านบวกเล็กๆ จากรัฐบาลทหารพม่าครั้งนี้ คือการส่งปลัดกระทรวงต่างประเทศมาร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

 เพราะก่อนหน้านี้ มิน อ่อง หล่าย ไม่ยอมส่งคนระดับข้าราชการประจำมาร่วมประชุมหลังจากที่อาเซียนขอระงับ    

การมีปฏิสัมพันธ์กับระดับผู้นำและรัฐมนตรีจนกว่าพม่าจะยอมทำตามฉันทามติ 5 ข้อ

ครั้งนี้ รัฐบาลทหารพม่าส่งนางมาร์ลาร์ ถั่น ติเก ตัวแทนในระดับปลัดกระทรวงต่างประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย 

โดยเธอแสดงความยินดีและพร้อมให้การสนับสนุนความริเริ่มของไทย

 และพร้อมที่จะให้ AHA ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนเข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วย 

หากทุกอย่างเรียบร้อยก็สามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

 การที่อาเซียนยอมรับการเข้าร่วมประชุมของเจ้าหน้าที่เมียนมานั้น เท่ากับเป็นการ “อ่อนข้อ” ต่อรัฐบาลทหารพม่าหรือไม่

คำตอบจากรัฐมนตรีอาเซียนหลายคนบอกว่าไม่น่าจะตีความอย่างนั้นได้

ควรจะมองว่า มิน อ่อง หล่าย ยอมลดความแข็งกร้าวของท่าทีของตนต่อเงื่อนไขของอาเซียนมากกว่า

ในแถลงการณ์ร่วมที่ออกที่หลวงพระบาง รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนพยายามจะเพิ่มแรงกดดันให้ทุกฝ่ายในพม่ายุติความขัดแย้งนองเลือดของเมียนมา

ถ้อยแถลงร่วมตอกย้ำถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนต่อแผนสันติภาพในภูมิภาค

และย้ำว่าอาเซียนนำเสนอ "วิธีแก้ปัญหาที่เมียนมาเป็นเจ้าของและเป็นผู้นำ"   ต่อวิกฤตครั้งนี้

และยังยืนยันการสนับสนุนความพยายามของทูตพิเศษคนใหม่ด้านวิกฤตจากลาวในการ "ติดต่อกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง" และแสดงความมั่นใจในความตั้งใจของเขาที่จะช่วยเหลือประชาชนชาวพม่าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

เพราะทั้งโลกเห็นแล้วว่าเมียนมาติดอยู่กับความขัดแย้งนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในการทำรัฐประหารในปี 2564 ซึ่งจุดชนวนให้เกิดความสับสนวุ่นวายทั่วประเทศ ทำให้เกิดการระงับการปฏิรูปประชาธิปไตยและเศรษฐกิจอย่างยาวนาน

 อลุนแก้ว กิตติคุณ ทูตพิเศษว่าด้วยกิจการเมียนมาคนใหม่ของอาเซียนจาก สปป. ลาว เข้าพบหัวหน้ารัฐบาลทหารในระหว่างการเยือนเมียนมาเมื่อต้นเดือนนี้ 

ทั้งอาเซียนและลาวยังไม่ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการถึงการเดินทางครั้งนี้

ที่ไม่ชัดเจนคือเขาได้พบกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารหรือไม่

หรือจะได้พบอองซาน ซูจี ที่ยังถูกกักขังอยู่โดยถูกจำกัดผู้ที่สามารถเข้าพบมาตลอด

 “เรายืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นของอาเซียนในการช่วยเหลือเมียนมาในการค้นหาวิธีแก้ปัญหาอย่างสันติ ครอบคลุม และยั่งยืนต่อวิกฤตที่กำลังดำเนินอยู่ เนื่องจากเมียนมายังคงเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน”  แถลงการณ์รัฐมนตรีอาเซียนย้ำ

 “เรายืนยันความสามัคคีของอาเซียนและย้ำว่าความพยายามใดๆ ควรสนับสนุน โดยสอดคล้องกับ (แผนสันติภาพ) และในการประสานงานกับประธาน” แถลงการณ์ระบุ 

พร้อมเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการยับยั้งชั่งใจเพื่อให้สามารถเข้าถึงด้านมนุษยธรรมได้

ที่เห็นได้ชัดคือรัฐบาลทหารพม่ากำลังเผชิญกับความเพลี่ยงพล้ำในสนามรบ เพราะฝ่ายต่อต้านสามารถรุกคืบได้อย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

 รัฐบาลทหารกำลังเจอศึกหลายด้าน เพราะมีการผนึกกำลังของฝ่ายต่อต้านติดอาวุธสนับสนุนประชาธิปไตยที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลเงาและกองทัพชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ 

อินโดนีเซีย ประธานอาเซียนคนก่อน ได้ริเริ่มการทูตอย่างเงียบๆ เพื่อส่งเสริมการเจรจาระหว่างฝ่ายที่ทำสงครามกันของเมียนมา

ท่าทีของ สปป.ลาว ในฐานะประธานหมุนเวียนประจำปีนี้ มีแนวโน้มจะผ่อนปรนและกดดันรัฐบาลทหารพม่าน้อยกว่า

ซึ่งอาจจะช่วยสร้างบรรยากาศของการประสานงานให้เป็นไปทางบวกมากขึ้นได้บ้าง

ทุกอย่างยังรอการพิสูจน์ เพราะแต่ละก้าวย่างสู่สันติภาพของพม่านั้นเต็มไปด้วยขวากหนาม และโอกาสที่จะเกิดกรณี “เดินหน้า 1 ก้าว ถอยหลัง 2 ก้าว” ได้ตลอดเวลา!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ