มนุษย์ 9 ชีวิต...(ตอน 2)

วันนี้ผมจะเขียนเรื่องต่อจากสัปดาห์ที่แล้วที่ผมตั้งคำถามลอยๆ ว่า ทำไม Donald Trump ถึงครอบงำพรรค Republican ขนาดนี้

เรื่องชนะใจมวลชนของเขาคงไม่ได้อธิบายยากเย็นอะไร เหมือนอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่สามารถเข้าถึงใจกลุ่มคนที่รู้สึกว่าคนอื่นไม่เคยเข้าถึง ทาง Trump ก็ไม่ต่างกัน ประเด็นตรงนี้อธิบายด้วยตนเองและเข้าใจได้ครับ แต่ที่ผมสงสัยคือ การเมืองสหรัฐต่างจากการเมืองไทย ดังนั้นมันไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนอย่างคุณทักษิณครอบงำ หรือครอบคลุมแวดวงการเมืองไทยได้ เหตุผลชัดยิ่งกว่าอะไร ถึงแม้ไม่ได้เป็นเหตุผลที่น่าภาคภูมิใจก็ตาม

แต่ Trump ไม่ได้อยู่เหนือแวดวงการเมืองสหรัฐเหมือนคุณทักษิณในไทย แวดวงการเมืองในสหรัฐน่าจะครอบงำ หรือครอบคลุมยากกว่านี้ เอาเข้าจริง ถ้า Jeff Bezos หรือ Bill Gates เล่นการเมือง เขาจะยิ่งใหญ่กว่าพรรค (ที่เขาสังกัด) ได้เหรอ? ผมว่าไม่ได้ เพราะระบบพรรคเขายิ่งใหญ่กว่า และสังคมไม่ยอม ผมจึงแปลกใจว่า ทำไม Trump  ยิ่งใหญ่กว่าพรรคได้ เขาไม่ได้เป็นนักธุรกิจอภิมหาเศรษฐีระดับ Bezos กับ Gates เขาไม่ได้รวยกว่าผู้บริจาคหรือผู้สนับสนุนพรรค เท่าไรนัก และเขาไม่ได้ทำความดีงามอะไรให้กับพรรคในช่วงเป็นประธานาธิบดีขนาดให้คนบูชาได้ แล้วทำไมครับ? ทำไมเขาสามารถกลับมาเป็นตัวแทนพรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกรอบ? ผมงง

ถ้าปรึกษาและถาม 10 คนก็คงจะได้ 10 คำตอบ แต่ละคำตอบนั้นถูกหมด ไม่มีใครผิดครับ และผมก็ไม่มีคำตอบเหมือนกัน แต่ผมจะกระตุ้นข้อคิดพวกเราจากบทความนักรัฐศาสตร์ 2 ท่าน Daniel Schlozman กับ Sam Rosenfeld ที่เขียนหนังสือเรื่อง The Hollow Parties ในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูดถึงกรณี Trump โดยตรง (เหมือนที่ผมตั้งคำถาม) แต่เขาอธิบายเหตุปัจจัยที่ทำให้เข้าข่ายคำถามผม

Schlozman กับ Rosenfeld วิเคราะห์ว่า ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ความเป็นพรรคในสหรัฐ (Democrat กับ Republican) ค่อยๆ อ่อนแอลง จากที่เคยเป็น เครื่องจักรแห่งอำนาจที่ครอบคลุมแวดวงการเมือง เปลี่ยนมาเป็น เสือกระดาษ เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ในพรรคเเล้ว อำนาจไปอยู่ที่ผู้สนับสนุน คณะกรรมการ PACS (Political Action Committees) กลุ่ม Lobbyist (ตามประเด็น) และสื่อ

สมัยก่อน ระบบ 2 พรรค (Republicans กับ Democrats) สามารถควบคุมสมาชิกพรรคได้ด้วยระบบ คณะกรรมการของพรรคมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายว่าผู้สมัครหรือสมาชิกคนไหนจะได้งบหาเสียงเท่าไหร่อย่างไร กรรมการบริหารพรรคสามารถทำให้ผู้สมัครคนนี้ เด่นกว่าคนนั้นได้อย่างง่ายดาย เพราะเขาควบคุมงบประมาณ ควบคุมนโยบาย และควบคุมทิศทางของพรรค ส่วนกระบวนการของพรรคในท้องถิ่นที่เปรียบเสมือนเครื่องจักร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสหภาพ สาขาพรรค กลุ่มภาคประชาชนที่อยู่ในเครือข่ายและมีความจงรักภักดีต่อพรรค ทุกคนล้วนแต่ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน คือทำเพื่อพรรค และทำให้พรรคเดินหน้าต่อไป ดังนั้นใครจะเป็นผู้สมัคร (ระดับอะไรก็แล้วแต่) จะต้องมีแรงสนับสนุนจากหลายส่วนในพรรค

ถ้าจะว่าไปแล้ว อำนาจภายในพรรคคล้ายๆ กับระบบคอมมิวนิสต์ ที่มีคณะกรรมการกลาง มีอำนาจ (เกือบ) เบ็ดเสร็จ เงินบริจาคเข้าพรรค และคณะกรรมการกลางเป็นผู้มีอำนาจกระจายเม็ดเงินนั้นออกไป จะเรียกว่าตามใจชอบก็ไม่เชิง แต่ขอเรียกว่า ตามดุลพินิจตัวเองดีกว่า ดังนั้นอำนาจภายในพรรคเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ และยิ่งใหญ่ โดยไม่ค่อยมีส่วนร่วมจากเสียงนอกพรรคเท่าไหร่นัก

แต่โลกหมุนไปเรื่อยๆ และวันเวลาเปลี่ยนตามโลก ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเริ่มออกมาแสดงความอึดอัดที่ไม่มีอำนาจตัดสินอะไรในการคัดเลือกผู้สมัคร เหมือนว่าต้องก้มหน้า และก้มหัวลงคะแนนให้กับผู้สมัครที่พรรคยัดส่งให้ เขาโวยว่าควรมีส่วนร่วมมากกว่านี้ เลยเป็นที่มาของระบบ Primary

ระบบ Primary ทำให้อำนาจเบ็ดเสร็จดั้งเดิมที่สาขาพรรคมีในการคัดเลือกผู้สมัคร ลดลงวูบเลยครับ เพราะสิ่งที่มาควบคู่กับ Primary ในแต่ละเขตก็คือความสนใจของสื่อ และการทำข่าว ถือว่า เป็นการสร้างระบบตรวจสอบในตัว ที่บังคับให้พรรคต้องเปิดเผยและเป็นพรรคที่โปร่งใสมากกว่าที่เคยเป็นเมื่อก่อน ที่ผู้ใหญ่ในพรรคไม่กี่คนมีอำนาจเลือกผู้สมัคร โดยไม่ต้องโปร่งใสกับใคร และไม่มีใครตรวจสอบได้ พอมีระบบ Primary และสื่อเข้ามาสนใจ ขั้วอำนาจเดิมต้องค่อยๆ หายไป

พอระบบการเมืองเข้าสู่ยุคโปร่งใสมากขึ้น ผ่านสายตาสื่อนั้น บทบาทของกลุ่ม นักเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Lobbyist หรือนักเคลื่อนไหวโดยทั่วไป เริ่มมีบทบาท เริ่มหาที่ยืน และเริ่มมีอำนาจมากขึ้น ที่ผู้สมัครต้องใส่ใจเพื่อหาคะแนนสนับสนุน

พอสื่อเข้ามามีบทบาท อุตสาหกรรมสื่อก็ตามมา ซึ่งหมายความว่าต่อเมื่อสื่อให้ความสนใจมากขึ้น ผู้สมัครแต่ละคนต้องหาวิธีชิงความสนใจของสื่อ และในการหาวิธีชิงความสนใจนั้นไม่ได้เป็นลมทั่วไปที่ลอยในอากาศฟรีๆ นะครับ มันต้องใช้เงิน ซึ่งผมไม่ได้หมายความว่า ใช้เงินจ่ายใต้โต๊ะ แต่มันต้องใช้เงินในการจ้างทีม จัดอีเวนต์ออกสื่อ ไม่งั้นผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เห็น แล้วไม่รู้จัก พอต้องใช้เงินเยอะ งบหาเสียงพุ่งกระฉูดตามมา จึงทำให้สภาคองเกรสออกกฎหมาย ตั้งเพดานเงินบริจาคหาเสียง

อันนั้นเป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่ม PACs ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพรรคอย่างเป็นทางการ แต่เป็นองค์กรที่รวมเงินสนับสนุนเพื่อกระจายให้กับผู้สมัครด้วยตนเองได้ เงินสนับสนุนจะใช้ในการสนับสนุนผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง หรือจะใช้เพื่อต่อต้านผู้สมัครฝั่งตรงข้ามก็ได้ เงินสนับสนุนจะสนับสนุนผู้สมัคร หรือสนับสนุน ประเด็น ก็ได้เช่นเดียวกัน ที่ผมบอกว่า “ประเด็น” ก็คือ เงิน PACs อาจทุ่มเรื่องที่ทางพรรคอยากให้ผู้สมัครทุกรายโหนเพื่อไปทิศทางเดียวกัน

ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุทำให้พรรคในสหรัฐยิ่งใหญ่น้อยลงกว่าในอดีตเยอะ แต่มันไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด แต่มันเริ่มทำให้เราเข้าใจคำถามที่ผมตั้งไว้ สัปดาห์หน้าผมเขียนต่อในเรื่องนี้ครับ เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่น่าสนใจอยู่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กินฮอตดอกไหมครับ?

กินฮอตดอกไหมครับ? ขอแจ้งครับ ถ้าแฟนคอลัมน์ท่านใดอยากอ่านบทความที่มีเนื้อหาสาระ ที่มีประเด็น ที่สมศักดิ์ศรี มาตรฐานหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์นั้น

รื้อฟื้นความทรงจำเรื่อง Wikileaks

ในที่สุด หลังใช้เวลา 14 ปีในการติดคุกในอังกฤษบ้าง ลี้ภัยในสถานทูตเอกวาดอร์บ้าง นาย Julian Assange ได้เดินทางกลับบ้าน (ออสเตรเลีย) ในฐานะ Free Man ครับ

ที่มาของ Presidential Debates

ในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ ถือว่าเป็นการริเริ่มฤดูกาลหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกาครับ เพราะในวันนั้นจะเป็นการ Debate

Thank you, Jerry West….the Logo

อีกไม่กี่วันข้างหน้า โลก (ในไทย) น่าจะหยุดหมุนชั่วคราว เรื่องชี้ชะตาอนาคตอดีตนายกฯ นายกฯ ปัจจุบัน และพรรคที่น่าจะมีว่าที่นายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

Donald Trump ยังเป็นผู้สมัครได้ไหม?

เมื่อสัปดาห์ก่อน ข่าวที่โด่งดังทั่วโลกไม่ใช่ข่าวน้องไนซ์เชื่อมจิตนะครับ ถึงแม้สังคมไทยจะติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจังก็ตาม ผมเชื่อว่าอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีเรื่องอื่นเข้ามาแทน

ทำไม Pride Month ต้องมีทุกมิถุนายน?

ขออนุญาตสวมหมวกคนขี้บ่นนิดหนึ่งครับ ในฐานะบ้านอยู่เมืองทองธานี เวลาบอกใครว่าอยู่เมืองทองฯ ส่วนใหญ่เขาจะพูดว่า “โห…ไกลจัง!!”