นั่งรถไฟไปอนุราธปุระ

ถนนหนทางในกรุงโคลัมโบมีรถตุ๊กๆ วิ่งวนทำมาหากินวันละหลายแสนคัน บางครั้งคนขับตุ๊กๆ ก็เรียกยานพาหนะของพวกเขาเองว่า “แท็กซี่” เพราะรถยนต์ที่เป็นแท็กซี่ไม่ออกมาวิ่งหาลูกค้าตามท้องถนน แต่จะรอการเรียกทางโทรศัพท์และทาง App

ซึ่งบาง App อย่าง PickMe ลูกค้าสามารถเรียกตุ๊กๆ ได้เช่นกัน โดยเฉพาะยามกลางค่ำกลางคืนที่เสร็จจากการดื่มตามผับตามบาร์และโรงแรมที่พักอยู่ห่างออกไปไม่กี่กิโล ผมเคยเรียกตุ๊กๆ ที่จอดรอผู้โดยสารในย่าน Park Street Mews ตอนเที่ยงคืนเพื่อกลับโรงแรม ตุ๊กๆ ใช้เล่ห์สารพัดจนต้องจ่ายเกินจริงไปราว 3 เท่า คราวต่อไปจะใช้ App เรียกรถอย่างแน่นอน

ตุ๊กๆ ในกรุงโคลัมโบถูกร้องเรียนเรื่องการโขกค่าโดยสารสูงเกินจริงบ่อยครั้ง จนนำไปสู่การออกกฎให้ทุกคันต้องติดตั้งมิเตอร์ค่าโดยสาร แต่มีเพียงแค่จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ปฏิบัติตาม ในการมาเที่ยวศรีลังกาหนนี้ผมเรียกใช้บริการตุ๊กๆ นับครั้งไม่ถ้วน แต่มีโชคเจอตุ๊กๆ มิเตอร์แค่ 2 หนเท่านั้น สายๆ ของวันนี้คือหนแรก

ผมเช็กเอาต์จากโรงแรมบนถนน Union Place ถามรีเซปชันถึงราคามาตรฐานรถตุ๊กๆ ไปสถานีรถไฟ Colombo Fort เขาตอบว่าไม่ควรเกิน 150 รูปี ผมจึงเตรียมเงินไว้ในกระเป๋ากางเกงเตรียมควักจ่ายง่ายๆ 190 รูปี พอเรียกตุ๊กๆ ได้ก็ถามราคา คนขับผิวดำ ตัวอ้วน ศีรษะล้าน ชี้ไปที่กล่องสีดำหน้ารถด้านซ้ายช่วงใต้หลังคา แล้วพูดว่า “มิเตอร์”

เขาไม่ชวนคุย ไม่พูดจาหว่านล้อมให้ไปนวดหรืออาสาพาทัวร์ ขับตรงไปยังสถานีรถไฟ มิเตอร์ขึ้นมา 140 รูปี ผมยื่นค่ารถให้ 190 รูปีตามที่เตรียมไว้ เขากล่าว “God bless you” ผมค่อยๆ เอากระเป๋าลงจากรถ พอสะพายได้เข้าที่ก็ถามว่า “คุณเป็นชาวคริสต์ ?” เขาตอบใช่ ผมจึงกล่าว “God bless you” กลับไปบ้าง เขาขอบใจ ผมขอให้เขาโชคดี

พวกหากินตามสถานีรถไฟคนหนึ่งเดินเข้ามาหา ทำท่าทางเหมือนอยากช่วยเหลือ บอกให้เดินตามไปยังห้องที่เขียนว่า Tourist Information ส่งถึงหน้าประตูแล้วก็เดินจากไป ข้างในห้องนี้มีเจ้าหน้าที่ 2 คน โดยที่คนหนึ่งไม่พูดไม่จา นั่งอ่านหนังสือพิมพ์อย่างเดียว อีกคนถามไถ่แผนการเดินทางของผม แล้วเขาก็กางแผนที่ขนาดใหญ่วางลงบนโต๊ะ

“จากอนุราธปุระต่อไปยังสิกิริยาไม่มีรถไฟ คุณจะเดินทางอย่างไร?” แล้วเขาก็เสนอบริการรถเช่า แต่ผมบอกว่าจะตัดสินใจทีหลัง เขาว่า “ก็แล้วแต่คุณ แค่บอกข้อมูลให้รู้ไว้” จากนั้นก็บอกให้ผมรีบเดินไปซื้อตั๋วอนุราธปุระจากห้องหมายเลข 17 “รีบไปเดี๋ยวนี้เลย รถใกล้จะออกแล้ว” นี่คือสิ่งที่ผมต้องการมากกว่าจะมารับรู้เรื่องธุรกิจไซด์ไลน์ของพวกเขา

ห้องหมายเลข 17 มีไว้สำหรับการจองระบุที่นั่ง นอกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วเข้าใจว่าคนท้องถิ่นก็ใช้บริการได้ เพียงแต่ผมเห็นแต่ชาวต่างชาติเท่านั้น ในห้องนี้มีพื้นที่โล่งเป็นส่วนใหญ่ จัดไว้สำหรับการเข้าคิว ส่วนช่องให้บริการของเจ้าหน้าที่มีอยู่ 3 หรือ 4 ช่อง

เจ้าหน้าที่ให้กรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มก่อนซื้อตั๋ว คล้ายๆ ของอินเดีย แต่ยุ่งยากน้อยกว่ามาก ไม่ต้องการชื่อ-นามสกุล ให้เขียนแค่หมายเลขพาสปอร์ต ปลายทาง ขบวนรถและเวลารถออก ตามด้วยลายเซ็น ช่องขายตั๋วปิดแผ่นพลาสติกใสทุกช่องตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เหลือไว้เพียงพื้นที่ว่างยื่นเอกสาร ยื่นเงิน และยื่นตั๋ว

ผมเช็กตารางรถไฟมาก่อนแล้วจากเว็บไซต์ eservices.railway.gov.lk รถไฟจากโคลัมโบไปอนุราธปุระมีวันละ 8 เที่ยว ที่ลงตัวต่อนิสัยตื่นสายและไม่อยากไปถึงปลายทางตอนค่ำ ก็คือรถไฟระหว่างเมือง (Intercity) ขบวน Uttara Devi หมายเลข 4017 ออกจากสถานี Colombo Fort เวลา 11.50 น. ถึง Anuradhpura เวลา 15.29 น. (ระยะทาง 205 กิโลเมตร)

รถขบวนนี้เหลือเพียงที่นั่งชั้น 3 ตั๋วราคา 400 รูปี หรือประมาณ 70 บาท เก้าอี้นั่งชั้น 3 นั้นเป็นเบาะนั่งสบายก้นสบายหลังมากกว่ารถไฟบ้านเรา ส่วนชั้น 2 จะเป็นเก้าอี้นวมปรับเอนได้ และชั้น 1 พิเศษตรงมีแอร์ ในบางเส้นทางให้บริการรถนอน หรือที่เรียกว่า Sleeper Train ด้วย

นี่คือการขึ้นรถไฟครั้งที่ 2 ในศรีลังกา ผมยังไม่เข้าใจกฎกติกา นึกว่าชั้น 3 จะนั่งตรงไหนก็ได้ เพราะเห็นผู้โดยสารรีบขึ้นไปจับจองที่นั่งทันทีที่รถไฟเข้าเทียบจอด ทั้งที่มีเวลาอีกราว 5 นาทีกว่ารถจะออก ผมเลยรีบขึ้นไปยึดที่นั่งบ้าง ตั๋วระบุ W-71 แต่ไม่ได้ระบุเลขตู้ รถวิ่งไปได้สองสามสถานี เจ้าหน้าที่มาตรวจตั๋ว เขาบอกผมนั่งผิดที่ ให้เดินถอยหลังไป 3 ตู้ เก้าอี้หมายเลข 71 ส่วน W คือ Window หรือ “ริมหน้าต่าง” (A คือ Aisle หรือ “ทางเดิน”) ตั๋วจองระบุที่นั่งจะเป็นกระดาษบางๆ ขนาดประมาณ A5 ส่วนตั๋ววัดดวงเป็นกระดาษแข็งสี่เหลี่ยมผืนผ้าแผ่นเล็กๆ เหมือนตั๋วรถไฟบ้านเราสมัยก่อน

หมายเลข 71 นี้เป็นที่นั่งหันหลังให้กับทิวทัศน์ มีความรู้สึกเหมือนถูกดึงลากมากกว่าขับเคลื่อนไปข้างหน้า คล้ายๆ นั่งรถไฟกลับบ้าน ไม่ใช่นั่งรถไฟไปสู่เมืองใหม่ ที่นั่ง 2 ฝั่งของแถวซ้ายนี้นั่งได้ฝั่งละ 3 คน แต่มีผู้โดยสารอยู่ 2 คน คือผมกับลุงชาวศรีลังกา ผมขยับไปนั่งฝั่งเดียวกับลุง รักษาระยะห่างไว้พอเหมาะ มองออกไปนอกหน้าต่าง รู้สึกดีขึ้นที่วิววิ่งเข้ามาหา ไม่ใช่วิ่งจากไป

ลุงริมหน้าต่างพูดขึ้นว่า “อยากนั่งตรงนี้ใช่ไหม” ผมตอบไปตามตรง และยกมือไหว้ แกก็ลุกไปนั่งอีกฝั่ง แบบครึ่งหลับครึ่งตื่นจนลงจากรถไฟที่สถานี Polgahawela

หนุ่มอ้วนพุงพลุ้ยลุกมาจากแถวขวา ประจำที่แทนลุง ผู้โดยสารขึ้นมาอีกหลายคนจากสถานีนี้ เพราะเป็นสถานีชุมทาง เชื่อมกับเส้นแคนดี-เอลลา มีคนมานั่งฝั่งผมอีก 2 คน ฝั่งตรงข้ามก็มีอีก 2 คนเช่นกัน หนึ่งในนั้นเป็นสาวเสื้อดำ ผิวคล้ำตามลักษณะทั่วไปของคนศรีลังกา ดวงตากลมโต เธอวางเป้ใบใหญ่ไว้บนที่วางกระเป๋าเหนือศีรษะ กระเป๋าล้อลากไว้ด้านหน้า และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กวางบนตัก ไม่อาจรู้ได้ว่าเธออาจกำลังกลับบ้าน ย้ายที่ทำงาน หรือมุ่งหน้าสู่ถิ่นฐานใหม่

ตอนที่เธอถอดหน้ากากเพื่อดื่มน้ำ ผมจึงได้เห็นใบหน้าเต็มดวง อายุคงไม่เกิน 30 ปี นี่คือผู้หญิงศรีลังกาที่สวยที่สุดตลอดการเดินทางครั้งนี้ของผม

ทิวทัศน์ตามเส้นทางรถไฟจากโคลัมโบไปยังอนุราธปุระ รวมถึงหากจะเดินทางขึ้นเหนือต่อไปยังจาฟฟ์นาให้ภาพออกมาคล้ายๆ กันคือ นาข้าวที่เวลานี้มีน้ำขังอยู่หลายพื้นที่ เพราะฝนตกหนักช่วงสิบกว่าวันก่อน นกกระยางขาวหากินอยู่เต็มไปหมด บางช่วงเป็นบึงบัว เจดีย์สีขาวและพระพุทธรูปองค์โตเห็นแต่ระยะไกล สวนกล้วยทยอยมาให้เห็นไม่ขาดสาย พ้นเขตทุ่งนาและสวนกล้วยก็จะเป็นต้นไม้หนาแน่นขึ้นอยู่ติดกับทางรถไฟ ต้นมะพร้าวมีอยู่ทุกช่วง เรียกว่ามะพร้าวไฟ (King Coconut) ลูกออกสีเหลืองทอง ช่วงที่ใกล้ชุมชนจะมีไม้ดอกที่ชาวบ้านปลูกไว้ ล้วนแล้วแต่คล้ายกับดอกไม้บ้านเรา เมื่อมองรวมๆ ก็ให้ความรู้สึกเหมือนนั่งรถไฟในเมืองไทย เพียงแต่รู้สึกว่าแมกไม้ศรีลังกาเหมือนจะเขียวขจีกว่าบ้านเราอยู่นิดหน่อย

ที่พักของผมที่จองไว้อยู่ในอนุราธปุระเขตเมืองใหม่ (New Town) ผมดูแผนที่กูเกิลพบว่าในเขตเมืองใหม่นี้มีสถานีรถไฟ Anuradhapura New Town ตั้งอยู่ด้วย จึงถามสาวตาโต (คาดว่าเธอน่าจะพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคนอื่นๆ ที่นั่งอยู่ด้วยกัน) ว่ารถไฟจะจอดที่สถานี New Town หรือไม่ เธอตอบว่าไม่น่าจะจอด ผมถามต่อว่าแล้วสถานีของเธออยู่ที่ไหน เธอตอบ Kankesanthuraiปลายทางของขบวนในเมืองจาฟฟ์นา สถานีเหนือสุดของประเทศศรีลังกา

ถูกของเธอ รถไฟแบบ Intercity ไม่จอดที่สถานี New Town ความจริงสถานีนี้เป็นสถานีเล็กๆ มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเล็กน้อย ส่วนสถานี Anuradhpura ที่ผมลงเป็นสถานีขนาดค่อนข้างใหญ่ รถไฟเที่ยวนี้เข้าเทียบตรงเวลา และรถไฟศรีลังกาโดยทั่วไปถือว่าพอไว้ใจได้ในเรื่องนี้

พวกคนขับตุ๊กๆ วิ่งเข้ามาส่องจากทางหน้าต่างอย่างแข็งขันตั้งแต่รถไฟยังจอดไม่สนิท กวาดสายตาหาผู้โดยสารที่คิดว่าเป็นชาวต่างชาติ พอผมลงจากรถไฟก็รู้ทันทีว่ามีคนเดินตาม เขาไม่ผลีผลามเสนอหน้า รอให้ผมคืนตั๋วแก่เจ้าหน้าที่ตรงประตูทางออก จากนั้นก็พูดขึ้นว่า “เฮลโล”

เป็นเฮลโลที่ดูไม่ตอแยหรือคุกคาม ผมแกล้งไม่ได้ยิน เดินตรงไปหน้าสถานีบริเวณที่บรรดาตุ๊กๆ จอดอยู่ เขาเฮลโลอีกครั้ง แล้วเข้ามาใกล้ “คุณเป็นคนจีนใช่มั้ย หรือว่าญี่ปุ่นล่ะ?”

ผมบอกชื่อพี่พักซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร เขาเสนอราคา 400 รูปี ผมต่อเหลือ 200 เขายอมที่ 250 ระหว่างทางเขาเสนอให้ไปเที่ยว “มหินตเล” สถานที่กำเนิดพุทธศาสนาในศรีลังกาเมื่อกว่า 2,300 ปีก่อน เขาว่าควรไปก่อนพระอาทิตย์ตก จะได้ภาพถ่ายที่งดงามยิ่ง

ถึงที่พักผมใช้สูตรเดิม ขอเบอร์โทร.ไว้แล้วบอกว่าวันนี้เพลียมากยังไม่อยากไป หากพรุ่งนี้พร้อมแล้วจะโทร.หา ผมเกือบลืมให้ค่าโดยสาร เขาบอกว่า “ไม่เป็นไร ค่อยจ่ายพรุ่งนี้ก็ได้” เมื่อได้ยินคำนี้ ผมยิ่งต้องรีบจ่าย

Marathona Tourist Resort เป็นบ้านหลังใหญ่ ขนาด 3 ชั้น สร้างห้องพักไว้หลายห้องเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งที่มาเป็นครอบครัวและมาเดี่ยวๆ อย่างผม ต้นขนุนหน้าบ้านกำลังออกลูกโตเกือบสุกหลายลูก เป็นความเชื่อของคนศรีลังกาว่าปลูกต้นขนุนไว้หน้าบ้านจะส่งผลดี มีโชคมีลาภ ส่วนที่เมืองไทยบ้านเรานิยมปลูกไว้หลังบ้านมากกว่า ถือเป็นต้นไม้มงคลชนิดหนึ่งเหมือนกัน

ไม่กี่เดือนก่อน รีสอร์ตแห่งนี้เคยเป็นที่พักของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อรอดูอาการโควิด-19 วันที่ผมเข้าพักไม่มีการกักตัวแล้ว และไม่มีแขกคนอื่นเลย มิสเตอร์เสนาผู้เป็นเจ้าของบอกว่าผมคงจะเป็นแขกคนสุดท้ายของปีนี้ เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงเดินทางมาอนุราธปุระน้อยอยู่ แกจึงวางแผนปิดปรังปรุงชั่วคราว

ผมปรึกษามิสเตอร์เสนาเรื่องหาจักรยานเช่าเพื่อปั่นชมเมืองโบราณอนุราธปุระในวันรุ่งขึ้น แกแย้งว่าจะเสียเวลา สับสนทิศทาง และวันเดียวอาจะเที่ยวไม่ครบ แกโทรศัพท์หาตุ๊กๆ ที่ไว้ใจได้มาเจรจากันถึงที่ ลุงคนนี้ชื่อ “วสันตรา” เสนอราคาพาชมเมืองโบราณ 3,000 รูปี ผมตอบตกลง

รีสอร์ตตั้งอยู่ใกล้กับทะเลสาบ Kumbichchan Kulama ตอนเย็นผมออกไปเดินเล่นริมฝั่ง แล้วเลยเข้าตัวเมืองใหม่อนุราธปุระที่ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร ความจริงคำว่าเมืองใหม่นี้ก็คือเมืองแห่งเดียวของอนุราธปุระ ส่วนเมืองเก่าก็คือเมืองเก่า ไม่ใช่แหล่งชุมชนและย่านธุรกิจ

ตัวเมืองใหม่ตั้งอยู่ 2 ฝั่งของถนน Maithripala Senanayake Mawatha มีขนาดเท่ากับตัวอำเภอหนึ่งในจังหวัดขนาดกลางของบ้านเรา ถนนเส้นหลักที่เชื่อมระหว่างเมืองอยู่ในสภาพดี แต่ในซอยย่อยๆ เป็นหลุมเป็นบ่อ เพราะก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ตัวเมืองโดยรวมถือว่าไม่สกปรก-ไม่สะอาด อยู่ในเกณฑ์พอใช้ มีกลิ่นเหม็นพอประมาณในย่านตลาดสด

ที่มีขนาดใหญ่และดูคึกคักมากคือสถานีขนส่งโดยสาร เรียกว่า Bus Stand และ Bus Stand ของเมืองอนุราธปุระเป็นเหมือนชุมทางที่รับและส่งผู้โดยสารทั่วสารทิศ ทั้งโคลัมโบ แคนดี และจาฟฟ์นา รถบัสที่เห็นมีเพียงประเภทเดียว คือบัสชั้นเดียวเปิดหน้าต่าง รูปร่างคล้ายรถเมล์ร้อนบ้านเรา มีสีฟ้าขาวและสีแดง ไม่ผลิตโดยบริษัท Tata Motor ก็ Ashok Leyland สองยักษ์ใหญ่จากอินเดีย

ใกล้ๆ กับ Bus Stand มีร้านชื่อ Beer Pub ตั้งอยู่ ผมดูในแผนที่ซึ่งมีภาพประกอบ บรรยากาศใช้ได้ แต่พอมาถึงพบเป็นห้องแถวเล็กแคบ ต้องขึ้นชั้น 2 และดูมิดชิด จึงไม่กล้าเข้าไปเพราะไม่อยากเสี่ยงโควิด ตอนเดินออกมาเห็นคนชกกันริมถนน ลุงขับตุ๊กๆ ดวลกับหนุ่มรุ่นลูก ลุงตัวใหญ่กว่าและออกไปทางอ้วนลงพุง ชกไปชกมาเสียท่าให้หนุ่มตัวผอมจนถึงขั้นผ้าถุงหลุด ต้องยอมแพ้ รวบผ้าถุงเข้าเอวผูกปมเสร็จก็ขับตุ๊กๆ ออกไป ส่วนหนุ่มตัวผอมค่อยๆ ก้มลงเก็บหน้ากากอนามัยประมาณ 5 ชิ้นกลับขึ้นมาสวมทีละชิ้นจนครบ เป็นไปได้ว่าลุงอ้วนหมั่นไส้ที่ชายผอมสวมหน้ากากมากชั้นเกินไป และการปะทะคารมได้ยกระดับเป็นการออกอาวุธ

ผมเดินลัดเข้าซอยกลับไปยังทะเลสาบ เดินไปตามทางเดินและทางวิ่งออกกำลังกายริมน้ำ พระอาทิตย์กำลังจะตก มีจุดนั่งพักหลายจุด เงียบสงบกำลังดี เดินไปไกลพอสมควรกว่าจะหาทางตัดเข้าถนนเส้นที่ผ่านที่พักได้ ระหว่างทางเจอร้านอาหารชื่อ BRO Restaurant ไม่มีลูกค้าอยู่ในร้าน หนุ่มเจ้าของยิ้มแย้มอารมณ์ดี ไว้เคราดกงาม พูดภาษาอังกฤษได้ไม่มาก ผมสั่งไก่ทอดกรอบ และเผลอสั่งเบียร์ เขาบอกว่าไม่มีขาย ต้องไปซื้อจากร้านได้รับอนุญาตที่เขียนว่า Wine Store และพอนั่งโต๊ะปุ๊บยุงเข้ามารุมกัดทันที ผมเลยขอให้เขาใส่ห่อ

หม้อดินวางซ้อนเป็นชั้นๆ เรียงกันอยู่ในร้านไม่ต่ำกว่า 300 ใบ นี่คือภาชนะใส่อาหารสำหรับลูกค้าที่สั่งกลับบ้านโดยไม่คิดเงินเพิ่ม ปิดปากหม้อด้วยถุงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ง่าย เป็นไอเดียลดโลกร้อนที่เขาพยายามอธิบายด้วยภาษาอังกฤษที่จำกัด แต่ผมเข้าใจได้อย่างดี

จ่ายเงิน 750 รูปีแล้วสัญญากับหนุ่มเครางามว่าเย็นพรุ่งนี้จะมานั่งกินที่ร้าน ก่อนฝูงยุงจะเข้าประจำการ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกรงว่าคำอวยพรปีใหม่จะไม่จริง

เวลาที่เรากล่าวคำอวยพรให้ใครๆ เราก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าพรของเราจะเป็นจริง ถ้าหากเราจะเอาเรื่องอายุ วรรณะ สุขะ พละ มาอวยพร โดยเขียนเป็นโคลงกระทู้ได้ดังนี้

แด่...ไพบูลย์ วงษ์เทศ

ถึงแม้จะช้าไปบ้าง...แต่ยังไงๆ ก็คงต้องเขียนถึง สำหรับการลา-ละ-สละไปจากโลกใบนี้ของคุณพี่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักเขียน นักกลอนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

กร่าง...เกรี้ยวกราด...ฤากลัว

ใครบางคนตำแหน่งก็ไม่มี สมาชิกก็ไม่ใช่ แต่แสดงบทบาทยิ่งใหญ่กว่าใครๆ เหมือนจงใจจะสร้างตำแหน่งใหม่ที่คนไทยต้องยอมรับ และดูเหมือนเขาจะประสบความสำเร็จเอาเสียด้วย

คำอวยพรปีใหม่ 2568

ใกล้ถึงช่วงปีหน้า-ฟ้าใหม่ยิ่งเข้าไปทุกที...การตระเตรียมคำอำนวย-อวยพรให้กับใครต่อใครไว้ในช่วงวาระโอกาสเช่นนี้ อาจถือเป็น หน้าที่ อย่างหนึ่ง

ก้าวสู่ปีใหม่ 2568

สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนธันวาคม 2567 อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2568 "สวัสดีปีใหม่" ปีมะเส็ง งูเล็ก