หัวดำหัวหงอก เอาไปตะแบงกันใหญ่
โจมตีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุให้ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายวิธีอื่นว่าคือการปิดปากประชาชน
ไม่ให้มีการแสดงความเห็น ห้ามชุมนุม การจัดกิจกรรม การรณรงค์เกี่ยวกับ ม.๑๑๒
จากนี้ไปห้ามแตะ ม.๑๑๒
ไปไกลแล้วครับ...
มีทั้งขึงป้ายข้อความ พูดถึงไม่ได้ก็ไม่ต้องมี
แชร์กันในโซเชียลว่า ต้องการแก้ไขเพื่อไม่ให้โดนกลั่นแกล้ง...กลายเป็นโดนตีความว่า...ล้มล้าง...
หรืออย่าง ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า
"นักข่าวถามว่าจะอธิบายให้นักศึกษาฟังยังไง ตอบไปว่าไม่ต้องอธิบายอะไร เพราะนักศึกษากฎหมายใช้ความรู้แค่ปีหนึ่งก็วินิจฉัยเองได้"
หลายคนไม่เข้าใจเพราะไม่ใส่ใจว่ารายละเอียดของคำวินิจฉัยเป็นอย่างไร ในโซเชียลว่าไง ก็ว่าตามๆ กันไป
บางคนเข้าใจ แต่ไม่อยากจะเข้าใจ เพราะมีธงตั้งแต่แรกว่า "พิธา" กับพรรคก้าวไกล ไม่ผิด
ย้ำอีกทีนะครับ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามพูดถึง หรือแก้ไข ม.๑๑๒
แต่ห้ามในแบบที่พรรคก้าวไกลแก้ไข เพราะเนื้อหามันล้มล้างการปกครอง
ย้อนประวัติศาสตร์กฎหมายไทยไปตั้งแต่ยุค "กฎหมายตราสามดวง" ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยชำระกฎหมายต่างๆ จากยุคอยุธยา
กฎหมายฉบับนี้ระบุถึงประเด็นความผิด "ติเตียนว่ากล่าวพระเจ้าอยู่หัว" อยู่ในมาตรา ๗๒ บุคคลดังกล่าวต้องถูกลงโทษสถานหนักคือ
"การประหารชีวิต"
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการออก พ.ร.ก.ลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.๑๑๘
มาตรา ๔ ระบุถึงความผิดในการหมิ่นประมาทพระเจ้าแผ่นดินเอาไว้
มีการบัญญัติโทษจำคุกเป็นครั้งแรก คือไม่เกิน ๓ ปี และปรับเป็นเงินไม่เกินกว่า ๑,๕๐๐ บาท ซึ่งเป็นค่าเงินเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีที่แล้ว
หรือทั้งจำทั้งปรับ
รัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังมีการปฏิรูปกฎหมายใหม่ นำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗
เป็นต้นธารของประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบัน มีการเพิ่มคำว่า "แสดงความอาฆาตมาดร้าย" ดูหมิ่น หรือประทุษร้ายพระมหากษัตริย์เอาไว้ด้วย
มีโทษตั้งแต่จำคุก ๓-๗ ปี ปรับ ๑,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ รัฐบาลคณะราษฎรมีการยกเลิกข้อกฎหมายเกี่ยวกับหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท
มีการแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ อย่างน้อย ๒ มาตรา ได้แก่
๑.ยกเลิกมาตรา ๑๐๐ ที่กำหนดความผิดฐานแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด
๒.แก้ไขมาตรา ๑๐๔ (๑) เป็น "ผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ดังต่อไปนี้ ก) ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชนก็ดี... ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่า ๗ ปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง
แต่ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรืออุบายอย่างใดๆ ที่ได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด"
ต่อมาในปี ๒๔๙๙ มีการตราประมวลกฎหมายอาญา ปรากฏมาตรา ๑๑๒ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก
ลักษณะข้อความเหมือนกับมาตรา ๑๑๒ ในปัจจุบันทุกประการ
ยกเว้นแต่บทลงโทษที่ปี ๒๔๙๙ ระบุว่า ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๗ ปี
มาตรา ๑๑๒ ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๔๙๙ นี้ ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายและกว้างขวางในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ต่อมาเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ คณะรัฐประหาร ที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ การแก้ไขเพิ่มโทษมาตรา ๑๑๒ คือจำคุกตั้งแต่ ๓-๑๕ ปี และมีผลบังคับใช้มาถึงปัจจุบัน
หลังจากนั้นมีความพยายามจะแก้ไข ม.๑๑๒ กันมาตลอด
ในปี ๒๕๕๑ พรรคประชาธิปัตย์ชูประเด็นการแก้ไข เพิ่มการคุ้มครองไปที่ "พระบรมราชวงศ์"
เพิ่มลักษณะความผิดไปด้วยว่า "กระทำด้วยประการใดๆ ที่สื่อหรือส่อความหมายได้ในลักษณะดังกล่าว"
เพิ่มโทษขั้นสูงที่ ๒๕ ปี
และปีเดียวกันนี่เอง พรรคพลังประชาชน เสนอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดบทลงโทษผู้ที่รู้ถึงการกระทำความผิดตาม ม.๑๑๒
โดยเพิ่ม ม.๑๑๒/๑ และบัญญัติว่า
"...ผู้ใดรู้ว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ไม่นำความเข้าแจ้งต่อพนักงานสอบสวน แต่กลับนำความไปกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายต่อหน้าธารกำนัลหรือประชาชนว่ามีการกระทำความผิดเช่นนั้นเกิดขึ้น เพื่อหวังผลทางการเมืองโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๒ นั้น..."
จะเห็นว่ากฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์นั้นมีมาอย่างยาวนาน และเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้ง รวมทั้งการเสนอแก้ไข แต่ไม่สำเร็จ ก็เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เพียงแต่ไม่มีเนื้อหาในเชิงล้มล้างแบบที่พรรคก้าวไกลเสนอ
หากในระยะเวลาอันใกล้มีพรรคการเมืองเสนอแก้ไข ม.๑๑๒ ด้วยเหตุผล เพื่อไม่ให้มีการนำไปใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง ด้วยการตีวง "ผู้ฟ้อง" ให้แคบลง แต่ไม่ใช่สำนักพระราชวัง หรือพระมหากษัตริย์เอง อย่างที่พรรคก้าวไกลเสนอ
ประเด็นนี้ก็จะนำไปสู่การถกเถียงว่า ใครควรเป็นผู้ฟ้อง
รวมทั้งการเสนอลดโทษในระดับที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ลงโทษเท่าคดีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ก็นำไปสู่การถกเถียงเช่นกันว่า โทษที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่
หรือปัจจุบันเหมาะสมแล้ว
ทั้ง ๒ กรณีข้างต้น ไม่อาจตีความว่าเป็นการล้มล้างการปกครองอย่างแน่นอน
เพราะเป็นการขอแก้ไขตามกระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เบื้องหลังผู้ลี้ภัย
เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี
วันนี้ของ "วันนอร์"
ไม่ค่อยได้เขียนถึง "อาจารย์วันนอร์" สักเท่าไหร่ เพราะไม่มีเหตุให้ต้องวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่ฉายา “รูทีนตีนตุ๊กแก” ที่นักข่าวรัฐสภาตั้งให้ ก็ยังแอบเคืองแทน หาว่ากอดเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ แน่น