สภาพัฒน์ฯ ย้ำแจกเงินหมื่น มีความเสี่ยงหลายด้าน

ความเห็นจากหน่วยราชการในกระทรวงการคลังหลายแห่งมีข้อหนึ่งที่ตรงกันคือไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet

เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารที่รวบรวมโดยคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล เรื่องนี้ที่มี สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานฯ ที่แต่งตั้งโดย ป.ป.ช.

ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจไทยอยู่ในจุด “วิกฤต” หรือไม่คือคำถามใหญ่ ความเห็นจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติย้ำว่า “ยังไม่เห็นสัญญาณ‘วิกฤตเศรษฐกิจ”

ก่อนที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะออกคำคาดการณ์มาเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจีดีพีของประเทศสำหรับปี 2566 จะอยู่ที่ 1.8% สภาพัฒน์ฯได้รายงานว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ.2566 รวมถึงแนวโน้มในปี พ.ศ.2567 จะมีการขยายตัว1.5 ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2/2566 ที่ขยายตัว 1.8%รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1.9

โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัวในเกณฑ์สูง รวมถึงการลงทุนของเอกชนมีการขยายตัวต่อเนื่อง ในส่วนการส่งออกและการอุปโภคบริโภคของรัฐบาลและการลงทุนของภาครัฐมีการปรับตัวลดลง ส่วนแนวโน้มของปี พ.ศ.2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ 2.5 เนื่องจากการอุปโภคบริโภคยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี การท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวขึ้น การลงทุนภาคเอกชนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สำนักข่าวอิศราเสนอรายงานชิ้นนี้จากเอกสารของคณะทำงานของ ป.ป.ช.ว่า “สภาพัฒน์ฯ” วิเคราะห์ว่า

ข้อจำกัดที่เป็นความเสี่ยงสำคัญ คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดภาคการส่งออกสินค้าและภาคการผลิต  รวมถึงระดับหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์สูง รวมถึงการแปรปรวนของสภาพอากาศซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าของภาคเกษตรได้

สำหรับในปี พ.ศ.2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวดีขึ้นจากปี พ.ศ.2566 โดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง ร้อยละ 2.7-3.7 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ ร้อยละ 3.2

โดยคาดว่าในปี พ.ศ.2567 การส่งออกจะกลับมาขยายตัวขึ้นจากที่ติดลบในปี พ.ศ.2566 ซึ่งจะส่งผลให้การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

แต่ข้อจำกัดที่มีความน่ากังวล คือ แรงขับเคลื่อนด้านการคลังยังมีข้อจำกัดอยู่ ภาคหนี้สินของครัวเรือนและภาคธุรกิจอยู่ในเกณฑ์สูง ปัญหาภัยแล้งและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลกยังเป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ

ที่สำคัญคือประเด็นเรื่องเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ “วิกฤต” หรือไม่ สภาพัฒน์ฯ ระบุชัด ๆ ว่า “ในปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณของวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศใด

“เพราะการที่จะนับว่าเป็นวิกฤติเศรษฐกิจได้นั้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องมีการติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน 

“ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีภาวะการชะลอตัวของหลายๆ ประเทศในยุโรป เช่น ประเทศเยอรมันก็ยังติดลบเพียงไตรมาสเดียว หรือประเทศสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจก็ยังขยายตัวได้ดีขึ้นในไตรมาสที่ 3”

ไม่แต่เท่านั้น รายงานสภาพัฒน์ฯยังบอกว่า “นอกจากนี้ ยังพบว่าเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว ร้อยละ 8 เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส 

“และขยายตัวเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดบริการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง ร้อยละ 15 สอดคล้องกับการกลับมาฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัว ร้อยละ 4 หมวดกึ่งคงทนขยายตัว ร้อยละ 1 และหมวดสินค้าคงทน เช่น ยานยนต์ยังขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง”

เลขาธิการฯสภาพัฒน์ฯเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สภาพัฒน์ฯชี้แจงว่าหากคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการแล้ว จะไม่อยู่ในขอบข่ายหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการของสำนักงานสภาพัฒน์ฯ อีกต่อไป

และหน้าที่ของการติดตามประเมินผลน่าจะอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการประเมินผล ซึ่งเห็นว่าควรจะประกอบด้วยหน่วยงานภายนอกและกระทรวงการคลัง

แต่ถึงวันนี้โครงการนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องของวงเงิน ประเภทของสินค้าและบริการที่จะสามารถใช้จ่ายได้ ระยะเวลาการดำเนินงาน หรือแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการในความเห็นของสภาพัฒน์ฯนั้นหากพิจารณาเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และแนวโน้มในปีหน้า จะเห็นว่าสถานการณ์ทางด้านการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี

หากจะมีการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติม จากการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ ในขณะที่ประเทศยังมีข้อจำกัดด้านความเสี่ยงทางการคลัง

“โดยการนำเงินภาครัฐมากระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ถึงแม้จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นแต่จะเป็นการเพิ่มขึ้นในระยะสั้น หากในปีถัดไปไม่มีมาตรการมากระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีความเสี่ยงที่ตัวเลขจะลดลงไปอีก”

รวมถึงระดับหนี้สาธารณะซึ่งกำหนดกรอบเพดานอยู่ที่ ร้อยละ 70 ของ GDP ซึ่งปัจจุบันปี พ.ศ.2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 63 และคาดว่าปี พ.ศ.2567 อยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 64

หากมีมาตรการตามนโยบายดังกล่าวเข้ามาจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบถึงการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของต่างประเทศในด้านเสถียรภาพทางด้านการคลังของประเทศ

รายงานของสภาพัฒน์ฯเห็นว่าหากพิจารณาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจจะเห็นว่าการบริโภคขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี และการกระตุ้นด้วยการบริโภคก็อาจจะก่อให้เกิด “ความเสี่ยงด้านอื่น ๆ” ได้

เช่น ความเสี่ยงทางการคลัง ประกอบกับปัจจัยความเสี่ยงในอนาคตค่อนข้างจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว 

เช่น การสู้รบในประเทศอิสราเอล ซึ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถผ่านพ้นภาวะวิกฤตมาได้เนื่องจากเรามีพื้นที่ทางการคลังอยู่พอสมควร

และถึงแม้แนวทางการดำเนินงานตามนโยบาย Digital Wallet จะยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร แต่ทางสำนักงานสภาพัฒน์ฯก็ลองนำงบประมาณตามโครงการดังกล่าว จำนวน 5 แสนล้านบาท มาคำนวณคร่าวๆ แล้ว

ปรากฏว่าจะส่งผลให้ปี พ.ศ. 2567 ค่า GDP เพิ่มขึ้น 0.7-0.8 แต่จะลดลงในปี พ.ศ.2568 เพราะแรงกระตุ้นที่ไม่ต่อเนื่อง สภาพัฒน์ฯจึงเห็นว่า หากนำเงินที่จะใช้ในการดำเนินนโยบายดังกล่าวมาเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง อาจจะมีความเหมาะสมกว่าตามบริบทโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน ศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ที่ ร้อยละ 3.2-3.5

แต่หากต้องการยกระดับการเจริญเติบโตให้มากขึ้นกว่านี้ สิ่งที่ต้องทำ คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตในระยะยาว ได้แก่ การปรับเปลี่ยนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในภาคการผลิต รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตให้สูงขึ้น ทั้งภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม

ส่วนภาคการท่องเที่ยวต้องมีการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักแรมในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น รวมถึงการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้น 

ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และสามารถยกระดับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ในระยะยาว

อ่านรายงานนี้ของสภาพัฒน์ฯแล้วก็เห็นได้ชัดว่าไม่เห็นด้วยกับการกู้เงิน 5 แสนล้านมาแจก แต่หากรัฐบาลจะเดินหน้าต่อไปก็เป็นความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรีเอง นี่คือจุดยืนของสภาพัฒน์ฯที่มีความละม้ายกับของแบ็งก์ชาติที่กำลังเป็นประเด็นกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ยืนยันว่า “ไม่มีใครขัดขวางรัฐบาลที่จะทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อประชาชน”!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ