กู้ 5 แสนล้านมาแจกจะลด ‘พื้นที่ทางการคลัง’ สำหรับกิจกรรมเศรษฐกิจอื่น

 เนื้อหาสาระจากรายงานหนา 177 หน้าของคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลที่จะเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital  Wallet ที่มี สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธาน ตั้งโดย ป.ป.ช. นั้น ลงลึกไว้อย่างสนใจยิ่ง

สำนักข่าวอิศราเปิดเผยรายงานการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานของรัฐ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง, สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.),  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ ผ่านการประชุมร่วมกัน

ส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) นั้น เน้นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ  พ.ศ. 2561 มาตรา 53

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจะดำเนินการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการดังกล่าว จะต้องคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องดำเนินโครงการดังกล่าวโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่อง  เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ เนื่องจากการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน

ในการนี้ สบน.ได้มีการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง (Medium Term Fiscal Framework) สำหรับปีงบประมาณ 2567-2570 ฉบับทบทวน ซึ่งไม่รวมโครงการ Digital Wallet

คาดว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 จะมีหนี้สาธารณะ 12,089,379 ล้านบาท และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่เป็นการคำนวณตามปีงบประมาณ (Fiscal Year) 18,890,700 ล้านบาท โดยจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP คิดเป็นร้อยละ 64

นั่นหมายความว่า จะมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) เหลืออีกร้อยละ 6 คิดเป็น 1,134,111 ล้านบาท

กรณีที่มีการออกพระราชบัญญัติกู้เงินเป็นจำนวน  500,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 และหากมีการใช้จ่ายในปี 2567 จะนับเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มทั้งจำนวน คิดเป็นร้อยละ 2.65 ของ GDP (500,000/18,890,700*100  = 2.65%) ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 เพิ่มจากร้อยละ 64 เป็นร้อยละ 66.65

จึงมี Fiscal Space เหลืออีกร้อยละ 3.35  (70-66.65) คิดเป็น 633,507.45 ล้านบาท

เป็นผลให้มี Fiscal Space ลดลง แต่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังที่ร้อยละ 70 สามารถรองรับกรณีที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนมาตรการทางการคลัง การลงทุน ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างจำกัด

โดย สบน.จะทำการกู้ผ่านการออกตราสารหนี้ประเภทต่างๆ เช่น ตั๋วเงินคลัง, พันธบัตรรัฐบาล, พันธบัตรออมทรัพย์, ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเงินกู้จากธนาคาร ซึ่งเป็นแหล่งเงินภายในประเทศเป็นสำคัญ เพื่อนำมาสนับสนุนการดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ การกู้เงินในแต่ละครั้งจะพิจารณาถึงความจำเป็นในการกู้เงิน ความพร้อมของโครงการ ตลอดจนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะตลาดการเงินทั้งในและต่างประเทศ และจะประกาศผลการกู้เงินในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 16  พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548)

โดยประกาศดังกล่าวจะระบุรายละเอียดผลการกู้เงินของรัฐบาล ซึ่งครอบคลุมถึงวัตถุประสงค์การกู้เงิน จำนวนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายระยะเวลาการชำระเงินต้นคืน เป็นต้น

รวมทั้งมีการเผยแพร่ประกาศดังกล่าวในเว็บไซต์ของ สบน. เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม สบน.ได้อธิบายว่า Bond supply ที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะที่ผ่านมา ประเทศมี funding need  ปริมาณสูงจากการกู้เงินและการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงทำให้ funding need อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านกว่าบาทในปี 2567

ซึ่งหมายถึงการก่อหนี้ใหม่ และจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการกู้ระยะสั้น ส่งผลกระทบต่อตลาดของการระดมเงิน และอัตราดอกเบี้ยปรับตัวตามสถานการณ์ของภาวะเศรษฐกิจโลก

ดังนั้น สบน.จึงคาดการณ์การกู้เงินในการดำเนินโครงการดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะได้โดยการปรับโครงสร้างหนี้เดิม

โดยอัตราดอกเบี้ยจากการกู้ที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.67 สำหรับการกู้เพื่อมาดำเนินโครงการดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในเงื่อนเวลาสำหรับการชำะหนี้ ดังนั้น สบน. จึงไม่สามารถประมาณการอัตราดอกเบี้ยชำระคืนได้อย่างชัดเจน

ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) นั้นแจ้งว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังไม่ได้มอบหมายหน่วยงานใดในกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

ประกอบกับการตราพระราชบัญญัติกู้เงินต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน โดยมีการมอบหมายหน่วยงานสำหรับภารกิจต่างๆ ดังนี้

-กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ประเมินผลก่อนการดำเนินโครงการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

-กรมบัญชีกลาง ทำหน้าที่ในการเบิกจ่ายเงิน

-กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่รับลงทะเบียนร้านค้า โดยมีวัตถุประสงค์ของนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

โดยสรุป คือ เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง กระจายไปทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ซึ่งรัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี และเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้แก่ประเทศ  รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใสให้กลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล ซึ่งมีการมอบหมายให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดทำระบบ (Service Provider) สำหรับโครงการ โดยนำแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” มาพัฒนาต่อยอด

รวมถึงมีการพิจารณานำเทคโนโลยี Blockchain  มาดำเนินการ

รวมถึงกำหนดให้มีการยืนยันตัวตนและตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการให้ตรงกับเงื่อนไขที่กำหนด  ก่อนที่จะได้รับสิทธิภายใต้โครงการ

ประชาชนทุกคนต้องยืนยันตัวตนผ่านสมาร์ทโฟนก่อนเข้าร่วมโครงการ โดยกรมการปกครองจะตรวจสอบสถานะบุคคลและที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของผู้ใช้สิทธิ

นอกจากนี้ มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ

สำหรับประเด็นทางกฎหมายที่พึงระมัดระวัง เห็นควรคำนึงถึงมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2560 ที่กำหนดว่า การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย  กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ ตลอดจนประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับความคุ้มค่า

และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ ตามมาตรา 7 ประกอบกับ มาตรา 9  แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

 ประเด็นเศรษฐกิจและผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินการคลัง จากการดำเนินโครงการควรพิจารณาจาก

 (1) สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ณ ช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการ ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศแสดงทิศทางชะลอตัวลง การดำเนินโครงการย่อมส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และส่งผลให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น

ในทางกลับกัน หากเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง การดำเนินโครงการเพิ่มเติมอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออัตราเงินเฟ้อ และกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริงได้

 (2) สภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ หากตลาดตราสารหนี้มีสภาพคล่องตึงตัว การกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อดำเนินโครงการ อาจทำให้รัฐบาลต้องกู้ยืมเงินในต้นทุนที่สูงเกินความจำเป็น รวมถึงอาจเกิดการแย่งสภาพคล่องกับภาคเอกชนที่ต้องการระดมทุน และส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนด้วยเช่นกัน

 (3) ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในอนาคต หากรัฐบาลพิจารณาแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ในอนาคตควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการ จะทำให้รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอในการชำระหนี้ในอนาคตได้ โดยไม่กระทบต่อรายจ่ายที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต เช่น รายจ่ายสวัสดิการหรือรายจ่ายลงทุน

ข้อดีของการดำเนินนโยบายที่มีลักษณะเป็นการโอนเงินโดยทั่วไป คือ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภาคเอกชนได้อย่างทันท่วงทีและเห็นผลเร็ว และสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ตามความเหมาะสม

ส่วนข้อเสียของการดำเนินนโยบายในลักษณะข้างต้น คือ ผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจมีผลบวกในระยะสั้นและลดลงในระยะต่อไป

และในข้อเท็จจริงหากกระตุ้นผ่านการบริโภค ประชาชนอาจตัดสินใจที่จะเก็บเป็นเงินออมบางส่วนในส่วนที่ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ หรือซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศบางส่วน ทำให้ผลการกระตุ้นเศรษฐกิจของโครงการลดลง

ในขณะที่ข้อดีของการดำเนินนโยบายที่มีลักษณะเป็นการลงทุนทั่วไป คือ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของด้านการผลิตในระยะยาว อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพ ดิจิทัล และหรือบุคลากร เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการลงทุนจะมีผลเชิงบวกในระยะยาว แต่ก็มีข้อจำกัดในด้านของระยะเวลาในการดำเนินการที่อาจจะมีความล่าช้า อันเนื่องจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการเตรียมแผน การลงทุน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ