นโยบายกู้มาแจก: หน่วยงานรัฐ ยังไม่รู้ว่าใครต้องทำอะไร

ถ้าได้อ่านเอกสาร 177 หน้า ที่คณะทำงานของ ป.ป.ช. รวบรวมความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อย

เนื้อหาสาระจากที่คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลที่มี สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานฯ ที่ตั้งโดย ป.ป.ช. นั้นลงลึกอย่างสนใจยิ่ง

เพราะมีการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานของรัฐ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ ผ่านการประชุมร่วมกัน

รวมถึงการจัดทำหนังสือขอข้อมูล ข้อเท็จจริง และเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานดังกล่าว

สำนักข่าวอิศราให้รายละเอียดความคิดเห็นของหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการคลัง 4 หน่วยงาน

ได้แก่ กรมสรรพากร กรมบัญชีกลาง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่

 กรมสรรพากรให้ความเห็นส่วนของกระบวนการทางภาษีหรือระบบทางภาษี จะสามารถป้องกันการทุจริตระหว่างร้านค้ากับประชาชนที่ได้รับเงินแล้วอย่างไร

การทุจริตในที่นี้หมายถึงการซื้อขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

กรมสรรพากรแจ้งว่าไม่ทราบแน่ชัดว่าการทุจริตจะเกิดขึ้นในขั้นตอนใด

เพราะรูปแบบการดำเนินตามนโยบาย Digital Wallet ไม่มีความชัดเจน

กรมสรรพากรชี้แจงว่ามีหน้าที่และอำนาจเพียงแค่พิสูจน์รายได้เท่านั้น

แต่หากผู้เสียภาษีมีรายได้แล้วปกปิด ก็มีกฎหมายกำหนดความผิดไว้ในมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากรเครื่องมือปัจจุบันของกรมสรรพากร คือ การตรวจสอบธุรกรรมพิเศษ ได้แก่ ธุรกรรม จำนวน 400 ครั้ง มูลค่า 2 ล้านบาท หรือ 3,000 ครั้ง ต่อปีเท่านั้น

ส่วนเครื่องมือที่กรมสรรพากรมีอยู่ในปัจจุบัน ไม่แน่ใจว่าจะตรวจจับธุรกรรมที่ทุจริตได้หรือไม่

เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดได้ว่าการทุจริตจะเกิดขึ้นในรูปแบบใด เครื่องมือที่กรมสรรพากรมีจะช่วยได้หรือไม่ เพียงใด

การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร เมื่อโครงการฯ เริ่มในปี พ.ศ. 2567 และสามารถ Cash Out ได้จนถึงปี 2570

กรมสรรพากรอธิบายบนสมมติฐานที่ว่า หากเงินที่มีการให้ผ่านกระเป๋าเงิน Digital Wallet เป็นเงินได้พึงประเมิน ไม่ว่าจะ Cash Out หรือไม่ กรมสรรพากรมองว่าเป็นเงินได้พึงประเมินทั้งหมด

ดังนั้น วันที่บุคคลธรรมดาได้รับเงิน ก็มีหน้าที่เสียภาษี ณ วันนั้น กรณีของนิติบุคคลจะเสียภาษีตามรอบระยะเวลาบัญชีส่วนการ Cash Out น่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งไม่น่าถือเป็นเงินได้ กรมสรรพากรมองเปรียบเทียบกับกรณีการได้รับเช็ค เมื่อผู้มีรายได้ ได้รับเช็คมาก็เปรียบเสมือนมีการได้รับของแทนเงินแล้ว

มีประเด็นเรื่องการเข้าถึงฐานข้อมูลของร้านค้าซึ่งที่ผ่านมา กรณีโครงการคนละครึ่ง กรมสรรพากรไม่มีข้อมูล เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร

และสำหรับโครงการ Digital Wallet ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานที่กำหนดนโยบาย

ดังนั้น หากมีการแจกเงินในรูปแบบเงินดิจิทัล กรมสรรพากร จะใช้ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บรายได้พอสมควร

โดยพิจารณาว่าการดำเนินงานตามนโยบายโครงการ Digital Wallet เป็นการค้าขายตามปกติแต่หากเป็นเงินดิจิทัล และมี Blockchain กรมสรรพากรก็ต้องหาวิธีการเพื่อให้มีการจัดเก็บรายได้ให้ได้เช่นเดียวกัน

กรมบัญชีกลางก็ตอบว่ายังไม่ทราบรายละเอียดของนโยบาย

ที่น่าสนใจคือข้อมูลที่กรมบัญชีกลางแจ้งมาว่า

จากการเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ) จำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 วันที่ 25 ตุลาคม 2566 และวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566

การประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ เห็นสมควรเสนอคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นการใช้งบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท และเงินกู้จำนวน 3.5 แสนล้านบาท รวมวงเงินของโครงการทั้งสิ้น 5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ข้อมูลตามที่นายกรัฐมนตรีแถลง จะเป็นการใช้เงินกู้ทั้งหมด จำนวน 5 แสนล้านบาท โดยตราเป็นพระราชบัญญัติเงินกู้ โดยส่งเรื่องหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ได้ข้อยุติในประเด็นด้านกฎหมายก่อนที่จะพิจารณาการดำเนินการในขั้นตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ

ดังนั้น ระยะเวลาและแผนงานที่จะจัดทำ จึงยังไม่ได้พิจารณา

 

ประเด็นทางกฎหมายที่พึงระมัดระวังในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมบัญชีกลาง ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

ส่วนที่ 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 25600 มาตรา 140 การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป

ส่วนที่ 2 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 7 การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดำเนินการใดๆ ของรัฐ ที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย

มาตรา 9 คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัย ในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ

ในส่วนของช่องทางที่อาจเกิดการทุจริต กรมบัญชีกลางให้ความเห็นว่า การให้ประชาชนใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคตามที่กำหนดไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้จากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องข้อมูลที่จะตรวจสอบว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่

เนื่องจากไม่มีข้อมูลรายละเอียดของสินค้าที่ประชาชนซื้อ หรือร้านค้าขายสินค้านั้นๆ ให้แก่ประชาชน ซึ่งอาจเป็นจุดอ่อนให้เกิดการรับแลกเงินสด จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะว่า การกำหนดเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ ทั้งประชาชนและร้านค้า กรณีใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์จะต้องกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเพื่อให้ตระหนักรู้กฎกติกา

 

ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางมีข้อกังวลเกี่ยวกับหน่วยรับงบประมาณและหน่วยเบิกจ่ายงบประมาณว่า

ในหลักปฏิบัติหน่วยรับงบประมาณและหน่วยเบิกจ่ายงบประมาณไม่ควรเป็นหน่วยเดียวกัน เพราะจะทำให้หลักควบคุมภายในเสียหาย โดยการดำเนินการที่ผ่านมา หน่วยงานที่เสนอเสนอให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งจะทำให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างหน่วยรับงบและหน่วยเบิกจ่าย

(พรุ่งนี้: ข้อสังเกตจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ