เอเชียกำลังเผชิญความเสี่ยง แข่งขันสร้าง ‘ขีปนาวุธยุคใหม่’

ถ้าจีนกับเกาหลีเหนือเดินหน้าเสริมสร้างแสนยานุภาพทางอาวุธขีปนาวุธอย่างที่เห็นอยู่ในขณะนี้ ประเทศต่างๆ ในย่านนี้จะต้องเตรียมตัวตั้งรับอย่างไร

รายงานของ IISS ล่าสุดวิเคราะห์ถึง “ภัยคุกคาม”  อันเกิดจากศักยภาพที่เพิ่มขึ้นของประเทศที่เพิ่มงบประมาณด้านการพัฒนาอาวุธของสองประเทศนี้อย่างน่าสนใจ

สถาบันวิจัยแห่งนี้ชื่อเต็มว่า The International Institute for Strategic  Studies เป็นหน่วยงานศึกษาค้นคว้าเรื่องความมั่นคงสากล ความเสี่ยงด้านการเมืองและความขัดแย้งด้านการทหาร

หัวข้อของรายงานฉบับนี้คือ: ความสามารถในการโจมตีระยะไกลในเอเชีย-แปซิฟิก: ผลกระทบต่อเสถียรภาพของภูมิภาค

โดยชี้ว่า หลายประเทศมีความพยายามที่สำคัญทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อรับหรือขยายความสามารถในการโจมตีระยะไกล

นั่นคือ การมองว่าอาวุธที่จะสู้กันในศึกสงครามหากเกิดขึ้น จะเป็นการโจมตีระยะไกลมากขึ้น

รายงานใหม่นี้ตรวจสอบศักยภาพที่มีอยู่ และที่วางแผนไว้ของผู้เล่นที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้

และประเมินแนวทางความร่วมมือของสหรัฐอเมริกาที่โยงกับเสถียรภาพของภูมิภาค

ที่น่ากังวลคือ คลังแสงขีปนาวุธที่กำลังขยายตัวเติบโตในอัตราทวีคูณในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

เพราะประเทศต่างๆ พยายามที่จะปรับเปลี่ยน หรือไม่ก็รักษาสมดุลทางอำนาจของภูมิภาคแถบนี้

จีนกับเกาหลีเหนือเป็นสองประเทศที่มีความคึกคักในการสั่งสมอาวุธพิสัยไกล

ขีปนาวุธของจีนและเกาหลีเหนือที่เพิ่มขึ้นมา พร้อมกับพฤติกรรมที่เป็นเชิงรุกหนักขึ้นของปักกิ่ง

และวาทกรรมดุดันของเปียงยางที่มีการทดสอบระบบขีปนาวุธบ่อยครั้ง กำลังมีผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคและผลักดันให้ประเทศอื่นๆ ยกระดับความสามารถในการโจมตีระยะไกลของตนเองในการตอบสนอง         แม้ว่างบประมาณและศักยภาพด้านอื่นๆ จะไม่สามารถเทียบได้กับจีนก็ตาม

ประเทศต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่ได้พัฒนาขีปนาวุธประเภทที่คล้ายคลึงกับที่จีนและเกาหลีเหนือครอบครองอยู่ในขณะนี้ แต่การมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการโจมตีระยะไกล ได้ส่งผลให้เกิดการแข่งขันทางอาวุธในระดับภูมิภาค ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงสูงขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

และดูเหมือนจะไม่มีอะไรมาชะลอการแข่งขันด้านนี้ได้มากนัก เพราะความระแวงสงสัยต่อกันมีสูงขึ้นตลอดเวลา

จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ทุกประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก จะยังคงขยายคลังแสงของตนทั้งในแนวนอนและแนวตั้งจากนี้ไป

เห็นได้ชัดว่า จีนและเกาหลีเหนือพยายามสร้างดุลถ่วงด้านอาวุธกับประเทศอื่นๆ ในย่านนี้ เช่น ออสเตรเลีย  ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ซึ่งก็กำลังพยายามจะรักษาดุลเดิมไว้ให้ได้มากที่สุดและนานที่สุด

ซึ่งไม่มีอะไรรับรองได้ว่า สถานการณ์การแข่งขันสร้างอาวุธอย่างนี้จะเข้าสู่จุดที่ต่างฝ่ายต่างยอมระงับยับยั้งได้ เพื่อป้องกันไม่ได้เกิดภาวะความตึงเครียดจนถึงขั้น “ประเมินผิด” ต่อกันและกัน

อันเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เกิดการเผชิญหน้าทางทหารได้

ออสเตรเลียได้เดินหน้าลงทุนในการพัฒนาความสามารถในการโจมตีระยะไกล

แสดงให้เห็นถึงการปรับท่าทีการป้องกันของประเทศนี้ หลังจากสนับสนุนปฏิบัติการในตะวันออกกลางและแปซิฟิกใต้ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

ความสามารถขั้นสูงหลายประการที่ออสเตรเลียแสวงหา และพัฒนาเป็นส่วนสำคัญของข้อตกลงไตรภาคีของ AUKUS กับอังกฤษและสหรัฐฯ

แต่บางส่วนอาจต้องใช้เวลานานกว่าทศวรรษจึงจะบรรลุผล

ระหว่างนี้เพื่อส่งเสริมมาตรการป้องปราม ออสเตรเลียกำลังจัดหาความสามารถในการโจมตีระยะไกลหลายประเภทจากพันธมิตรของตนด้วย

ญี่ปุ่นก็ไม่ได้นิ่งเฉย  กำลังพยายามจะเสริมสร้างอาวุธที่มีความสามารถในการโจมตีภาคพื้นดินระยะไกล

ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ สำหรับประเทศที่ไม่มีความสามารถในการโจมตีเชิงรุกอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง

เป้าหมายคือญี่ปุ่นจะได้สร้างศักยภาพทางทหารของตน เพื่อแบ่งเบาภาระของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ แม้จะมีข้อจำกัดด้านรัฐธรรมนูญบ้างก็ตาม

เกาหลีใต้ยังคงขยายและกระจายความสามารถในการโจมตีระยะไกลของตนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมการสำหรับการรุกรานของเกาหลีเหนือ               

หนึ่งในแนวทางใหม่ของเกาหลีใต้คือ การละทิ้งแนวปฏิบัติก่อนหน้านี้ซึ่งจำกัดระยะและขนาดหัวรบของขีปนาวุธที่เกาหลีใต้สามารถพัฒนาได้

วันนี้เกาหลีใต้สร้างความพร้อมด้านนี้ของตัวเองอย่างก้าวกระโดด เพราะภัยคุกคามจากทางเหนือมีความเด่นชัดมากขึ้นทุกวัน

ไต้หวันก็ตื่นตัวเรื่องนี้ไม่น้อย

เกาะแห่งนี้ได้นำเข้าขีปนาวุธต่อต้านเรืออย่างต่อเนื่องจากสหรัฐอเมริกา

สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่แปรปรวนของไต้หวัน ในฉากทัศน์ที่อาจถูกจีนรุกรานได้ตลอดเวลา

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์และเวียดนามกำลังดำเนินโครงการสร้างสมรรถนะการโจมตีระยะไกลของตนเอง แม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็ตาม

ขณะนี้แนวทางการสร้างเสริมศักยภาพด้านนี้ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาขีดความสามารถต่อต้านเรือรบในทะเลที่อาจเกิดความขัดแย้งได้

ส่วนใหญ่เป็นการตอบสนองต่อพฤติกรรมของจีนในทะเลจีนใต้ และข้อพิพาทเรื่องดินแดนที่กำลังดำเนินอยู่

แต่ในอนาคต ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนามอาจพัฒนาหรือจัดหาความสามารถขั้นสูงเพิ่มเติม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้เริ่มจะคลอนแคลนหนักขึ้น

แน่นอนว่าประเทศต่างๆ เหล่านี้จะต้องเพิ่มศักยภาพด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพร้อมกันไปด้วย

รวมถึงความสามารถในการหาข่าวกรองในอวกาศ  และความสามารถในการเฝ้าระวังและการลาดตระเวน รวมทั้งการบังคับบัญชาร่วม

โดยสหรัฐฯ ยังเป็นแหล่งพึ่งพาในเรื่องนี้อยู่ดี

ในขณะที่จีนแสดงชัดว่ามีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทั่วไป และขีปนาวุธนิวเคลียร์อย่างโดดเด่น

จึงน่ากังวลว่าโลกกำลังย่างเข้าสู่ "ยุคขีปนาวุธ" ใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิก ที่อุดมไปด้วยความเสี่ยงอย่างสูง

ที่หลายประเทศกังวลคือ การพัฒนาขีปนาวุธของจีนและเกาหลีเหนือก็มีมิติทางนิวเคลียร์

ซึ่งหากไม่ทำให้การทูตและการเมืองประสบความสำเร็จ ในการเจรจาต่อรองให้หลีกเลี่ยงสงครามทุกรูปแบบแล้วล่ะก็ โอกาสที่จะเกิดสงครามครั้งใหม่ในระดับภูมิภาคมีความเป็นไปได้สูงอย่างยิ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ