เป็นไทม์ไลน์ที่น่าจับตามอง
วานนี้ (๒๕ มกราคม) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ร้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือไอทีวี
คดีนี้ยาวนานมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ สปน.มีหนังสือบอกเลิกสัญญา แจ้งให้บริษัท ไอทีวี จำกัด ชำระหนี้กว่าแสนล้านบาท และส่งมอบทรัพย์สิน ตามมติ ครม. ทำให้ไอทีวีหยุดดำเนินกิจการ
แต่ไอทีวี โต้แย้งว่า การบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เรียกค่าเสียหาย ๑๑๙,๒๕๒ ล้านบาท
พร้อมทั้งยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ให้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า สปน.ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้ ไอทีวีเรียกค่าเสียหายจาก สปน. ๒๑,๘๑๔ ล้านบาท
แต่ศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้อง เนื่องจากเกินกว่าอายุความ ๑๐ ปี
ต่อมาไอทีวียื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แต่ศาลปกครองสูงสุดยืนยันตามศาลปกครองกลาง ไม่รับพิจารณาคำอุทธรณ์ แต่ข้อพิพาท ค่าปรับ ให้ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
เดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๕๙ ไอทีวีได้รับคำชี้ขาดจากสถาบันอนุญาโตตุลาการ ระบุว่า การบอกเลิกสัญญาของ สปน.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ สปน.ชดใช้ความเสียหายให้แก่บริษัทจำนวน ๒,๘๙๐,๓๔๕,๒๐๕ บาท
ในเวลาเดียวกัน เมื่อศาลปกครองสูงสุดเคยมีพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้ปรับลดค่าตอบแทนตามสัญญาฯ ระหว่างไอทีวี กับ สปน. เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๙
บริษัทจึงต้องชำระค่าตอบแทน จำนวน ๒,๘๘๖,๗๑๒,๓๒๘ บาท ให้แก่ สปน. ITV และ สปน. ต่างมีหน้าที่ต้องชำระหนี้เท่ากัน
จึงไม่มีหนี้สินต่อกัน
จากนั้น สปน.ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการ ต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลมีคำสั่งรับคำร้อง
ธันวาคม ๒๕๖๓ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ยกคำร้องของ สปน.
สปน. จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด
และวานนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง ไม่รับคำฟ้อง
โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า คำอุทธรณ์ของ สปน.เป็นเพียงการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ และโต้แย้งเหตุผลในการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อกฎหมายและข้อสัญญาระหว่าง สปน.กับไอทีวีเท่านั้น
ซึ่งไม่ใช่กรณีที่เกี่ยวกับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
และการที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า สปน.และไอทีวีต่างไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกัน ซึ่งเป็นอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในเรื่องดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามกฎหมาย
จึงไม่ใช่เหตุที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีนี้ และมีคำสั่งยกคำฟ้องของ สปน.
ฉะนั้นความโดยสรุป ถือว่าไอทีวีไม่มีคดีความกับ สปน.อีกแล้ว
ทีนี้ย้อนไปที่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีหุ้นไอทีวี ของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ในส่วนของการเบิกความของ นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการบริษัท ไอทีวี
"...การที่นายคิมห์ เบิกความว่า หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา บ.ไอทีวี ชนะคดีจะมีการพิจารณาอีกครั้งระหว่างผู้ถือหุ้นกับกรรมการบริษัทว่า บริษัทจะดำเนินการต่อไปหรือไม่
ซึ่งอาจจะประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือจะประกอบกิจการอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ของ บ.ตามข้อใดข้อหนึ่งจาก ๔๕ ข้อก็ได้
เป็นเรื่องในอนาคต ยังไม่ได้มีการพิจารณาในขณะนั้น
แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ สปน. บอกเลิกสัญญาจนถึงปัจจุบัน บ.ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน
อีกทั้งไม่พบข้อมูลหลักฐานว่า บ.ไอทีวีได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ปี ๒๕๕๐, พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑, พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ และไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และสื่อโฆษณา ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑..."
อย่างที่เขียนไปวานนี้ ไอทีวีสามารถดำเนินกิจการสื่อได้ โดยใช้แพลตฟอร์ม เว็บไซต์ ยูทูบ เฟซบุ๊กเพจ ไลน์ อินสตาแกรม และ X (ทวิตเตอร์) เช่นสื่อหลักแทบทุกสำนักทำอยู่ ณ เวลานี้ โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตจาก กสทช.
ก็น่าสนใจว่าเมื่อเสร็จเรื่องแล้ว ไอทีวีจะกลับมาดำเนินกิจกรรมสื่อต่อไปหรือไม่
หรือจะแช่แข็งไอทีวีไปตลอดกาล
หนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้นไอทีวี ลงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๗ เรื่อง คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีข้อพิพาทระหว่างบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และ สปน. ในตอนท้าย ระบุว่า
"ทั้งนี้ บริษัทจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาทิศทางของไอทีวีต่อไป"
ใครคือผู้ถือหุ้นใหญ่ ไอทีวี
ยุคแรก "ชินคอร์ป" ของตระกูลชินวัตร ถือหุ้นใหญ่ ไอทีวี
ต่อมาตระกูลชินวัตร ขายหุ้นชินคอร์ป ให้ "เทมาเส็กโฮลดิงส์" ของรัฐบาลสิงคโปร์ และได้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “อินทัช”
พร้อมทั้งเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหม่
ปัจจุบัน อินทัช ถือหุ้นไอทีวีถึง ๕๓%
ผู้ถือหุ้นใหญ่ "อินทัช" คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ของเจ้าพ่อพลังงาน
"สารัชถ์ รัตนาวะดี"
ไอทีวีน่าจะประชุมผู้ถือหุ้นในเร็วๆ นี้ ก็คงจะมีการพูดคุยกันว่า จะดำเนินกิจการสื่อต่อไปหรือไม่
ถ้าให้ทายล่วงหน้าคงจะยาก เพราะจะกลายเป็นการจุดชนวนการเมืองขึ้นมาทันที
แต่หาก ผู้ถือหุ้นไอทีวี ไม่ได้นำกรณี "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" มาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจว่าจะดำเนินกิจการสื่อต่อไปหรือไม่ ซึ่งในเชิงธุรกิจควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน
ไอทีวีจะกลับมาหรือไม่ ไม่ควรถูกครอบงำโดยเงื่อนไขของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"
ครับ...จับตาดูกันต่อไป
สื่อคุณภาพอย่างไอทีวีจะกลับมาอีกครั้งหรือไม่ ในแพลตฟอร์ม เว็บไซต์ ยูทูบ เฟซบุ๊กเพจ ไลน์ อินสตาแกรม และ X (ทวิตเตอร์)
หรือไม่อาจหวนกลับมาอีกเลย เพียงเพราะกลัวมีปัญหาจากคดีหุ้นไอทีวีของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"
เห็นหรือยังครับว่ากระดุมเม็ดสุดท้าย ติดกันยังไง?.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เบื้องหลังผู้ลี้ภัย
เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี
วันนี้ของ "วันนอร์"
ไม่ค่อยได้เขียนถึง "อาจารย์วันนอร์" สักเท่าไหร่ เพราะไม่มีเหตุให้ต้องวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่ฉายา “รูทีนตีนตุ๊กแก” ที่นักข่าวรัฐสภาตั้งให้ ก็ยังแอบเคืองแทน หาว่ากอดเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ แน่น