ไทยกับบทบาทยุติ สงครามกลางเมืองพม่า

สถานการณ์ในพม่าจากนี้ไปจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ

อีกเพียงหนึ่งสัปดาห์ รัฐประหารในพม่าจะครบ 3 ปี

วันนี้ พม่ายืนอยู่บนทางสองแพร่ง  เดินหน้าทำสงครามล้างผลาญกันต่อ หรือเจรจาเพื่อสร้างกติกาและโครงสร้างอำนาจใหม่

ยิ่งเมื่อกองทัพพม่าอยู่ในภาวะที่กำลังเพลี่ยงพล้ำ ฝ่ายต่อต้านสามารถรุกคืบและยึดพื้นที่ของฝ่ายรัฐบาลได้มากขึ้นเพียงใด ความจำเป็นที่จะต้องหาทางออกด้วยการเจรจายิ่งมีความสำคัญมากเพียงนั้น

แต่ลำพังพม่าเองคงหาทางออกร่วมกันได้ยาก เพราะจุดยืนที่แตกต่างกันอย่างสุดโต่ง

อีกทั้งการประเมินสถานการณ์ของแต่ละฝ่ายต่างก็ยังเชื่อมั่นในความสามารถของตนในการเดินหน้าทำสงครามต่อไป

อาเซียนยังไม่สามารถจะเข้าไป “อำนวยความสะดวก” เพื่อให้เกิดการหยุดยิงและเริ่มต้นกระบวนการเจรจา

จีนได้พยายามจะเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่าง “พันธมิตรฝ่ายเหนือ” กับรัฐบาลทหาร

แต่แม้จะมีข้อตกลงหยุดยิงกันหลังจากการพบปะสามครั้ง แต่ก็ยังไม่มีอะไรรับรองว่าจะไม่มีการละเมิดคำมั่นสัญญาว่าจะยุติการสู้รบ อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง

เพราะต่างฝ่ายต่างก็กล่าวหากันว่าอีกฝ่ายหนึ่งได้ทำผิดสัญญาด้วยการโจมตีที่ตั้งของอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว

ไทยเราอยู่ในฐานะที่จะต้องมีบทบาทในการพยายามหาทางออกทั้งในระดับทวิภาคีกับพหุภาคี

คุณปรานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศได้พบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่า

เป็นจังหวะเดียวกับที่ผู้นำทหารไทยได้มีการแลกเปลี่ยนกับผู้นำของพม่า

พลเอกอาวุโสมิน อ่องหล่ายได้ต้อนรับผู้นำทหารไทยหลายคนที่ไปเยือนพม่าในช่วงหลัง

อีกทั้งยังมีการประชุมผ่านออนไลน์ระหว่างพลเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกับ มิน อ่องหล่ายด้วย

แม้ว่าข่าวทางการของบอกว่าเป็นการพูดจาเรื่องปัญหาชายแดน, ยาเสพติดและคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงประชาชน แต่เป็นที่รู้ว่ากันว่าฝ่ายความมั่นคงของไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะหาทางน้าวโน้มให้ผู้นำทหารพม่ายอมนั่งลงเจรจากับฝ่ายต่อต้านเพื่อระงับยับยั้งการสู้รบที่ยืดเยื้อและสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้กับประชาชนขาวพม่ามายาวนาน

คุณปรานปรีย์ได้พบกับตาน ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าหลังจากนั้นก็ได้ให้ข่าวว่าไทยหวังว่าแผนใหม่สำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ จะเปิดประตูสู่การแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่ดำเนินมายาวนานของเมียนมาร์ในที่สุด

ในการพูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศพม่าที่ World Economic Forum (WEF) ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อสัปดาห์ก่อน คุณปรานปรีย์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งในพม่าเปิดทางให้รัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ใช่อาเซียน เช่น จีนและอินเดีย และ “ภายนอกอื่นๆ พันธมิตร” เช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเพื่อจะได้เข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดสันติสุขในพม่าเสียที

รัฐมนตรีต่างประเทศไทยย้ำว่าประเด็นสำคัญที่สุดในยามนี้คือการการสร้างช่องทางสำหรับการเจรจาภายในระหว่างรัฐบาลพม่ากับฝ่ายตรงข้ามภายในเมียนมาร์

นั่นแปลว่าคนข้างนอกจะเข้ามาช่วยได้ก็ต่อเมื่อคู่กรณีทั้งหลายได้มีการเปิดทางพูดจากันเสียก่อน

คนข้างนอกจึงจะสามารถเข้ามาสนับสนุนให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าไปได้อย่างจริงจัง

แปลว่าตราบที่ฝ่ายต่าง ๆ ในพม่าเองยังไม่ยอมพูดคุยกัน ก็คงจะหวังให้ประเทศอื่น ๆ ที่มีความหวังดีเข้ามาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ยาก

“สิ่งสำคัญที่สุด เราต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมในแง่ของการเจรจาอย่างแท้จริงและการปรองดองระหว่างทหาร พรรคฝ่ายค้านทั้งหมด และกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในเมียนมาร์ หากปราศจากสิ่งนี้ก็จะไม่มีสันติภาพที่ยั่งยืน” คุณปานปรีย์แถลง

ด้านหนึ่งรัฐบาลในภูมิภาคได้เรียกร้องให้มีการเจรจาเพื่อยุติความรุนแรงในเมียนมาร์นับตั้งแต่รัฐประหาร คุณปรานปรีย์ก็เชื่อว่าการหารือล่าสุดกับรัฐบาลทหารพม่าอาจนำไปสู่การเจรจาในรูปแบบนี้ได้

เขาทั้งสองคุยอะไรกันเป็นรูปธรรมบ้าง?

คุณปรานปรีย์บอกว่าได้คุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหาร ตาน ส่วยและตกลงที่จะจัดการกับ “เป้าหมายเร่งด่วน” เป็นอันดับแรก

นั่นคือการการผลักดันให้มีช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นจากความขัดแย้งและคนอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาร์ และ “เพิ่มเติม ภายในประเทศ”

เชื่อกันว่าคุณปรานปรีย์พบกับตาน ส่วยที่ปักกิ่งเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมปีที่แล้ว

ความสำคัญอยู่ที่ภาคปฏิบัติของการส่งมอบความช่วยเหลือให้กับคนพม่าที่กำลังประสบกับความลำบากเพราะสงคราม

นั่นคือการส่งมอบความช่วยเหลือมนุษยธรรมในเบื้องต้นโดยเริ่มจากสภากาชาดของทั้งสองประเทศก่อน

โดยหวังว่าจากนั้นศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติของอาเซียนจะได้รับมอบหมายให้ติดตามวิธีการแจกจ่ายความช่วยเหลือในภายหลัง

“ในความเห็นของเรา ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะนำไปสู่การที่จะดำเนินการตามฉันทามติห้าประการของอาเซียน” รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกล่าว

มีข้อสังเกตว่าผู้นำทหารพม่าไม่ได้มองเห็นเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับคนพม่าเป็นลำดับต้น ๆ ของความร่วมมือกับไทยและอาเซียน

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ Global New Light of Myanmar ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลทหารพม่าในการประชุมทางไกลเมื่อวันที่ 13 มกราคม พลเอกมิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทยมีการหารือเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันในหัวข้อ “การปราบปรามยาเสพติดและการต่อต้านการก่อการร้าย การกำจัดยาเสพติด การค้าที่ผิดกฎหมาย การแลกเปลี่ยนข้อมูล และความพยายามในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดน”

ไม่ชัดเจนว่าฝ่ายรัฐบาลทหารพม่ายังมุ่งไปทางสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์มากขึ้นหรือไม่

เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ การสูญเสียดินแดนและการควบคุมกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บริเวณชายแดนจีน-เมียนมาร์ พื้นที่ชายแดนทั้งสองแห่งเป็นแหล่งเพาะการค้ามนุษย์ การพนันที่ผิดกฎหมาย การหลอกลวงทางออนไลน์ที่กว้างขวาง และกลุ่มอาชญากร

ไป ๆ มา        ๆ บทบาทของไทยในการใช้การทูตแบบเพื่อนบ้าน และอาเซียนบวกกับจีนอาจจะเป็นเครื่องมือชุดเดียวที่อาจสร้างความหวังของการบรรลุจุดเริ่มต้นของการแสวงหาสันติภาพในพม่าได้!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ