แค่ ๔ เดือนก็เห็นจุดตาย

โดนเข้าให้....

วานนี้ (๒๒ มกราคม) วุฒิสภายื่นญัตติ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๕๓

มีวุฒิสมาชิกร่วมลงชื่อ ๙๘ คน

เนื้อหาในญัตติ ระบุว่า คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ ๑๐  กันยายน ๒๕๖๖ และได้เข้าบริหารราชการแผ่นดิน มาจนถึงบัดนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประมาณ ๔ เดือน รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินแก้ไขปัญหาสำคัญตามนโยบายที่แถลงไว้ รวมถึงปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้แถลงนโยบายไปแล้ว ซึ่งมีทั้งหมด ๗ หัวข้อ

๑.ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติและปัญหาปากท้องของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนที่ยั่งยืน การทำให้ประชาชนมีรายได้และมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาความยากจน รัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างไร รวมถึงสภาพปัญหาการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ๑ หมื่นบาท ชอบด้วยกฎหมายและไม่สร้างภาระหนี้สินให้แก่ประชาชนจะดำเนินการได้จริงหรือไม่ รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่รัฐบาลทำอยู่ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาจากต้นตอ

๒.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรม ๒ มาตรฐาน การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ช่วยพวกพ้องหาผลประโยชน์ส่วนตัว สร้างมาตรฐานในกระบวนการที่บิดเบี้ยว

๓.ปัญหาด้านพลังงาน ไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างปัญหาของประเทศ และการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟ ก๊าซหุงต้ม และน้ำมัน นอกจากนั้นจะแก้ปัญหากลุ่มทุนพลังงานมีอิทธิพลกับการเมือง ทำให้กลุ่มทุนกำหนดราคาพลังงานในอัตราที่สูงเกินความจำเป็น จนทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระราคาเชื้อเพลิงที่สูงเกินจริง

๔.ปัญหาด้านการศึกษาและสังคม ไม่เร่งปฏิรูปการศึกษา เพิกเฉยต่อการผลักดันการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภา เพื่อให้เป็นกฎหมายบังคับใช้เป็นแม่บทในการพัฒนาการศึกษาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

๕.ปัญหาด้านการต่างประเทศและการท่องเที่ยว รัฐบาลจะแก้ไขอย่างไรกับผู้กระทำความผิดที่เป็นจีนเทา  เพราะจะกระทบกับความสัมพันธ์และความรู้สึกของชาวจีน  รวมถึงการวางตัวเป็นกลาง และการเลือกข้างของรัฐบาล กับความขัดแย้งของประเทศต่างๆ จะวางตัวอย่างไรให้เหมาะสม และมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย

๖.ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการทำประชามติ ต้องมีความชัดเจน เพื่ออธิบายให้ได้ว่ามีความจำเป็นในการดำเนินการอย่างไร โดยชอบด้วยกฎหมาย เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศได้อย่างไร

และ ๗.ปัญหาการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่วุฒิสภาได้เสนอแนะเร่งรัดต่อรัฐบาลไปแล้วนั้น รัฐบาลมีนโยบายและแนวทางดำเนินการตามข้อเสนอแนะอย่างไร

ปัญหาข้างต้นเป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่เร่งด่วน ที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการและแก้ไขปัญหาโดยทันที เพราะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งไม่บรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การยื่นญัตติดังกล่าวเป็นการยื่นเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ดำเนินการหรือดำเนินการล่าช้าในการแก้ไขปัญหาสำคัญตามนโยบายที่ได้แถลงไว้

ครับ...แค่ ๔ เดือน รัฐบาลมีเรื่องให้ต้องซักฟอกกันถึง ๗ เรื่อง

ในมุมของรัฐบาลอาจมองว่าเร็วไป

ถึงขนาดที่ "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เหน็บแนมว่า ไม่กังวลมีแต่เป็นห่วง ว่าฝ่ายค้านหรือแม้กระทั่งวุฒิสภาจะหาประเด็นมาซักฟอกได้ยาก

แต่ดอกแรกจากวุฒิสภา ๗ เรื่อง

ใน ๗ ข้อนี้มีบางข้ออย่าไปคาดหวังจากรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปประเทศ การปฏิรูปการศึกษา

เพราะดูหน้าตาและภูมิหลังของคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบแล้ว แย่กว่ารัฐบาลลุงตู่ชนิดเทียบกันไม่ได้เลย

๒ เรื่้องนี้จึงไม่ต่างให้เด็กอนุบาลไปทำข้อสอบปริญญาเอก

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอีกประเด็นที่อย่าคาดหวัง แม้จะมีหลายคนในพรรคเพื่อไทยกระเหี้ยนกระหือรือจะแก้ไขให้ได้ แต่ด้วยความซับซ้อน ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และต้องใช้ระยะเวลายาวนาน รัฐบาลจะมีอันเป็นไปเสียก่อนที่จะแก้ไขได้สำเร็จ

พลังงาน ท่องเที่ยว ปัจจัยภายนอกเป็นตัวกำหนด

การจัดการด้านพลังงานที่ดีที่สุดคือปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคา แต่เป็นธรรมกับประชาชน

เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลแทรกแซงราคามากเกินไป เงินจากภาษีของประชาชนก็จะถูกนำมาแก้ปัญหามากเท่านั้น

อีก ๒ ปัญหา คือปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม คงจะเป็นไฮไลต์ในการอภิปรายของวุฒิสภา

เศรษฐกิจของประเทศกำลังวิกฤตตามที่รัฐบาลบอกจริงหรือไม่

วิกฤตแล้วทำไมรัฐบาลไม่จัดการกับปัญหาอย่างเร่งด่วน

ประเด็นนี้มองมุมไหนรัฐบาลก็ถูกถล่มเละเทะ

นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลคิดใหญ่ ทําไม่เป็น

คิดตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๖ กว่าจะแจกก็หลังเดือนพฤษภาคมปีนี้ไปแล้ว

นี่คือการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ด้วยความจำเป็นเร่งด่วน อย่างนั้นหรือ

ระวังรัฐบาลอาจต้องไปอธิบายเรื่องนี้ในศาล

ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม

สมัย น.ช.ทักษิณ หนีไปต่างประเทศ พรรคเพื่อไทยโอดครวญว่า ถูกกลั่นแกล้ง มีการเขียนกฎหมายเพื่อเล่นงานทักษิณ ขนาดเขียนรัฐธรรมนูญก็เพื่อขจัดและกีดกันทักษิณ

เหน็บแนมถึงขนาดว่า ทำไมไม่ระบุชื่อทักษิณเอาไว้ในรัฐธรรมนูญเสียเลย

แล้ววันนี้เป็นไงครับ

พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ กฎกระทรวง ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ล้วนเป็นประโยชน์กับ "น.ช.ทักษิณ" ทั้งสิ้น

จน "น.ช.ทักษิณ" กลายเป็น "นักโทษเทวดา"

ช่างบังเอิญจริง!

นี่แค่ ๔ เดือนในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเศรษฐา

แค่ ๔ เดือนก็เห็นจุดตาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เจอตอ ชั้น ๑๔

งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง

เบื้องหลังผู้ลี้ภัย

เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี