เศรษฐกิจไทยปี67กับความท้าทาย

ต้องจับตาเรื่องของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ หลังหลายหน่วยงานมีการประเมินว่าจีดีพีจะโตเพียง 3% แต่อย่างไรก็ดียังมีความเปราะบางในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาระหนี้ครัวเรือน เรื่องภาวะเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ และการส่งออก

ล่าสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC เปิดผลการศึกษาเรื่อง เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวบนความท้าทาย เมื่อคนไทยเป็นหนี้นาน-พึ่งงานนอกระบบ นโยบายช่วยเฉพาะกลุ่มระยะสั้นและสร้างรายได้ระยะยาวคือทางออก

ในเนื้อหาระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากผลของนโยบายการเงินตึงตัวต่อเนื่องและตลาดแรงงานอ่อนแอลง อีกทั้งยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนรอบด้าน โดยในปีนี้จะมีการเลือกตั้งใหญ่กว่า 60 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมสูงกว่า 60% ของโลก

นอกจากนี้ การค้าและห่วงโซ่อุปทานโลกเผชิญความเสี่ยงใหม่จากการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในบริเวณทะเลแดง และปัญหาน้ำแล้งในคลองปานามา ก่อให้เกิดความแออัดในการขนส่งทางเรือหรือต้องปรับเส้นทางเดินเรือ ทำให้ระยะเวลาการเดินทางและต้นทุนขนส่งสูงขึ้น ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 2 จากเงินเฟ้อที่มีทิศทางชะลอลง สำหรับจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย (Required Reserve Ratio: RRR) ขณะที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบปีนี้

ขณะที่ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 2567 แรงส่งหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้น มาตรการลดค่าครองชีพและโครงการ Easy e-receipt กระตุ้นการใช้จ่าย ทั้งนี้ผลบวกของโครงการนี้อาจไม่มากเท่าในอดีต เนื่องจากเงื่อนไขจำกัดเฉพาะร้านที่ออก e-Tax Invoice ได้

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นต่อเนื่องและการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ สอดคล้องกับการผลิตบางอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2567 ล่าช้า กดดันการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีแรก ตลอดจนความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความเสี่ยงใหม่ในตะวันออกกลางที่อาจกระทบการขนส่งทางทะเล และทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกชะงักขึ้นได้อีก สำหรับเงินเฟ้อไทย แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน แต่ส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชน โดย SCB EIC ประเมินว่าประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อติดลบยังไม่กระจายตัวรายสินค้าเป็นวงกว้าง และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก มองไปข้างหน้าเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นหลัก กดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้กลุ่มเปราะบางฟื้นช้า

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยยังน่ากังวล สอดคล้องกับผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2023 พบว่า กลุ่มคนรายได้น้อยเผชิญปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นหลังวิกฤตโควิดและยังมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายอยู่มาก โดยผู้มีรายได้น้อยกว่า 1 ใน 3 ประกอบอาชีพอิสระ/รับจ้างทั่วไป ซึ่งมีแนวโน้มเป็นแรงงานนอกระบบที่รายได้ไม่มากและเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม ประกอบกับกลุ่มนี้มีวิธีบริหารจัดการหนี้ที่ยังไม่ดีนัก จึงพึ่งพาหนี้นอกระบบสูง และมีแนวโน้มติดอยู่ในวงจรหนี้อีกนาน จึงต้องอาศัยนโยบายระยะสั้น เพิ่มสภาพคล่องและแก้หนี้ให้กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ควบคู่กับนโยบายระยะยาว เพิ่มภูมิคุ้มกันคนไทย เช่น ปรับทักษะช่วยยกระดับรายได้ยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนแรงงานทำงานในระบบให้เข้าถึงสวัสดิการประกันสังคม และเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินส่วนบุคคล

SCB EIC คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ระดับ 2.5% ตลอดปีนี้ เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสู่ศักยภาพและเอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย อีกทั้งยังสื่อสารสนับสนุนให้ใช้มาตรการเฉพาะจุด และแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนในการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ฟื้นตัวช้า ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วในช่วงต้นปี เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าตามมุมมอง Fed ลดดอกเบี้ยช้าลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดทุนที่ยังไม่ค่อยดีนัก มุมมองเงินบาทในระยะต่อไปคาดว่าจะแข็งค่าต่อเนื่องได้สู่ระดับ 32-33 ณ สิ้นปีนี้

ดังนั้น คงต้องจับตาว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะฝ่าฟันมรสุมได้ดีแค่ไหน.

 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซึมยาวถึงกลางปีหน้า

ข้อมูลจากสถาบันยานยนต์จะพบว่า ในปี 2566 ตลาดยานยนต์ในไทยมีมูลค่ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของ GDP ประเทศ และจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ของภาครัฐที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของโลก อันดับ 5 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน

ความท้าทายเศรษฐกิจโลก2025

ดูเหมือนว่าในปีหน้า 2568 การค้าโลกและเศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายและโอกาส โดย finbiz by ttb ฉายภาพเศรษฐกิจภาพใหญ่ และเจาะความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลต่อการค้าโลกและการค้าของไทยไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ศก.รัฐบาลมาดามแพจะรอดไหม?

ผลสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพล เมื่อ 2 วันก่อนนี้ มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในหัวข้อ “รัฐบาลนายกฯ อุ๊งอิ๊ง ไปไหวไหม” พบว่ามีคนเชื่อว่ารัฐนาวาของ มาดามแพ จะยืนหยัดจนครบเทอมเพียงแค่ 41% เท่านั้น โดยมองเรื่องจุดชี้เป็นชี้ตาย ปัญหาปากท้อง จะเป็นตัวชี้ขาดว่ารัฐบาลจะอยู่รอดหรือไม่รอด

เปิด5เคล็ดลับผ่อนบ้านหมดไว!!

การมีบ้านหรือคอนโดมิเนียมเป็นของตัวเอง อาจเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของมนุษย์เงินเดือนหลายๆ คน ด้วยหลากหลายเหตุผล เช่น เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ขยับขยายที่อยู่เพื่อเริ่มสร้างครอบครัว หรือมีความคุ้มค่าในระยะยาว แทนการเช่าอยู่อาศัย

อัปเกรดฝีมือ'ช่างซ่อมรถอีวี'

ต้องยอมรับว่ากระแสยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในช่วงที่ผ่านมาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แม้จะลดลงจากช่วงแรก แต่ก็ยังมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น การใช้งานของกลุ่มผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้นและขยายตัวไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ

ปัญหาขยะรอบหมอชิต2

จากกรณีที่มีการออกมาแชร์ภาพกองขยะบริเวณรอบสถานีขนส่งหมอชิต 2 ที่อยู่ในความดูแลของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น จากการตรวจสอบของ บขส.และการรถไฟฯ