ณ จุดนี้เดินหน้าเต็มที่....
นายกฯ เศรษฐา พูดว่างั้น
ก็เป็นอันว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นตาบอดคลำช้างกันต่อไป
ดูเหมือนรัฐบาลใช้ความพยายามมากเหลือเกินที่จะบอกว่าปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศกำลังแย่ โฟกัสไปที่แบงก์ชาติ ราวกับเป็นตัวถ่วง
วานนี้ (๑๙ มกราคม) "เผ่าภูมิ โรจนสกุล" เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามไปถึงแบงก์ชาติ
แต่ละข้อสนับสนุนความเชื่อที่ว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังวิกฤต ไม่ว่าจะความล่าช้าของงบประมาณปี ๒๕๖๗ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ติดลบ ๑๔ เดือนติด เชื่อธนาคารพาณิชย์หดตัว เศรษฐกิจภาคประชาชนรายจ่ายมากกว่ารายได้
แล้วตบตูดว่า นโยบายการคลัง (รัฐบาล) และนโยบายการเงิน (ธปท.) ควรสอดประสานกันหรือไม่ ปัจจุบันรัฐบาลเห็นความจำเป็นในการกดคันเร่งนโยบายการคลัง (ซึ่ง Digital Wallet เป็นหนึ่งในนั้น) แต่นโยบายการเงินยังคงอยู่ในช่วงการกดเบรกหรือไม่ และการขับรถคันเดียวกัน ขาหนึ่งกดคันเร่ง ขาหนึ่งกดเบรก พร้อมกัน รถจะพังหรือไม่ ประเทศจะมีปัญหาหรือไม่
ไม่อยากขัดคอรัฐบาลสักเท่าไหร่ เอาเป็นว่าอยากได้เงิน ๕ แสนล้านไปแจกประชาชน ออกเป็นพระราชกำหนดเลยครับ
มันจะได้สมกับการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ที่ต้องทำแบบเร่งด่วน
เลิกอ้างตัวเลขเพื่อให้เศรษฐกิจประเทศดูแย่กันได้แล้ว
มันดาบสองคม
ต่างชาติเห็นรัฐบาลไทยขยันบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะแย่ ใครจะกล้ามาลงทุน
เห็นรัฐบาลบอกว่าจะรออ่านรายงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ถ้าจะเอาแบบนั้นก็เอา
รอก็รอ เลื่อนแจกเงินหมื่นไปอีกปี ประชาชนคงไม่ว่า
แม้จะยังไม่ถูกระบุว่าเป็นเอกสารที่เป็นทางการ แต่เอกสารที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลข้อเสนอแนะฉบับนี้ยากที่จะเป็นเอกสารปลอม
มันคือเอกสารที่ ป.ป.ช.ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้น
เอกสารฉบับนี้ระบุถึง วิกฤตเศรษฐกิจ เอาไว้ด้วย
คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ได้นั่้งในห้องแอร์แล้วนั่งเทียนเขียนข้อมูลมานะครับ
แต่ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ๔ หน่วยงาน คือ กรมสรรพากร กรมบัญชีกลาง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย มาให้ความเห็น
สรุป ตัวบ่งชี้วิกฤตทางเศรษฐกิจ ออกมา ดังนี้...
ในทางเศรษฐศาสตร์ วิกฤตเศรษฐกิจ ใช้เรียกสถานการณ์ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างกะทันหัน มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้อัตราการว่างงานสูง มูลค่าตลาดหุ้นตกต่ำ เกิดภาวะขาดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนเดือดร้อนไปทั่วประเทศ
วิกฤตเศรษฐกิจสามารถแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ อาทิ วิกฤตธนาคาร วิกฤตค่าเงิน วิกฤตหนี้สาธารณะ
วิกฤตธนาคารเกิดขึ้นเมื่อธนาคารเผชิญกับการสูญเสียความเชื่อมั่นจนคนมาถอนเงินอย่างกะทันหัน หรือเมื่อธนาคารประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างมาก
วิกฤตค่าเงินเกิดขึ้นเมื่อมูลค่าสกุลเงินของประเทศอ่อนค่าลงอย่างมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะ เงินเฟ้อและการสูญเสียความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ
ส่วนวิกฤตหนี้สาธารณะมักเกิดขึ้นเมื่อประเทศไม่สามารถชำระหนี้รัฐบาลได้ วิกฤตต่างๆ เหล่านี้มักนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในที่สุด
ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก วิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาหลายครั้ง เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ระดับโลก ช่วงปี ๒๔๗๒ (ค.ศ. ๑๙๒๙) วิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ปี ๒๕๔๐ หรือที่รู้จักในชื่อ วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตการเงินโลก ปี ๒๕๕๐-๒๕๕๑ (ค.ศ. ๒๐๐๗-๒๐๐๘) เป็นต้น
ทั้งนี้ การจะพิจารณาว่าเศรษฐกิจประเทศใดเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่นั้น นักเศรษฐศาสตร์มักใช้สัญญาณตัวบ่งชี้หรือดัชนีทางเศรษฐกิจหลักๆ หลายตัวเพื่อชี้วัดจับชีพจรว่าเศรษฐกิจเกิดวิกฤตหรือไม่ โดยเฉพาะดัชนีหลักคือ "การหดตัวอย่างมีนัยสำคัญของ GDP" ที่สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงในภาคส่วนต่างๆ เมื่อ GDP ลดลงมักทำให้เกิดการว่างงาน ซึ่งสะท้อนผ่าน "อัตราการว่างงาน" ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก
สัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจอีกประการคือ "อัตราเงินเฟ้อและภาวะเงินฝืด" ที่สูงกว่าปกติมาก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อกัดกร่อนมูลค่าของเงิน ทำให้สินค้าและบริการมีราคาแพงขึ้น ในขณะที่ภาวะเงินฝืดทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง เนื่องจากผู้คนคาดหวังว่าราคาจะลดลงอีก และทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ซึ่งมักสะท้อนผ่าน "ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค" ที่ตกต่ำลง บ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงินน้อยลง ซึ่งอาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงขึ้น
ในหลายวิกฤตเศรษฐกิจ สัญญาณหนึ่งที่สำคัญคือ "การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาครัฐ" ที่สูงขึ้นมาก ส่งสัญญาณถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลในการจัดการการเงินและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
สำหรับในวิกฤตค่าเงิน ตัวบ่งชี้สำคัญคือ "การอ่อนค่าอย่างมากและรวดเร็วของค่าเงิน" ดังเช่นการลดค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๔๐ นอกจากนี้การตกต่ำของภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เช่นการตกต่ำของตลาดที่อยู่อาศัย ราคาบ้านที่ลดลงและการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลง อาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงวิกฤตเศรษฐกิจได้เช่นกัน
โดยสรุปแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจมีลักษณะเฉพาะ คือการหยุดชะงักอย่างรุนแรงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือในระบบการเงินของประเทศ มักจะมาพร้อมกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง การว่างงานที่สูง และมาตรฐานการครองชีพของประชาชนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ครับ...นิยามของวิกฤตเศรษฐกิจ บ่งชี้ด้วยตัวเลข
ไม่ใช่คิดเอาเอง
หากรัฐบาลเดินหน้าต่อ คงจะมีวิธีเดียวที่พอมองเห็นได้คือทำให้เศรษฐกิจประเทศวิกฤต ด้วยการประโคมว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฉิบหายป่นปี้แล้ว
ต่างชาติจะได้หนี
หุ้นจะได้ตก
แบงก์จะได้ทยอยล้ม
พูดเยอะๆ จะได้วิกฤตสมใจอยาก
จะได้เดินหน้าแจกเงินหมื่น
เอาให้เต็มเหนี่ยวเลยครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เจอตอ ชั้น ๑๔
งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เบื้องหลังผู้ลี้ภัย
เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี