ปฏิกิริยาจากปักกิ่งต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีจีนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาสะท้อนว่า “ทุกอย่างยังเครียดเหมือนเดิม”
เผลอ ๆ จะเครียดมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะตีความได้ว่าคนไต้หวันที่มาใช้สิทธิ์กว่า 5 ล้านคนเลือกคนที่จีนบอกว่าเป็น “ตัวปัญหา”
อีก 3 ล้านกว่าคนเลือกตัวแทนฝ่ายค้านหรือก๊กมินตั่งที่ปักกิ่งส่งสัญญาณบอกคนไต้หวันมาตลอดว่า “น่าคบมากกว่า”
หรือคนไต้หวันไม่เชื่อคำขู่จากจีนว่า “ท่านกำลังเลือกระหว่างสงครามกับสันติภาพ”?
เท่ากับเป็นการเตือนว่าถ้าเลือก “ล่าย ชิงเต๋อ” ของพรรค DPP ก็คือสงคราม
หากจะต้องการสันติภาพให้เลือก “โหว โหย่วอี๋”
แต่ผลการเลือกตั้งสะท้อนว่าคนไต้หวัน 40% ต่อ 33% เลือกคนที่อยู่คนละข้างกับปักกิ่ง
โฆษกทางการจีนออกมายืนยันว่าผลการเลือกตั้งไต้หวันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร
นโยบาย “จีนเดียว” ยังคงอยู่
และแผนการ “รวมชาติ” (ให้ไต้หวันมาอยู่ใต้รัฐบาลกลางที่ปักกิ่ง) ยังไม่เปลี่ยนแปลง
อยู่ที่ว่าจะรวมแบบสันติหรือแบบใช้กำลัง
ที่น่าสนใจคือในคำแถลงนั้น โฆษกจีนบอกว่าแม้จะไม่คบหากับรัฐบาลไต้หวัน แต่ก็จะยังคงไปมาหาสู่กับกลุ่มต่าง ๆ ทั้งการเมือง, สังคมและวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นต่อไป
ความหมายคือ จีนถือว่าไต้หวันเป็นจังหวัดหนึ่งของจีน ดังนั้นยังมีสิทธิ์ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนในแวดวงต่าง ๆ ในไต้หวันต่อไป
ไต้หวันอาจจะโวยว่านี่คือการ “แทรกแซง” กิจการภายในของตนหรือไม่
ปักกิ่งย่อมจะอ้างได้ว่าไม่ใช่การแทรกแซงเพราะรัฐบาลกลางอยู่ที่ปักกิ่ง ไต้หวันเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของจีน
ถ้อยคำแถลงของทางการจีนต่อผลการเลือกตั้งไต้หวันจึงสามารถอ่านระหว่างบรรทัดได้ว่าปักกิ่งไม่คบรัฐบาลไต้หวัน แต่จะยังกดดันรัฐบาลด้วยวิธีการต่าง ๆ
ผมติดตามการแถลงของโฆษกจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยความสนใจยิ่ง
เพราะเชื่อว่าน้ำเสียงของโฆษกคืออารมณ์ของสี จิ้นผิงวันนี้และจะเป็นแนวทางกำหนดนโยบายของปักกิ่งต่อไต้หวันจากนี้ไป
เฉิน ปินหัว โฆษกสำนักงานกิจการแห่งรัฐไต้หวัน กล่าวว่าผลการเลือกตั้งเผยให้เห็นว่าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ‘ไม่สามารถเป็นตัวแทนของความคิดเห็นสาธารณะกระแสหลักบนเกาะนี้ได้’
ที่บอกว่าผลการเลือกตั้งไม่ได้เป็น “ตัวแทนความคิดเห็นสาธารณะกระแสหลัก” บนเกาะแห่งนี้เท่ากับเป็นการไม่ยอมรับผลการหย่อนบัตร
จึงแปลว่าคำว่า “ประชาธิปไตย” บนแผ่นดินใหญ่กับบนเกาะแห่งนี้ไปกันคนละทางโดยสิ้นเชิง
โฆษกเฉินตอกย้ำว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
และยืนยันว่าการเลือกตั้งจะไม่เปลี่ยนภูมิทัศน์พื้นฐานและแนวโน้มการพัฒนาของความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ
อีกทั้งจะไม่เปลี่ยนแปลงความปรารถนาร่วมกันของเพื่อนร่วมชาติทั่วช่องแคบไต้หวันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
และจะไม่ขัดขวางสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือแนวโน้มการรวมประเทศของจีน
“จุดยืนของเราในการแก้ไขปัญหาไต้หวันและการตระหนักถึงการรวมประเทศยังคงเหมือนเดิม และความมุ่งมั่นของเรามั่นคงราวกับหินผา” เฉิน กล่าว
“เราจะปฏิบัติตามฉันทามติปี 1992 ที่ยืนยันหลักการจีนเดียว และต่อต้านกิจกรรมแบ่งแยกดินแดนที่มุ่งเป้าไปที่ 'เอกราชของไต้หวัน' รวมถึงการแทรกแซงจากต่างประเทศอย่างแข็งขัน” เฉิน กล่าว
ที่สะท้อนถึงการที่จีนจะไม่หยุดอยู่เฉย ๆ กับผลการเลือกตั้งคือคำกล่าวที่ว่าแผ่นดินใหญ่จะทำงานร่วมกับพรรคการเมือง กลุ่ม และประชาชนที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ ในไต้หวัน
เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือข้ามช่องแคบ ส่งเสริมการพัฒนาบูรณาการข้ามช่องแคบ ร่วมกันส่งเสริมวัฒนธรรมจีน และพัฒนาความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบอย่างสันติ ตลอดจนเป้าหมายของการรวมชาติ
ต้องดูต่อไปว่าจีนกับสหรัฐฯจะต่อกรกันอย่างไรในกรณีไต้หวัน
และตัวผู้นำคนใหม่ของไต้หวันซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 20 พฤษภาคมนี้จะมีท่าทีต่อปักกิ่งอย่างไร
ที่สำคัญที่จังหวะจะโคนและความร้อนแรงของวาทะของล่าย ชิงเต๋อต่อจีนเมื่อมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อจากไช่ อิงเหวินที่มีแนวทางแข็งกร้าวกับสี จิ้นผิงมาตลอด
ล่าย ชิงเต๋อ ประกาศหลังจากได้รับชัยชนะการเลือกตั้งว่าพร้อมจะนั่งลงพูดคุยกับปักกิ่ง แต่ต้องในฐานะที่เท่าเทียมกัน มิใช่การสยบยอมหรือก้มหัวให้กับปักกิ่ง
หากน้ำเสียงและลีลาของผู้นำคนใหม่บนเกาะแห่งนี้ยังมาในรูปแบบที่ปักกิ่งตีความว่ายังท้าทายอยู่ ความตึงเครียดจะพุ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่หากเมื่อนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีแล้ว ล่าย ชิงเต๋ออาจจะปรับท่าทีและวาทะให้ผ่อนเบาลงเพื่อไม่สร้างบรรยากาศร้อนแรงเกินไป ก็อาจจะได้เห็นการปรับท่าทีของทั้งสองฝ่าย
ซึ่งผมยังมองไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ
เพราะสหรัฐฯยังคงต้องการจะให้ไต้หวันอยู่ในวงจรของตัวเองเพื่อคานอำนาจของจีน
ส่วนจีนจะจับจ้องสหรัฐฯว่าจะใช้ผลการเลือกตั้งไต้หวันยกระดับการขายอาวุธและผนึกกำลังกับเกาะแห่งนี้เพื่อกดดันจีนเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่
อีกทั้งยังต้องมองไปปลายปีว่าการเลือกตั้งในสหรัฐฯจะจบลงด้วยใครจะเป็นประธานาธิบดีที่ทำเนียบขาว
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นตัวแปรที่จะประเมินว่าสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้จะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด
และไม่ว่าจะออกมาในทางใด ไทยเราก็จะได้รับผลกระทบทั้งด้านบวกและลบทั้งสิ้น
เพราะไต้หวันเป็นคู่ค้าและนักลงทุนที่สำคัญสำหรับไทย
ไต้หวันเป็นแหล่งว่าจ้างแรงงานไทยประมาณ 6 หมื่นคน
ไต้หวันเป็นผู้ผลิต semi-conductors หรือ “ชิป” อันเป็นชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตคอมพิวเตอร์, มือถือตลอดไปถึงเรือและเครื่องบินรบระดับสากล
และไต้หวันเป็นตัวละครสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้
มองข้ามมิติใดมิติหนึ่งไม่ได้เลย!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ