เมื่อคนที่ปักกิ่งเรียก ‘ตัวแสบ’ ได้ รับเลือกเป็นผู้นำไต้หวันคนใหม่!

 ท้ายที่สุดคำขู่จากปักกิ่งก็ไม่ได้ทำให้คนไต้หวันกลัวถึงขั้นต้องไปลงคะแนนเสียงให้ฝ่ายค้านขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของไต้หวันในการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

แต่ชัยชนะของ William Lai หรือ “ล่าย ชิงเต๋อ” แห่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าหรือ DPP ต่อ “โหว โหย่วหยี” แห่งพรรคก๊กหมินตั่งหรือ KMT ที่ทิ้งห่างกันประมาณ 7% หรือ 40-33% ย่อมยกระดับความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันอย่างปฏิเสธไม่ได้

เพราะปักกิ่งเรียกนายวิลเลียม ล่ายว่าเป็น “ตัวแสบ” หรือ troublemaker มาตลอด

ทั้งนี้เป็นเพราะจุดยืนที่กร้าว และไม่ยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนตามแนวเดียวกับไช่ อิงเหวินที่มาจากพรรคเดียวกันและก้าวลงจากตำแหน่งเพราะเป็นผู้นำมาสองสมัยแล้ว

วิลเลียม ล่ายเป็นรองประธานาธิบดีของไช่ อิงเหวินมาหนึ่งสมัย

จึงถือได้ว่าเป็นการส่งไม้ต่อด้วยนโยบายเดียวกัน...คือใกล้ชิดสหรัฐฯ ไม่พร้อมจะประนีประนอมกับจีนต่อไป

การที่วิลเลียม ล่ายชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันเสาร์ หลังการแข่งขัน 3 ฝ่ายที่ดุเดือดและตึงเครียดทำให้พรรคที่ประกาศว่า “ไม่ไว้วางใจจีน” จะอยู่ในอำนาจสมัยที่ 3 ติดต่อกัน

นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีตามระบอบประชาธิปไตยในปี 1996 บนเกาะแห่งนี้

พอรู้ผลว่าชนะเลือกตั้งแล้ว ผู้นำไต้หวันคนใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมืองในเดือนพฤษภาคมนี้ประกาศว่า

“ผมมุ่งมั่นที่จะปกป้องไต้หวันจากภัยคุกคามและการขมขู่จากจีน'

และ “จะรักษาสถานะข้ามช่องแคบไต้หวันที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

นั่นแปลว่าจะไม่มีการเจรจาเรื่อง “รวมชาติ” อย่างที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้ประกาศเป็นจุดยืนอันแน่วแน่ของจีนมาตลอด

พรรค DPP อ้างระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งว่าปักกิ่งได้พยายามอย่างหนักที่จะเข้าไปแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การรณรงค์บิดเบือนข้อมูล และการเพิ่มระดับกิจกรรมทางทหารรอบ ๆ เกาะอย่างเปิดเผยของฝ่ายจีน

ค่ำวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังการนับคะแนนดำเนินไปได้กว่าสามชั่วโมง วิลเลียม ล่ายก็ประกาศชัยชนะที่สำนักงานใหญ่พรรคในไทเป 

ตอนประมาณ 4 ทุ่มที่นั่นด้วยการนับคะแนนจากหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 99%แล้ว เขาได้ 40.14% และคู่แข่งคือโหว โหย่วหยีจากพรรคก๊กมินตั๋งที่ค่อนข้างจะเป็นมิตรกับจีนได้ 33.44%

ขณะที่คู่แข่งคนที่สามคือเคอ เหวินเจ๋อ (Ko Wen-je)ประธานพรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ได้ 26.43%

ผลเลือกตั้งครั้งนี้สูสีกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งก่อนมาก 

คราวนั้นไช่ อิงเหวินเอาชนะหาน กว๋อหยีคู่แข่งจากก๊กหมินตั่งด้วย 57% 

พรรค DPP ก่อตั้งขึ้นในปี 1986 ถึงวันนี้ สามารถเอาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง 5 ครั้งจากทั้งหมด 8 ครั้ง

แต่ผลการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในวันเดียวกันนั้น ผลออกมาว่าพรรคนี้สูญเสียเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติ

นั่นจะทำให้การผ่านกฎหมายของรัฐบาลต้องเผชิญกับอุปสรรคไม่น้อยในอีกสี่ปีข้างหน้า

ประเด็นเรื่องอธิปไตยและอนาคตของไต้หวันถือเป็นประเด็นขัดแย้งที่ร้อนแรงที่สุดเรื่องหนึ่งระหว่างปักกิ่งและวอชิงตัน 

ปฏิกิริยาจากปักกิ่งว่าด้วยผลการเลือกตั้งไต้หวันครั้งนี้จึงจะเป็นตัววัดบรรยากาศความสัมพันธ์สามเส้าคือจีน, ปักกิ่งและวอชิงตันว่าจะมีรูปแบบใดจากนี้ไป

วิลเลียม ล่ายประกาศให้คำมั่นกับประชาชนหลังได้ชัยชนะการเลือกตั้งว่าจะสานต่อเส้นทางของไช่ อิงเหวินในการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับจีน

และยังย้ำว่าภายใต้การนำของเขา ไต้หวันจะรักษาสถานะที่เป็นอยู่ต่อไป

จุดยืนของเขาว่าด้วยการสนับสนุน "เอกราชของไต้หวัน" ก่อนหน้านี้จะหมายถึงการประกาศอย่างเป็นทางการของรัฐไต้หวันที่เป็นอิสระและมีอำนาจอธิปไตยในการแยกตัวจากการเมืองจีนหรือไม่...เป็นประเด็นที่จะกำหนดว่าเขาพร้อมจะบริหารความตึงเครียดในการไปมาหาสู่กับปักกิ่งเพียงใด

คนที่จะมาเป็นรองประธานาธิบดีคือ “เซียว เหม่ยฉิน” Hsiao Bi-khim  ซึ่งเคยเป็นตัวแทนไต้หวันประจำวอชิงตัน

อีกนัยหนึ่งเธอคืออดีตเอกอัครราชทูตไต้หวันโดยพฤตินัยประจำวอชิงตันนั่นเอง

เธอได้ชื่อว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ ที่เก่งที่สุดของไต้หวัน" 

เธอจะเป็นรองประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวันที่ไม่ได้เกิดบนเกาะนี้ด้วย

ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวันปีนี้อายุ64 ปี เป็นลูกชายคนงานเหมือง สูญเสียพ่อไปตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เคยเป็นแพทย์ก่อนที่จะเข้าสู่วงการการเมือง 

เขาเป็นนายกเทศมนตรีของไถหนานอันเป็นที่ตั้งของโรงงานใหญ่ของบริษัทTSMC ผู้ผลิตชิปชั้นนำของไต้หวัน

ก่อนที่จะมาเป็นรองประธานของไช่ อิงเหวินในวาระที่สองของเธอ วิลเลียม ล่ายดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของคณะบริหารของเธอตั้งแต่เดือนกันยายน 2017จนถึงต้นปี 2019

ความสัมพันธ์ระหว่างไทเปและปักกิ่งถดถอยลงนับตั้งแต่จีนหยุดพูดคุยกับรัฐบาลไต้หวันหลังจากที่ไช่ อิงเหวินเข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2016

ความสัมพันธ์เสื่อมถอยลงไปอีกเมื่อเกิดสงครามเทคโนโลยีและการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น 

ฝ่ายบริหารของไช่ อิงเหวินเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยี และออกกฎหมายจารกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้ความลับทางการค้าไหลเข้าสู่จีน 

หลังจากที่วอชิงตันขึ้นบัญชีดำบริษัท Huawei Technologies ในปี 2019

จากนี้ไปต้องติดตามว่าความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนจะเลวร้ายลงอย่างที่นักวิเคราะห์หลายสำนักมองหรือไม่

เช่นปักกิ่งจะส่งบินเครื่องบินทหารมาลาดตระเวรรอบ ๆ เกาะไต้หวันมากขึ้นเหนือเส้นกึ่งกลางในช่องแคบไต้หวันหรือไม่

จีนจะพยายามแย่งชิงพันธมิตรทางการทูตอย่างเป็นทางการของไต้หวันให้มากขึ้นหรือไม่

ปักกิ่งจะลงโทษกลุ่มธุรกิจไต้หวันที่ได้แสดงความชื่นชอบประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวันหรือไม่

และจีนจะพยายามเชื่อมต่อกับ สส. ของพรรคก๊กหมินตั่งที่จะรับการเลือกตั้งมากขึ้นในสภาหรือไม่อย่างไร

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นร้อน ๆ ที่เราต้องจับตาตรงช่องแคบไต้หวันจากนี้ไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021