ดูเหมือนว่าผู้ก่อการร้ายไอซิสคือตัวละครที่เพิ่มเข้ามา น่าติดตามว่าจะมีบทบาทมากน้อยเพียงไร กำลังจะฟื้นคืนชีพเพื่อเล่นงานอิหร่านใช่หรือไม่
3 มกราคม เกิดเหตุระเบิดกลางงานรำลึกวีรบุรุษอิหร่าน นายพลกอเซม โซเลมานี (Qasem Soleimani) มีผู้เสียชีวิตเกือบร้อย บาดเจ็บร่วมสามร้อย นายพลโซเลมานีเป็นนายทหารคนสำคัญ สัญลักษณ์ต่อต้านชาติตะวันตกของอิหร่านที่รัฐบาลจัดงานรำลึกทุกปี ผู้ก่อการร้ายไอซิสที่ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าว กลับมาดังอีกครั้ง เหตุระเบิดนี้จึงน่าสนใจ ตีความได้หรือไม่ว่าการกลับมาครั้งนี้มุ่งเป้าเล่นงานอิหร่านในยามที่ฮามาส ฮูตี กองกำลังต่างๆ ที่อิหร่านหนุนหลังกำลังสู้กับฝ่ายสหรัฐ ปฏิบัติการของไอซิสมีรัฐบาลต่างชาติหนุนหลังหรือไม่คือประเด็นคำถามน่าคิด
ภาพ: ภาพไอซิสในอดีต
เครดิตภาพ: https://www.brookings.edu/articles/isis-and-the-principles-of-war/
IS ไม่มีวันตาย รัฐต่างชาติอุปถัมภ์:
ทันทีที่ก่อเหตุ กลุ่มไอซิส (ISIS) ประกาศว่าคนของตน Omar al-Mowahed กับ Seif-Allah al-Mujahed เป็นผู้จุดระเบิด
ไอซิสมีหลายชื่อ ISIS มาจากชื่อเต็มว่า Islamic State in Iraq and Syria อีกคำคือ ISIL มาจากชื่อเต็มว่า Islamic State of Iraq and the Levant ในช่วงหนึ่งกลุ่มสถาปนาประเทศชื่อ “รัฐอิสลาม” (Islamic State) มีชื่อย่อว่า IS ทั้ง 3 ชื่อมีความหมายเล็งถึงกลุ่มเดียวกัน
ใครอยู่เบื้องหลังไอซิสเป็นประเด็นที่ถกกันมานาน
นาย Nickolay Mladenov ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติและ Head of the United Nations Assistance Mission for Iraq (UNAMI) กล่าวถึงไอซิสว่า “เมื่อดูจากเรื่องการเงิน อาวุธต่างๆ ยานพาหนะที่ ISIL เป็นเจ้าของ เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นองค์การที่ได้เงินทุนสนับสนุนค่อนข้างดี” ISIL ได้รับการสนับสนุนการเงินและสิ่งต่างๆ จากหลายแหล่ง ส่วนกองกำลังที่ข้ามจากซีเรียเข้ามายังอิรัก “ได้รับการฝึก ติดอาวุธและเตรียมตัวอย่างดี”
ตั้งแต่ ISIL/ISIS เริ่มปรากฏตัวในอิรัก นาย Adnan al-Asadi ปลัดกระทรวงหมาดไทยอิรักในสมัยรัฐบาลมาลิกีเคยเตือนรัฐบาลซาอุฯ ให้ยุติการแทรกแซงกิจการภายในอิรัก ชี้ว่า “ปัญหาของจังหวัดอันบาร์ทางภาคตะวันตกเป็นปัญหาระดับประเทศ ไม่ใช่ข้อพิพาทระหว่างชนเผ่า”
ข้อมูลบางแหล่งชี้ว่าซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนทุกกลุ่ม รวมทั้งพวกสุดโต่งอย่าง al-Nusra Front กับ ISIS
มิถุนายน 2014 นูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) นายกรัฐมนตรีอิรักชี้ว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินและขวัญกำลังใจแก่ ISIS แต่รัฐบาลซาอุฯ ปฏิเสธ ชี้แจงว่า “ซาอุดีอาระเบียไม่ได้ช่วยเหลือ ISIS หรือกลุ่มก่อการร้ายใดๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินหรือกำลังใจ” คำกล่าวอ้างใดๆ ที่ตรงข้ามกับแถลงการณ์นี้เป็นคำกล่าวหาเท็จ
ซาอุฯ สนับสนุนอธิปไตย ความเป็นเอกภาพและบูรณภาพแห่งดินแดนของอิรัก ปรารถนาให้พลเมืองอิรักทุกคนได้รับการปกป้องและพ้นจากความยากลำบาก “ต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติ และการแทรกแซงกิจการภายในอิรักทุกรูปแบบ” ขอให้ประชาชนอิรักทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าศาสนาใด ร่วมเป็นหนึ่งเดียวเอาชนะภัยคุกคามในขณะนี้
นาย Charles Lister นักวิชาการจาก Brookings Doha Center ชี้ว่า ปัญหาคือ “ไม่มีหลักฐานที่สามารถนำเสนอต่อสาธารณะว่ารัฐบาลของประเทศใดเกี่ยวข้อง สนับสนุนเงินแก่ ISIS” หลายประเทศถูกกล่าวหาสนับสนุนไอซิสแต่ทั้งหมดต่างปฏิเสธ ทั้งยังชี้ว่าประเทศตนปราบปรามไอซิสเรื่อยมา
ภายใต้แนวคิดผู้ก่อการร้ายเป็นเครื่องมือของรัฐต่างชาติ ผู้ก่อการร้ายที่มีรัฐอุปถัมภ์กลายเป็นกลุ่มที่มีความพร้อม มีศักยภาพ ได้รับการสนับสนุนในหลายด้าน แม้กระทั่งด้านการเมืองระหว่างประเทศ
ที่สำคัญคือ องค์กรก่อการร้ายจะเกิดขึ้นและสูญสลายไป แต่ไม่มีใครสามารถเอาผิดต่อรัฐผู้บงการเบื้องหลัง ตราบเท่าที่ไม่มีหลักฐานหนักแน่นสามารถเชื่อมโยงผู้บงการตัวจริงเหล่านั้น
ข้อสรุปคือ ไอซิสหรือรัฐอิสลาม (IS/ISIL/ISIS) มีที่มาจากการรวมตัวของกลุ่มเดิมหลายกลุ่ม สมาชิกมาจากหลายประเทศ หลายสัญชาติ ส่วนใครเป็นรัฐอุปถัมภ์ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ไม่สามารถเอาผิดผู้สนับสนุน
ในอนาคตจะเกิดกลุ่มผู้ก่อการร้ายเช่นนี้อีก เป็น “เครื่องมือ” เพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นถ้าจะถามว่าใครอยู่เบื้องหลังเล่นงานอิหร่านครั้งนี้ คำถามที่ดีกว่าคือไอซิสรับงานจากใคร
ไอซิสมุ่งเล่นงานชีอะห์:
ไม่ว่าใครอยู่เบื้องหลังข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดคือตั้งแต่ต้นจนล่าสุดไอซิสมุ่งเล่นงานพวกชีอะห์หรือที่อิหร่านสนับสนุน ทั้งต่อประเทศซีเรียที่นำโดยประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) อิรักที่ชีอะห์เป็นแกนนำรัฐบาล จนสามารถตั้ง “รัฐอิสลาม” (Islamic State: IS) ในช่วงหนึ่งก่อนถูกปราบปรามโดยเฉพาะจากกองกำลังรัสเซีย (ไม่ใช่สหรัฐ)
วิธีการของไอซิสนอกจากมุ่งเล่นงานพวกนับถือนิกายชีอะห์ ยังทำลายสัญลักษณ์หรือศาสนสถานต่างๆ ของพวกชีอะห์ กล่าวได้ว่าคือกลุ่มก่อการร้ายที่ถูกสร้างขึ้นหรือตั้งขึ้นเพื่อเล่นงานชีอะห์อิหร่าน
ครั้งล่าสุดนี้ไอซิสก่อเหตุระเบิดรุนแรงกลางประเทศอิหร่าน ในงานรำลึกวีรบุรุษผู้ต่อต้านชาติตะวันตก
แนวคิดไซออนิสต์เบื้องหลังไอซิส:
ตั้งแต่ไอซิสเริ่มปรากฏตัวเมื่อ 20 ปีที่แล้ว (อบู มูซาบ อัล ซาร์กาวี (Abu Musab al Zarqawi) ได้จัดตั้งกลุ่ม Tawhid wal-Jihad (“Monotheism and Holy War”) จนกลายเป็น IS
ในมุมมองของชีอะห์ถือว่าพวก IS เป็นตักฟีรีย์ (Takfiri) มีความหมายว่าเป็นพวกไม่ยอมรับมุสลิมกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นซุนนีหรือชีอะห์ ถือว่าพวกตนเท่านั้นที่เป็นมุสลิมแท้ ตักฟีรีย์ไม่ใช่ของใหม่ เป็นแนวคิดหรือขบวนการบิดเบือนศาสนาอิสลาม สร้างกลุ่มมุสลิม (เทียม) เพื่อทำลายมุสลิมแท้ และชี้ว่า พวกยิวไซออนิสต์คือผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง หวังใช้ IS ทำลายอิสลาม
รัฐบาลอิหร่านชี้ว่าพฤติกรรมของกลุ่มนี้ผิดจากหลักศาสนาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฆ่าตัดคอ การเผาเชลยศึกเป็นๆ การจับคนตรึงกางเขน ในเหตุครั้งล่าสุดรัฐบาลอิหร่านจึงชี้อีกครั้งว่าอิสราเอลนี่แหละคือผู้อยู่เบื้องหลังไอซิส
ถ้าตีความแบบอิหร่าน ศึกฮามาส-อิสราเอลจนถึงเหตุระเบิดในอิหร่านกำลังเชื่อมความขัดแย้งอิสราเอล-อิหร่านเข้ามาใกล้ขึ้น สัมพันธ์กันมากขึ้น แท้จริงแล้วสงครามกาซาคือส่วนหนึ่งของสมรภูมิที่ใหญ่กว่านั่นคือระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน หรือฝ่ายสหรัฐกับอิหร่าน นั่นเอง
นี่คือคำเตือนใช่หรือไม่:
เช่นเคย ฝ่ายอิหร่านกล่าวโทษรัฐบาลอิสราเอลเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดกลางงานรำลึกฮีโร่อิหร่าน โดยอิงข้อมูลจากอดีต ความเป็นปรปักษ์ที่มีต่อกันอย่างยาวนาน แต่ครั้งนี้ยังไม่ปรากฏหลักฐานชี้ชัด อีกทั้งเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลอิสราเอลหรือประเทศใดจะยอมรับว่าตนคือผู้อยู่เบื้องหลัง “ผู้ก่อการร้าย” ที่นานาชาติประณาม ร่วมกันกำจัด ท้ายที่สุดอาจได้แต่สันนิษฐานตามข้อมูลหลักฐานใหม่ ประกอบกับที่มีอยู่เดิม
ที่น่าคิดคือ ทันทีที่เกิดเหตุ ไอซิสประกาศว่าตนคือผู้ลงมือ (ต่างจากเหตุร้ายหลายครั้งในหลายประเทศที่ปราศจากการระบุตัวตนหรือขาดหลักฐานชี้ชัด) คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ทำไมจึงก่อเหตุในงานนั้น เป้าหมายคืออะไร หากตีความตามบริบทปัจจุบันที่ความขัดแย้งกำลังบานปลาย รัฐบาลสหรัฐชี้ว่าอิหร่านมีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะฮามาส ฮูตี กองกำลังต่างๆ เตือนหลายครั้งว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปอิหร่านต้องรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมความแล้วระเบิดจากไอซิสคือคำเตือนใช่หรือไม่
ดูเหมือนว่าผู้ก่อการร้ายไอซิสคือตัวละครที่เพิ่มเข้ามา น่าติดตามว่าจะมีบทบาทมากน้อยเพียงไร ต้องตระหนักว่าแม้ไอซิสอ่อนแอลงมากแต่ยังไม่ตาย ตราบใดที่กลุ่มนี้เกิดขึ้น เข้มแข็งขึ้นตามการสนับสนุนของรัฐบาลต่างชาติ (ถ้ายึดแนวคิดเช่นนั้น) กำลังจะฟื้นคืนชีพเพื่อเล่นงานอิหร่านใช่หรือไม่
หากฟื้นขึ้นมาจริง สมการความขัดแย้งย่อมซับซ้อนกว่าเดิม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด
ฮิซบุลเลาะห์-อิสราเอลจากเริ่มรบสู่หยุดยิง
ถ้าคิดแบบฝ่ายขวา อิสราเอลที่หวังกวาดล้างฮิซบุลเลาะห์ การสงบศึกตอนนี้ไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และฮิซบุลเลาะห์กำลังเปลี่ยนจุดยืนหรือ