นักการทูตหลายชาติจับตาการทูตของเวียดนาม ที่พยายามจะรักษาสมดุลระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอย่างน่าสนใจ
บางคนเรียกขานแนวทางนี้ว่าเป็น “การทูตไผ่ลู่ลม" แบบเวียดนาม ในยุคที่โลกก้าวเข้าสู่การแบ่งขั้วอย่างเห็นได้ชัด
ดูเหมือนจะประคองตนได้ยากกว่าช่วง “สงครามเย็น" ที่น้อยประเทศจะสามารถยืนอยู่ตรงกลางระหว่างค่ายโลกเสรีและค่ายคอมมิวนิสต์ได้
วันนี้นักวิเคราะห์บอกว่าการทูต "ไม้ไผ่" (bamboo diplomacy) ของเวียดนามมีมิติที่น่าสนใจ เพราะเวียดนามมีประวัติศาสตร์กับทั้งสองชาติที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน
มีทั้งช่วงทำสงครามและมีทั้งจังหวะที่ต้องอยู่ร่วมกัน เพราะมีผลประโยชน์ที่สอดคล้องต้องกัน
ผู้นำเวียดนามอธิบายว่า การทูตแบบนี้มีคุณสมบัติพิเศษเพราะแก่นแท้ของไผ่เวียดนามมี "รากที่มั่นคง" และ "กิ่งก้านที่ยืดหยุ่น"
เลขาธิการทั่วไปเวียดนาม เหงียน ฟู้ จ่อง ยกย่องความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับสหรัฐฯ และจีนว่าเป็นการได้รับผลประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญ ในยุทธศาสตร์การทูตแบบ "ไม้ไผ่" ของประเทศ
เป็นยุทธศาสตร์การสร้างสมดุลระหว่างความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ
ปีที่ผ่านมา เวียดนามต้อนรับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน
เป็นพิธีต้อนรับอบอุ่นกันคนละแบบ...และห่างกันเพียงสามเดือนเท่านั้น
ไม่เพียงแต่เท่านั้น ขณะที่ฮานอยพยายามจะคบหาสองยักษ์ใหญ่อย่างเปิดเผยแล้ว เวียดนามก็ได้ยกระดับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น
เป็นหนึ่งในหกหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม ที่มีวอชิงตันกับปักกิ่งเป็นแกนของความสัมพันธ์เชิงซ้อนนั้น
สุนทรพจน์ในที่ประชุมทางการทูตแห่งชาติครั้งที่ 32 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่กรุงฮานอย ผู้นำเวียดนามอธิบายว่า ประเพณีการทูตของเวียดนามฝังแน่นอย่างลึกซึ้งด้วยแก่นแท้ของต้นไผ่เวียดนาม ซึ่งมี "รากฐานที่มั่นคง" และ "กิ่งก้านที่ยืดหยุ่น"
เบอร์หนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามบอกว่า การทูตของเวียดนามเป็นการปรับตัวไปตามสถานการณ์
สอดคล้องกับหลักการสำคัญของ "มั่นคงในวัตถุประสงค์ ยืดหยุ่นในยุทธศาสตร์และยุทธวิธี"
ถือได้ว่านี่คือนโยบายหลักของเวียดนาม ที่ปรับเปลี่ยนมาจากแนวทางที่เคยแข็งกร้าวบนพื้นฐานของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์
จะบอกว่าเวียดนามเดินตามแนวทางของจีนทั้งหมดเสียเลยก็ไม่น่าจะใช่
เพราะบริบทของสองประเทศต่างกันมาก
จีน “ยืดหยุ่น” เรื่องการนำเอาเศรษฐกิจการตลาดแนวทุนนิยมมาผสมผสานกับความเป็นสังคมนิยม
โดยเสริมสร้อยว่า “เศรษฐกิจการตลาดแบบสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์แบบจีน”
แต่ด้านการเมือง จีนยังยืนหยัดที่จะไม่ยอมประนีประนอมกับโลกตะวันตก ยกเว้นในประเด็นเรื่องการค้าและการลงทุน
แต่ในแง่การเมืองและความมั่นคงแล้ว ปักกิ่งก็ยังปักหลักไม่ยอมยืดหยุ่นตามวอชิงตันแต่อย่างใด
ขณะที่เวียดนามนั้น เนื่องเพราะอำนาจต่อรองไม่ได้สูงเท่าจีน อีกทั้งยังต้องคบหาทั้งสองยักษ์ในเวลาเดียวกัน เพื่อการเสริมสร้างเศรษฐกิจให้ทันกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน ยุทธศาสตร์จึงถูกปรับให้มีความพลิกพลิ้วได้มากกว่า
แนวคิดเรื่อง "การทูตแบบไม้ไผ่" ได้รับการประกาศเป็นแนวทางระดับชาติโดยเหงียน ฟู้ จ่อง ในปี 2016 หลังจากที่เขาได้รับเลือกให้เป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นครั้งที่สอง
จากนั้นเป็นต้นมา เวียดนามก็ดำเนินแนวทางการทูตนี้อย่างแข็งขันเพื่อบริหารจัดการกับความตึงเครียดทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2021
ถือเป็นจังหวะก้าวที่ระมัดระวัง เพราะต้องเผชิญกับสองยักษ์ที่มีพฤติกรรมท้าทายระเบียบโลกมากขึ้น
ด้านหนึ่งคือข้อกังวลเกี่ยวกับสหรัฐฯ ที่มองปักกิ่งด้วยท่าทีที่ไม่เป็นมิตรนักจากความเคลื่อนไหวในเชิงรุกหนักขึ้นในทะเลจีนใต้
แต่อีกด้านหนึ่ง ฮานอยก็ต้องการจะขยับเข้าใกล้จีนมากขึ้นในด้านเศรษฐกิจ
เพราะยิ่งโลกตะวันตกผลักดันแนวทางการแบ่งขั้วทั้งที่เรียกว่า decoupling และ de-risking กับจีน เวียดนามก็ยิ่งมีเหตุผลที่จะต้องสร้างความมั่นใจว่า การค้าขายและลงทุนกับจีนที่ตั้งอยู่ใกล้กับตนนั้นยังขยายตัวต่อเนื่องไปด้วย
หลังจากการยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในเดือนกันยายนของปีที่ผ่านมา เวียดนามมุ่งมั่นที่จะพัฒนา "อนาคตร่วมกัน" กับจีนในเดือนธันวาคมหรือผ่านมาเพียงสามเดือน
สิ่งที่ผู้นำเวียดนามต้องการจะส่งสัญญาณถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือ ตนไม่ได้โอนเอียงไปทางจีนมากเกินไป
ขณะเดียวกัน จีนยืนยันว่าเวียดนามยังคงอยู่ในวงโคจรในนามแห่งมิตรในภูมิภาคแห่งนี้
ตีความได้ไม่ยากว่า จีนก็ไม่ต้องการให้เวียดนามหลุดจากขั้วของตนไปผูกติดกับตะวันตกมากเกินไปเช่นกัน
เพื่อไม่ให้จีนรู้สึกว่าตนกระโจนไปอยู่ค่ายตะวันตกทั้งตัวแล้ว เวียดนามก็ประกาศจุดยืนของการมีส่วนร่วมใน "ประชาคมแห่งอนาคตร่วมกัน" กับจีน
แต่ก็ยังรักษาพื้นที่ทางการทูตเพื่อสร้างความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศตะวันตกอื่นๆ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ, การเมือง และความมั่นคง
ในระหว่างการเยือนของสี จิ้นผิง ฮานอยและปักกิ่งได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือ 36 ฉบับในด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การค้า และความมั่นคง
เวียดนามไม่ลังเลที่จะจับมือกับจีนในโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพราะเชื่อว่าจะทำให้จีนไว้วางใจมากขึ้น
อีกทั้งยังเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจในวันข้างหน้าได้ด้วย
แต่เวียดนามก็มองสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งสินค้าออกที่ใหญ่ที่สุดในวันนี้ ขณะที่จีนเป็นตลาดนำเข้าที่ใหญ่ที่สุด ด้วยนโยบายคบหาทุกฝ่ายเช่นนี้ เวียดนามก็กลายเป็นผู้เล่นเชิงกลยุทธ์ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่มีพลังต่อรองสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นั่นย่อมหมายถึงการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศจำนวนมากเช่นกัน
สมุดปกขาวของเวียดนามปี 2019 ระบุว่า ประเทศกำลังดำเนินนโยบาย "สี่ไม่" ซึ่งหมายถึง
ไม่มีการเป็นพันธมิตรทางทหาร
ไม่เข้าข้างประเทศหนึ่งต่ออีกประเทศหนึ่ง
ไม่มีฐานทัพทหารต่างประเทศ
และไม่ใช้กำลังหรือขู่ว่าจะใช้กำลังในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
น่าสังเกตว่าเวียดนามเลือกที่จะละเว้นจากการประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และโหวตไม่เห็นด้วยกับการระงับสมาชิกภาพของรัสเซีย (ผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ที่สุดของฮานอยและเป็นพันธมิตรเก่าแก่) จากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
มีคำถามว่า เวียดนามจะสามารถรักษาความเป็นกลางไว้ได้หรือไม่ เมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือด ระหว่างมหาอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา
ต้องไม่ลืมว่า สงครามยูเครนได้เปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ของประเทศต่างๆ เช่น ฟินแลนด์ สวีเดน และเดนมาร์กอย่างฉับพลัน
ฟินแลนด์และสวีเดนสมัครเข้าร่วม NATO เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ในขณะที่เดนมาร์ก ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง NATO ได้ลงนามข้อตกลงฐานการป้องกันประเทศกับสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่แล้ว
หากสงครามยูเครนและกาซาทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และจีนกับสหรัฐฯ ต้องยืนอยู่คนละข้างอย่างชัดเจน เวียดนามอาจจะถูกบังคับให้ต้องเลือกข้างเหมือนที่ฟินแลนด์และสวีเดนทำมาก่อน
ตัวแปรอื่นๆ เช่น หากโดนัลด์ ทรัมป์ โค่นโจ ไบเดน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้ นโยบายของสหรัฐฯ ต่อเวียดนามก็อาจจะปรับเปลี่ยนได้อีก
ผู้นำเวียดนามเพิ่งพูดเมื่อเดือนที่แล้วว่า พลวัตระดับโลกและระดับภูมิภาคจะ "ซับซ้อนและคาดเดาไม่ได้มากขึ้น"
พร้อมเตือนว่า "ในโลกที่มีหลายขั้วและหลายศูนย์กลาง การแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศใหญ่ๆ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งและการเผชิญหน้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความท้าทายที่สำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา"
และสั่งการให้นักการทูตเวียดนามจับตาดูสถานการณ์อย่างระมัดระวังเพื่อคาดการณ์ที่แม่นยำ และ "มีความเพียรแต่ยืดหยุ่น" ในการทูต
เป็นบททดสอบ “การทูตไผ่ลู่ลมแบบเวียดนามยุคดิจิทัล” อย่างน่าวิเคราะห์ยิ่งทีเดียว!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ