ถูกต้องแล้วครับ...
คณะกรรมการกฤษฎีกามีหน้าที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่รัฐบาล
ฉะนั้นข่าวที่ออกมาว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีที่รัฐบาลจะขอออก พ.ร.บ.กู้เงิน ๕ แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ให้กระทรวงการคลังแล้ว โดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ฟันธงว่าการกู้เงินทำได้หรือไม่
เป็นเพียงการอธิบายในข้อกฎหมายเท่านั้น
แต่ "ช่วยคลัง-จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์" ตีความว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้คำตอบว่า สามารถออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน ๕ แสนล้านบาทได้
แต่มีข้อสังเกต และข้อเสนอแนะมาด้วย ในเรื่องของให้ปฏิบัติตามมาตรา ๕๓ และมาตรา ๕๗ ของ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ ในเรื่องของความคุ้มค่า
ส่วนที่สองที่มีข้อเสนอแนะคือ เรื่องของการให้รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน
ก็เป็นไปตามที่คาดคิดเอาไว้ และคณะกรรมการกฤษฎีกาก็บอกไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า รัฐบาลสามารถออกพระราชบัญญัติได้ แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย
ที่จริงรัฐบาลไหนๆ ก็ออกพระราชบัญญัติได้
คำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงชัดเจน พิจารณาในแง่กฎหมายเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ไปบอกว่ารัฐบาลทำอะไรได้หรือไม่ได้
โดยเฉพาะในเรื่องนโยบาย
เมื่อคำตอบคือข้อกฎหมาย ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะตัวบทค่อนข้างชัดเจน รัฐบาลสามารถออกพระราชบัญัติ
จากนี้ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลแล้วครับว่าจะเดินหน้าต่อ
หรือหยุดเพียงแค่นี้
พระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๓ บัญญัติไว้ว่า
...การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน
กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดําเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น
เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น...
หากตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด แค่มาตรา ๕๓ นี้ นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลก็แท้งแล้วครับ
แทบไม่ต้องไปอ้างอิงมาตรา ๕๗ รวมถึงรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๐ ที่ระบุกรณีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้เลย
พูดง่ายๆ แค่พระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ ก็รอดยากแล้ว
ยากอย่างไร?
"เฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน"
ประโยคนี้ประโยคเดียว ทำรัฐบาลตาย ๒ รอบ
รอบแรกเรื่อง ความจำเป็นเร่งด่วน
รอบที่้สอง ตั้งงบประมาณประจำปีไม่ทัน
หากรัฐบาลจะเดินหน้าต่อ นึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะอ้างข้อกฎหมายไหนมาแหก ๒ ด่านนี้
เรื่องความจำเป็นเร่งด่วนต้องย้ำกันอีกครั้ง นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชนร่วมๆ ๕๐ ล้านคน หัวละ ๑ หมื่นบาท ใช้งบประมาณ ๕ แสนล้านบาท เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงเลือกตั้งต้นปี ๒๕๖๖
"เศรษฐา ทวีสิน" คือผู้ประกาศนโยบาย เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๖
เกือบ ๑ ปีผ่านไปแล้ว จะตีความคำว่า "จำเป็นเร่งด่วน" อย่างไร
หนำซ้ำรัฐบาลบอกกับประชาชนว่าจะเริ่้มแจกเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้
บวกไปอีกครึ่งปี!
เข้าข่าย "จำเป็นเร่งด่วน" ตาม มาตรา ๕๓ ของพระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ หรือไม่
กรณี ตั้งงบประมาณประจำปีไม่ทัน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจาก "จำเป็นเร่งด่วน" ยิ่งแล้วใหญ่
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๗ เพิ่งจะผ่านสภาผู้แทนฯ วาระแรก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง
รัฐบาลจะให้คำตอบว่า "ไม่ทัน" ได้อย่างไร
รัฐบาลแถลงนโยบายเดือนกันยายน หากเห็นว่าเศรษฐกิจวิกฤต จะต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบ ๕ แสนล้านบาท ทำไมรัฐบาลไม่ออกเป็นพระราชกำหนดกู้เงิน ณ เวลานั้นเลย
และขณะนั้น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๗ ยังมิได้พิจารณาในสภาฯ แต่อย่างใด
แบบนี้ถึงจะเข้านิยาม "ไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน"
แต่รัฐบาลเลือกที่จะออกเป็นพระราชบัญญัติ และรู้ดีอยู่แล้วว่า ต้องใช้ระยะเวลาที่้ยาวนาน
ไม่สัมพันธ์กับข้ออ้าง "จำเป็นเร่งด่วน" เลย
ภาวะทางเศรษฐกิจเขารายงานกันเป็นรายไตรมาส
๑ ไตรมาส เท่ากับ ๓ เดือน
เพราะภาวะเศรษฐกิจสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
และภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งแบงก์ชาติ และสภาพัฒน์ ต่างยืนยันตรงกันว่า อยู่ในช่วงของการฟื้นฟู ไม่ใช่วิกฤต
รัฐบาลเพื่อไทยมีญาณทิพย์รู้ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี ๒๕๖๖ ได้อย่างไรว่า เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๗ เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่วิกฤตอย่างรุนแรง มีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องใช้เงิน ๕ แสนล้านบาทอัดฉีดเข้าระบบ
แถมยังใช้วิธีแจกฟรีให้ประชาชน
วันนี้จบหน้าที่ของ คณะกรรมการกฤษฎีกา ไปแล้ว ข้อแนะนำทางกฎหมาย ก็ไม่หนีไปจากตัวบทที่ปรากฏ
หากรัฐบาลเดินหน้าต่อ ถามว่าจะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ หรือไม่
ก็คงหลับหูหลับตา กระเตงให้ผ่านกันไป
แต่หากไม่ผ่าน เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง นายกฯ เศรษฐา มี ๒ ทางเลือก คือลาออก หรือไม่ก็ยุบสภา
พ่อเจ้าประคุณรุนช่อง วุฒิสภาหมดวาระ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เสียด้วย
ไทม์ไลน์มันชวนให้ระทึก! เหลือเกิน
หรือแม้ผ่านสภาฯ อีกด่านที่เจอแน่ๆ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ
ทันทีที่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ๕ แสนล้านเข้าสภา จะมีพรรคฝ่ายค้าน หรือไม่ก็บรรดานักร้อง ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างแน่นอน
รัฐบาลก็เตรียมคำตอบไว้ให้ดี
เร่งด่วน ตั้งงบประมาณประจำปีไม่ทัน จริงหรือไม่
เรื่องนี้เป็นวิทยาศาสตร์ครับ
จะนั่งทางในตอบไม่ได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เจอตอ ชั้น ๑๔
งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เบื้องหลังผู้ลี้ภัย
เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี