ดันอีวีให้ครบวงจร

เดี๋ยวนี้จะไปทางไหนก็เริ่มเห็นคนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) กันมากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มรถไฟฟ้า 100% ที่ขับโฉบไปโฉบมาให้ยลโฉมกันเต็มถนนไปหมด และสังเกตได้ง่ายๆ คือรูปทรงที่จะดูทันสมัย สวยงาม หรือน่ารักน่าชังกว่ารถในยุคเก่าๆ อยู่มาก แถมสีสันที่มีให้เลือกหลากหลายก็สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ร่วมทางได้ด้วยเช่นกัน

ในปี 2566 ที่ผ่านมาถือว่าอุตสาหกรรมรถอีวีเริ่มประสบความสำเร็จกันเพิ่มมากขึ้น มีหลายบริษัทเข้ามาทำตลาดในประเทศ และดึงฐานลูกค้าไปเพิ่มจนเติบโตได้อย่างดี อาจจะด้วยการสนับสนุนของทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และแน่นอนว่าในปี 2567 นี้ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งปีทองของกลุ่มรถอีวี หลังจากภาครัฐผ่านนโยบายสนับสนุนอีวี 3.5 ที่มีแผนส่งเสริมให้ทั้งการใช้ การผลิต และการนำเข้าอีวีมีมากขึ้น

ในอีกมุมหนึ่งอีวีเองไม่ใช่แค่รถยนต์เพื่อกลุ่มผู้ใช้รถส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรถสาธารณะด้วย ที่ปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นรถอีวีถูกนำไปใช้เป็นรถสาธารณะให้บริการในหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถบัส รถเมล์ รถตุ๊กๆ หรือวินมอเตอร์ไซค์ ขณะเดียวกันในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมาก็ได้มีการผลักดันการใช้รถอีวีในรถสาธารณะอีกด้านหนึ่ง คือกลุ่มรถแท็กซี่ ที่มีบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVme Plus) ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น AION ES (ไอออน อีเอส) ให้แก่บริษัท สุขสวัสดิ์แท็กซี่ จำกัด สหกรณ์แท็กซี่สหมิตร และสหกรณ์อาสาสมัคร ทดแทนรถยนต์รุ่นเก่าที่กำลังจะปลดระวาง และเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถโดยสารสาธารณะ

โดย AION ES ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 100% พร้อมสมรรถนะการขับขี่สูงและประหยัดค่าพลังงาน เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ผู้ขับแท็กซี่ และบุคคลทั่วไป โดยมีอัตราค่าสิ้นเปลืองพลังงานเฉลี่ยเพียง 0.75-1 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่ง AION ES จำหน่ายโดย EVme มาพร้อมระบบแท็กซี่อัจฉริยะ (Smart Taxi) มีระบบติดตามรถ กล้องถ่ายภาพนิ่ง เครื่องระบุตัวตนผู้ขับขี่ และปุ่มฉุกเฉิน เพิ่มความปลอดภัยทั้งผู้ขับและผู้โดยสาร ตามมาตรฐานของกรมขนส่งทางบก นอกจากนี้ EVme ยังได้ร่วมมือกับศูนย์บริการยานยนต์และผู้ให้บริการด้านการเงินจากบริษัทชั้นนำ เพื่อรองรับการดูแลแบบครบวงจร ทั้งการซ่อมบำรุง และด้านสินเชื่อ

และ บริษัท อีวี มี พลัส เองก็คือบริษัทที่จัดตั้งโดยบริษัท อรุณ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าผ่านการให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม สอดคล้องตามกลยุทธ์อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศธุรกิจอีวีให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เช่น บริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบบุคคลทั่วไป (B2C) และแบบองค์กร (B2B) บริการจัดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า บริการสมาชิก EVme Club และ EVme Subs บริการสัญญาเช่ารถยนต์ไฟฟ้าระยะยาว ปัจจุบันให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต

ด้าน นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. กล่าวว่า ปตท.เร่งสนับสนุนการใช้อีวีในภาคการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวที่สอดรับกับการใช้ชีวิตของผู้คน อีกทั้งจากสถิติรถสันดาป 1 คันมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยปีละ 6 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่าต่อคัน ปัจจุบันมีรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนในระบบขนส่งกว่า 85,000 คัน ทำให้ภาคส่วนนี้มีการปล่อยก๊าซฯ มากกว่าปีละ 500,000 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่า

นอกจากนี้ ต้นทุนค่าพลังงานของผู้ใช้รถแท็กซี่ยังมีอัตราสูง ดังนั้นการส่งเสริมการใช้อีวีให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่นอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าพลังงาน ยังช่วยสนับสนุนการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำและเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของประเทศ โดย ปตท.พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่และเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไทย

ด้านนายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท อรุณ พลัส จำกัด หรือ ARUN PLUS กล่าวว่า ความร่วมมือกับผู้ประกอบการแท็กซี่โดยสารนั้น ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนผ่านระบบขนส่งสาธารณะไปสู่การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในการสร้างนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขับเคลื่อนแห่งอนาคตอย่างแท้จริง

แน่นอนว่า แผนงานการสนับสนุนการใช้รถอีวีนั้น ต้องไม่ใช่แค่ผลิตหรือใช้ในครัวเรือน การให้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะหันมาใช้รถอีวีก็เป็นหนึ่งในแผนการที่จะผลักดันให้เกิดสังคมอีวีอย่างครบวงจร และถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ และภาพของประเทศที่จะก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำนั้นก็ชัดเจนมากยิ่งขึ้น.

 

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งเครื่องดึงนักท่องเที่ยว

จากสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ให้ข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมในช่วงเกือบ 7 เดือนเต็ม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-28 ก.ค.2567 ทั้งสิ้น 20,335,107 คน

ต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้อง

หลังจากนายกรัฐมนตรีหญิง แพรทองธาร ชินวัตร รับตำแหน่งอย่างชัดเจน ทำให้ภาคเอกชนต่างก็ดีใจ เพราะไม่ทำให้ประเทศเป็นสุญญากาศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสิ่งแรกที่ภาคเอกชนอย่าง

แนะเจาะใจผู้บริโภคด้วย‘ความยั่งยืน’

คงต้องยอมรับว่าประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งจากผู้บริโภค ภาคเอกชน และภาครัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับตัว

รัฐบาลงัดทุกทางพยุงตลาดหุ้น

หลังจากปล่อยให้ตลาดหุ้นซึมมาอย่างช้านาน จนปัจจุบันอยู่ต่ำกว่า 1,300 จุด เรียกได้ว่าสำหรับนักลงทุนถือเป็นความเจ็บปวด เพราะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ไปไหน

ดันอุตฯไทยไปอวกาศ

แน่นอนว่าในยุคที่โลกต้องก้าวหน้าไปสู่อุตสาหกรรมที่ทันสมัยมากขึ้น และต่อไปไม่ได้มองแค่ในประเทศหรือในโลกแล้ว แต่มองไปถึงนอกโลกเลยด้วยซ้ำ เพราะจะเป็นหนึ่งในกลไกในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคพื้นที่มีความแข็งแกร่งส่งผ่านไปยังอุตสาหกรรมอวกาศได้

แบงก์มอง ASEAN ยังมาเหนือ

ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องจับตามองกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสถานการณ์โลกและภายในประเทศ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้า โดยมุมมองของ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า