เปิดประเด็นใหม่
วานนี้ (๒๘ ธันวาคม) นายกฯ เศรษฐา นั่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๖ ที่ทำเนียบรัฐบาล
ผู้เข้าร่วมประชุมระดับบิ๊กเนมเพียบ!
ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ประธานวุฒิสภา, ผู้บัญชาการทหารอากาศ, ผู้บัญชาการทหารเรือ, รองผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมไปถึงตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม และหอการค้าฯ ฯลฯ
ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายกฯ โชว์วิสัยทัศน์ จะล้มยุทธศาสตร์ชาติ
"ผมไม่เชื่อกับการวางแผน และล็อกตัวเองไว้ยาวนานเกินไป ไม่มีใครที่วางแผนไว้นานขนาดนี้ อย่าว่าแต่ ๒๐ ปีเลย ๕ ปียังทำยาก
โลกนี้เปลี่ยนไปแล้ว และจะเปลี่ยนเร็วขึ้นเรื่อยๆ จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้ง ChatGPT, AI, Quantum Computing หรือแม้กระทั่งเรื่องพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ๆ ที่จะมากำหนดทิศทางโลก
เราเดินทางไปเจรจาค้าขายเมื่อ ๓ ปีที่แล้วดึงคนมาลงทุน แต่ดูเรื่องค่าแรงงานขั้นต่ำที่พวกท่านไม่สนับสนุนเท่าไหร่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าหัวเราะ แต่เป็นเรื่องที่น่าละอายใจ
และยังมีอีกหลายเรื่องที่ ๓ ปีที่แล้วไม่มี เช่น เรื่องพลังงานสะอาด เวลาที่ผมเดินทางไปต่างประเทศจะเป็นเรื่องแรกที่หยิบยกขึ้นมาพูด นี่เป็นตัวอย่างที่โลกเปลี่ยน
เรื่องเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของ war of talent ที่ทุกประเทศทั่วโลกทุ่มดึงดูดเพื่อให้คนที่มีความสามารถไปทำงาน และยังมีเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์สามสี่ปีที่แล้ว สหรัฐก็ไม่ได้มี fiction เยอะขนาดนี้ แต่ขณะนี้มี fiction ส่งคืนในหลายประเทศ..."
แสดงว่า นายกฯ เศรษฐา ไม่ได้ศรัทธาในแผนการพัฒนาประเทศ ๒๐ ปี ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะมาจากภาคธุรกิจ
โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่การแข่งขันดุเดือด และต้องปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ครั้นจะไปกำหนดแผนงานบริษัทระยะยาว ๑๐-๒๐ ปีก็ใช่เรื่อง
มีหวังเจ๊งไม่เป็นท่า
แต่การพัฒนาประเทศต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
ภาคธุรกิจเอกชน ส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนตัวผู้บริหารบ่อยนัก
อย่าง นายกฯ เศรษฐา อยู่กับ "แสนสิริ" มาร่วม ๓๐ ปี
ขณะที่รัฐบาลมีวาระ ๔ ปี แต่ส่วนใหญ่อยู่ไม่ครบเทอม
หลายรัฐบาลอยู่ไม่ครบปีด้วยซ้ำ
ฉะนั้นการต่อเนื่องในการพัฒนาประเทศจึงแทบเป็นไปไม่ได้
เอาแค่รัฐบาลลุงตู่ กับรัฐบาลปัจจุบัน หลังเปลี่ยนรัฐบาล หลายๆ โครงการทำท่าไม่ได้ไปต่อ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
บางโครงการเปลี่ยนรัฐบาล ต้องไปนับ ๑ ใหม่ เพื่อเปลี่ยนเงื่อนไขตามที่รัฐบาลใหม่ต้องการ
หลายโครงการถูกดึงกลับ ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะกันใหม่
หรือกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นกระทรวงสำคัญเกือบจะที่สุด เพราะเป็นกระทรวงสร้างคน การเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยๆ แทบหาความต่อเนื่องของนโยบายไม่ได้เลย
เมื่อการศึกษาไทยล้าหลัง ประชาชนก็หัวร้อน ด่ามั่วไปหมด แต่มีใครเคยคิดบ้างว่า สาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไร
เราแทบไม่มียุทธศาสตร์ในการสร้างคนเลย
หรือแม้แต่ปัญหาคอร์รัปชัน ทุกรัฐบาลเข้ามาล้วนคุยโม้โอ้อวดว่าจะปราบคอร์รัปชันให้สิ้นไป
อยู่ไปๆ คนในรัฐบาลนั่นแหละครับ โกงตัวพ่อ
เพราะมันไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ไม่มีตัวชี้วัดการทำงาน ไม่มีการประเมินอะไรทั้งนั้น
ปัจจุบันการคอร์รัปชั่นยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ที่นักการเมืองแทบไม่อยากพูดถึงนัก
โดยเฉพาะการคอร์รัปชันระดับชาติ!
ฉะนั้นหากยังปล่อยไปอย่างนี้ ยากครับที่ทุกปัญหาจะได้รับการแก้ไข
ยิ่งการเมืองในปัจจุบันแข่งกันขายนโยบายประชานิยมด้วยแล้ว แทบไม่ต้องมองอะไรไกลเลย เพราะนักการเมืองเอาแต่คิดหาวิธีแจกอะไร อย่างไร เพื่อแลกกับคะแนนนิยม
หากใครเคยอ่านยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐ จะพบว่า มิได้ลงในรายละเอียดว่ารัฐบาลต้องทำอะไรอย่างไร
แต่ให้แนวทางกว้างๆ
วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และตัวชี้วัด
ยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดไว้ ๖ ด้าน ซึ่งถือว่าครอบคลุมต่อการพัฒนาประเทศ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง
ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
เห็นนายกฯ เศรษฐา โชว์วิสัยทัศน์ว่า "ยังมีอีกหลายเรื่องที่ ๓ ปีที่แล้วไม่มี เช่น เรื่องพลังงานสะอาด"
หากเข้าไปอ่านยุทธศาสตร์ชาติสักนิด ก็จะเห็นว่ามีการพูดถึงปัญหาด้านพลังงานอยู่เช่นกัน
ในยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการระบุถึงการพัฒนาความมั่นคงพลังงานของประเทศและส่งเสริมการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยลดความเข้มข้นของการใช้พลังงาน
นายกฯ เศรษฐา อาจไม่เคยศึกษายุทธศาสตร์ชาติเลย แต่พูดตามคนอื่น ซึ่งแน่นอนว่าได้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยนพอสมควร
ในยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีการพูดถึงความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ
(๑) ประชาชนและภาคีต่างๆ ในสังคมร่วมมือกันในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ
(๒) บุคลากรภาครัฐยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต
(๓) การปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบมีประสิทธิภาพ มีความเด็ดขาด เป็นธรรมและตรวจสอบได้
และ (๔) การบริหารจัดการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการ
นี่คือกรอบการปราบโกงที่รัฐบาลต้องไปจัดการในรายละเอียด ก็น่าแปลกใจว่าทำไมนักการเมืองถึงได้เกลียดยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี หนักหนา
ที่ผ่านมาน้อยรัฐบาลที่จริงจังกับปัญหาคอร์รัปชัน
โลกเปลี่ยนไปเร็วก็จริง แต่ใช่ว่าการวางแนวทางแก้ปัญหา ๒๐ ปีจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย
พูดเรื่องนักการเมืองโกงวันนี้ ใช่ว่านักการเมืองจะเลิกโกงใน ๕ ปี
อีก ๒๐-๓๐ หรือ ๑๐๐ ปีข้างหน้า หากไม่วางยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อแก้ปัญหา
นักการเมืองก็ยังโกงอยู่นั่นเอง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เจอตอ ชั้น ๑๔
งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เบื้องหลังผู้ลี้ภัย
เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี