เมื่อวานเขียนถึงข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ ที่ทำท่าจะลามข้ามไปถึงปีใหม่
คำถามคือทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้หรือไม่?
หลายสัปดาห์ ก่อนเหตุการณ์ยิงเลเซอร์ในทะเลจีนใต้ ประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ ไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ
ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำฟิลิปปินส์คนใหม่ออกเดินทางประเทศนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่รับตำแหน่งมา
มาร์กอส จูเนียร์ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เห็นพ้องกันว่าเพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างกันในทะเลจีนใต้ที่จะลามปามกว้างขวางเกินเหตุ ควรจะต้องมีการติดตั้งช่องทางสื่อสารโดยตรง
แต่ถ้าถามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฟิลิปปินส์ที่ใกล้ชิดกับทำเนียบประธานาธิบดี ก็จะได้ข้อมูลว่าในแง่ของมาร์กอสแล้ว แม้จะมีการตกลงจะมี “สายด่วน” ระหว่างผู้นำ แต่ก็มีประโยชน์ "ค่อนข้างจำกัด"
มาร์กอสตอกย้ำถึงปัญหานี้ด้วยการบอกว่า “วิธีการทางการทูตแบบดั้งเดิม” กับจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก่อให้เกิด “ความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อย”
ปักกิ่งยังคงตอบโต้อย่างแข็งกร้าวจนถึงวันนี้ ในกรณีล่าสุดที่เกิดเหตุกันในทะเลจีนใต้อีกรอบหนึ่ง โฆษกรัฐบาลจีนพยายามจะชี้ว่าความสัมพันธ์ของสองประเทศมีมิติในภาพใหญ่ที่ควรจะได้รับการพิจารณามากกว่าแค่เรื่องนี้
“กรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ไม่ได้เป็นตัวแทนของความสัมพันธ์จีน-ฟิลิปปินส์ทั้งหมด” โฆษกจีนย้ำ
“เราพร้อมที่จะจัดการกับข้อพิพาทอย่างเหมาะสมผ่านการเจรจาและการปรึกษาหารือ” หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว “(เรา) จะไม่ปิดประตูการเจรจาและติดต่อกับฟิลิปปินส์”
เห็นได้ชัดว่าพอมาร์กอส จูเนียร์ ขึ้นมาเป็นผู้นำของฟิลิปปินส์ ท่าทีและแนวปฏิบัติของประเทศนี้ก็เดินคนละเส้นทางกับของอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต อย่างชัดเจน
ดูเตอร์เตเคยประกาศว่าคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการปี 2559 เป็น “แค่กระดาษแผ่นหนึ่งที่สามารถทิ้งลงถังขยะได้”
ยืนข้างจีนยังไม่พอ ดูเตอร์เตยังถอยออกห่างจากสหรัฐฯ อย่างร้อนแรงทีเดียว
ด้วยการประกาศว่าจะยกเลิกข้อตกลงกับวอชิงตันที่ให้ทหารสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์หมุนเวียนกันเยี่ยมเยือนซึ่งกันและกัน
แต่มาร์กอส จูเนียร์ หันหัวเรือกลับในนโยบายเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง
พร้อมประกาศให้คำมั่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจะไม่ละทิ้งความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ แม้แต่น้อย
มิหนำซ้ำยังจะขยายข้อตกลงด้านกลาโหมเพื่อให้สหรัฐฯ สามารถเข้าถึงฐานทัพสำคัญของฟิลิปปินส์ได้อีกด้วย
เท่านั้นไม่พอ เขายังแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือไตรภาคีกับพันธมิตรสหรัฐฯ ให้มากขึ้น
เช่น เพิ่มการฝึกซ้อมทางทะเลร่วมกับออสเตรเลียและญี่ปุ่นในทะเลจีนใต้ ให้จีนได้ประจักษ์แจ้งถึงท่าทีใหม่ของฟิลิปปินส์อีกด้วย
พันธมิตรเหล่านี้หนุนหลังมะนิลาเต็มที่ในการเผชิญหน้ากับปักกิ่ง
หลังจากที่สหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์จีนว่าด้วยเหตุการณ์ล่าสุดในทะเลจีนใต้ โฆษกกระทรวงการต่างจีนชี้นิ้วไปที่วอชิงตันว่าเป็นตัวการที่ "เคยสมรู้ร่วมคิด ส่งเสริม และสนับสนุนการละเมิดและการยั่วยุของฟิลิปปินส์มาระยะหนึ่งแล้ว" ในน่านน้ำนี้
ก่อนหน้านี้ ปักกิ่งเคยแสดงความไม่พอใจต่อฟิลิปปินส์ที่ยอมให้กองกำลังอเมริกันใช้ฐานของตน
หนึ่งในฐานทัพที่ว่าตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้ใกล้กับจุดที่เป็นข้อพิพาท
จึงเป็นเหตุให้จีนสรุปว่าสหรัฐฯ คือต้นเหตุของความตึงเครียดในภูมิภาค
ถามว่าเรื่องทั้งหมดนี้อาจกลายเป็นเรื่องร้ายแรงได้ไหม?
คำตอบคือวาทศิลป์ตอบโต้ระหว่างกันและการแลกเปลี่ยนคำเตือนว่าทะเลจีนใต้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
นิตยสารอเมริกันฉบับหนึ่งเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “ความขัดแย้งที่อันตรายที่สุดที่ไม่มีใครพูดถึง”
เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำสหรัฐฯ ยังบอกกับสื่อญี่ปุ่นว่า ทะเลจีนใต้ไม่ใช่ไต้หวันที่เป็น "จุดวาบไฟ" และความขัดแย้งทางทะเลที่นั่นก็คล้ายกับ “จุดเริ่มต้นของสงครามอีกครั้ง สงครามโลกครั้งที่สอง”
ดูเตอร์เตยังเปิดเผยหลายครั้งในสุนทรพจน์ในที่สาธารณะว่า สี จิ้นผิง เคยเตือนถึง "ปัญหา" หากฟิลิปปินส์ขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทะเลที่จีนอ้างสิทธิ์
สหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะมาช่วยเหลือมะนิลา หากสินทรัพย์ทางทะเลภายในอาณาเขตของตนถูกโจมตี
สนธิสัญญาป้องกันซึ่งกันและกันระหว่างทั้งสองถือว่าการโจมตีฝ่ายหนึ่งเป็นการโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง
เป็นไปได้ว่าผู้นำจีนต้องการทดสอบความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อพันธมิตร
เท่ากับเป็นการทดสอบว่าเอาเข้าจริงๆ ถ้าจีนกดดันฟิลิปปินส์หนักขึ้น สหรัฐฯ จะมาช่วยปกป้องฟิลิปปินส์มากน้อยแค่ไหน
น่าเชื่อได้ว่าความขัดแย้งเต็มรูปแบบไม่น่าจะปะทุขึ้นในเร็วๆ นี้
ผู้เชี่ยวชาญไม่เชื่อว่าอเมริกามีความกระหายที่จะทำสงครามในทุกด้านในสถานการณ์เช่นที่เป็นอยู่ขณะนี้
ฟิลิปปินส์มุ่งเป้าที่จะประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาคมโลกได้ฟังเรื่องราวจากด้านของตน มากกว่าที่จะปล่อยให้จีนเล่าเรื่องที่เป็นเวอร์ชันของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว
จึงมีการเชิญนักข่าวทั้งในประเทศและจากต่างประเทศขึ้นเรือบ่อยครั้ง เพื่อสังเกตการณ์ความเป็นไปที่ฟิลิปปินส์กล่าวหาว่าเป็นกิจกรรมคุกคามจากฝ่ายจีน
ถึงวันนี้ยังน่าเชื่อว่ามาร์กอส จูเนียร์ ยังพยายามจะใช้ช่องทางการทูตเพื่อแก้ปัญหากับปักกิ่ง
เช่น ยังไม่ขับไล่ทูตปักกิ่งประจำฟิลิปปินส์กลับบ้านอย่างที่มีการขู่ไว้ก่อนหน้านี้
มีการจัดตั้งทีมทนายความระหว่างหน่วยงานเพื่อสอบสวนคดีใหม่ที่ถูกกล่าวหาว่า "ล่วงละเมิดอย่างผิดกฎหมาย" โดยจีน
“เราต้องมองหาแนวคิดใหม่ หลักการใหม่ เพื่อที่เราจะได้ขยับไปในทิศทางที่ฉีกจากที่เคยเป็นมา” มาร์กอส จูเนียร์ กล่าว
"เราจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของเราในการแก้ปัญหา"
ความหมายของผู้นำฟิลิปปินส์ก็คือ หากใช้แนวทางแบบเดิมของรัฐบาลชุดก่อนกับจีนก็จะได้คำตอบเดิมๆ
น่าติดตามว่าผู้นำฟิลิปปินส์คนใหม่นี้จะปรับเปลี่ยน “สูตรใหม่ในการบริหารจัดการความขัดแย้งกับมังกรยักษ์” อย่างไรจึงจะป้องกันไม่ให้ความบาดหมางบานปลาย
และยังสามารถคบกับทั้งวอชิงตันและปักกิ่งได้ในระดับที่เป็นประโยชน์ต่อตน
ผมกำลังศึกษาเพื่อเปรียบเทียบวิธีคิดและปฏิบัติที่แตกต่างระหว่างฟิลิปปินส์กับเวียดนามต่อจีนและสหรัฐฯ อย่างสนใจยิ่ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ