เลือกตั้ง สว.ปีหน้าจะเปิดทาง ให้ซื้อขายเสียงได้ง่ายขึ้นหรือไม่?

เมื่อวานเขียนถึงกติกาพื้นฐานของการเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดหน้าหลัง 11 พฤษภาคมปีหน้าแล้ว

ต่อมาต้องเข้าใจถึงที่มาของ สว.ชุดใหม่

เมื่อผู้สมัครคุณสมบัติครบแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองภายใน 20 กลุ่ม

ผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิเลือกสมัครได้แค่หนึ่งกลุ่ม และในหนึ่งอำเภอเท่านั้นตามมาตรา 15

ทุกกลุ่มจะทำการเลือกกันเองตั้งแต่ในระดับอำเภอ พอได้ตัวแทนระดับอำเภอก็ไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับจังหวัด จากนั้นค่อยไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับประเทศ

จนได้สมาชิกครบ 200 คน

iLaw ซึ่งได้รวบรวมขั้นตอนการ “เลือกกันเอง” เป็นอย่างนี้

ด่านแรก เลือกกันเองในระดับอำเภอ (มาตรา 40)

ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ห้าอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม 

เริ่มด้วยการเลือกกันเองภายในกลุ่มที่ผู้สมัครเลือกสมัครก่อน ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน

ผู้ได้คะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม

ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม เพื่อให้ได้สามอันดับแรกของแต่ละกลุ่มไปเลือกกันต่อในระดับจังหวัด

กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน

ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน            โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละหนึ่งคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองในขั้นนี้

ผู้ได้คะแนนสามลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกต่อในระดับจังหวัดต่อไป

ด่านที่สอง เลือกกันเองในระดับจังหวัด (มาตรา 41)

ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ห้าอันดับแรกของแต่ละกลุ่ม               

ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน

ผู้ได้คะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม

ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม เพื่อให้ได้สองอันดับแรกของแต่ละกลุ่มไปเลือกกันต่อในระดับประเทศ

กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน

ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน            โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่น กลุ่มละหนึ่งคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเอง

ผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกต่อในระดับประเทศต่อไป

ด่านที่สาม เลือกกันเองในระดับประเทศ (มาตรา 42)  

ขั้นแรก เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน เพื่อให้ได้ 40 คนแรกของแต่ละกลุ่ม

ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน

ผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในขั้นนี้หากแต่ละกลุ่มได้ไม่ครบ 40 คน ก็ให้ถือตามจำนวนเท่าที่มี แต่จะน้อยกว่า 20 คนไม่ได้ โดยผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศจะจัดให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือกนั้น เลือกกันเองใหม่จนกว่ากลุ่มนั้นจะมีจำนวนอย่างต่ำถึง 20 คน

ขั้นที่สอง เลือกผู้สมัครต่างกลุ่ม โดย 10 คนแรกที่ได้รับคะแนนสูงสุดของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็น สว.

กลุ่มแต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกจัดแบ่งออกตามสาย แบ่งออกเป็นไม่เกินสี่สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน     

ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยให้เลือกบุคคลจากกลุ่มอื่น กลุ่มละไม่เกินห้าคน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองในขั้นนี้

ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็น สว.สำหรับกลุ่มนั้น               และผู้ที่ได้ลำดับที่ 11 ถึง 15 จะเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น

โดยสรุป เมื่อผ่านการเลือกกันเองของกลุ่มผู้สมัคร สว.ทั้งหมดสามด่านแล้ว ก็จะได้ตัวแทนจากแต่ละกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน เป็นตัวจริงที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น สว.

มีคำถามว่า สว.แบบคัดเลือกกันเอง จะเป็นตัวแทนที่ดีกว่าเดิมจริงหรือ?

คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เคยให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของ สว.แบบใหม่นี้ว่า

 “ประชาชนเขาจะเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรง และไม่ต้องอิงกับพรรคการเมือง เพราะไม่ต้องหาเสียง เขาก็คุยกันเฉพาะแต่ในกลุ่มบุคคลที่สมัคร กลไกในลักษณะนี้จะทำให้ สว.ปลอดจากการเมือง มาจากทุกสาขาอาชีพ มาจากคนทั่วประเทศ และกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็คือ ‘ประชาชน’”

iLaw ตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาซื้อเสียงอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม

เหตุเพราะจำนวนคนที่ผู้สมัครต้อง "ซื้อ" มีขนาดเล็กลง

กล่าวคือ หากเป็นระบบการเลือกตั้ง ผู้สมัครชิงตำแหน่ง สว.จะต้องมั่นใจว่าตนจะได้รับเสียงจากประชาชนตามจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีขนาดใหญ่

แต่พอเปลี่ยนเป็น "การคัดเลือกกันเอง" ในกลุ่มอาชีพ ยิ่งกลุ่มอาชีพใดมีผู้สมัครน้อย การซื้อเสียงก็จะยิ่งทำได้ง่ายมากขึ้นไปอีก

รัฐธรรมนูญ 2560 ยังให้อำนาจของ สว.เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกในหลายกรณี เช่น

หนึ่ง พิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย โดยเป็นการร่วมพิจารณากับสภาผู้แทนราษฎร

ในกรณีที่เป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (มาตรา 132) ส่วนการกลั่นกรองกฎหมายคือ การพิจารณากลั่นกรองเป็นชั้นที่สองต่อจากสภาผู้แทนราษฎร และหากไม่เห็นด้วยก็มีอำนาจเพียงยับยั้งไว้ (มาตรา 136 และมาตรา 143)

โดยอำนาจใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ โดยผลของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือ การเข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากมีผู้เสนอเข้ามา

โดยวาระที่หนึ่งและวาระที่สามจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทั้งสองสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

เช่น ถ้ามี สส.ครบจำนวน 500 และ สว.ครบจำนวน 200 รวม 700 คน จะต้องได้เสียงรวมกัน 351 เสียงขึ้นไป และในจำนวนดังกล่าวจะต้องมีเสียงของ สว.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน สว.ที่มีอยู่ หรืออย่างน้อย 67 คน จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ (มาตรา 256)

สอง อำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหาร เช่น การตั้งกระทู้ถาม (มาตรา 150) หรือเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้ ครม.แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสําคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ (มาตรา 153)

สาม อำนาจให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระ

นอกจากนี้ สว.มีอำนาจในการให้ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในการจัดทำ “มาตรฐานทางจริยธรรม” เพื่อบังคับใช้ต่อองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญนี้ และมาตรฐานทางจริยธรรมที่จัดทำขึ้นเสร็จแล้ว ก็จะมีผลบังคับใช้ต่อนักการเมืองทั้งคณะรัฐมนตรี สส.และ สว.เองด้วย (มาตรา 219) 

นอกจากนี้ยังมีอำนาจอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งเกี่ยวกับการทำหน้าที่ในวุฒิสภาเอง

เช่น การตั้งกรรมาธิการ (มาตรา 129) หรือการทำงานร่วมกันกับสภาผู้แทนราษฎรอื่นๆ

เช่น หากมีกรณีที่เกิดปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความเห็น ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งต่อประธานรัฐสภา เพื่อเปิดประชุมสภาและให้ สส.และ สว.ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้ แต่จะไม่สามารถทำการลงมติในปัญหานั้นได้ (มาตรา 165)

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าเรากำลังจะเห็นอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาเปลี่ยนไป...ด้านหนึ่งหมดอำนาจร่วมเลือกนายกฯ แต่ขณะเดียวกันก็มีอำนาจเพิ่มด้านตรวจสอบและถ่วงดุลสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยเช่นกัน

จับตากันทุกฝีก้าวจากนี้ไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ