ปัญหาจราจรเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับความเจริญเติบโตของกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย
การจราจรติดขัด สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครมานานแสนนาน
ผู้บริหารบ้านเมืองทั้งระดับรัฐบาล หรือระดับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหลายยุคหลายสมัย ชูธงเป็นนโยบายหาเสียง แต่เมื่อเข้ามาบริหารจัดการ ก็พบอุปสรรคต่างๆ และไม่สามารถดำเนินการแก้ไขให้เกิดผลสำเร็จ
ไม่มีใครกล้าเสนอตัวมาแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ หรือก็พยายามไปแก้ไขบางจุด เช่น จัดทำบัสเลนป้ายจอดรถประจำทาง ฯลฯ ก็ไม่ทำให้ปัญหาการจราจรดีขึ้น นับวันจะเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ
ปัจจัยหลักเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป พื้นผิวจราจรไม่พอเพียงกับจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่เพื่อเป็นอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ที่พักอาศัยกลางใจเมืองจำนวนมาก ไม่สอดคล้องกับผังเมืองและสภาพการจราจร
บริการรถสาธารณะ รถไฟฟ้า รถเมล์ ไม่ครอบคลุมเพียงพอกับความต้องการของประชาชน ฯลฯ
หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรุงเทพมหานคร ผู้รับผิดชอบพื้นที่ สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดการจราจร ตำรวจจราจรในฐานะผู้ให้บริการและบังคับใช้กฎหมายกวดขันวินัยจราจร องค์การขนส่งมวลชน องค์การรถไฟฟ้ามหานคร และหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน มีข้อจำกัดในการทำงานร่วมกันตลอดมา
ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน ปี พ.ศ.2536 จนถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระประชวร เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นระยะๆ ก่อนเสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมสมเด็จย่าเป็นประจำ บางช่วงพระองค์เองก็ทรงพระประชวรเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราชด้วย
พระองค์ทรงสังเกตเห็นสภาพปัญหาการจราจรบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า ทรงห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ไปเฝ้าฯ รับเสด็จ สอบถามถึงสาเหตุและสภาพปัญหา ตลอดจนทรงให้คำแนะนำการแก้ปัญหาการจราจรต่างๆ
พล.ต.อ.พงษ์ศักดิ์ โรหิโตปการ ได้บันทึกเรื่องราว "ประทับไว้ในดวงจิต" ข้อความบางตอนว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งพระราชทานวิธีแก้ไขปัญหาการจราจรทุกวัน ซึ่งผมได้รายงานพระราชกระแสรับสั่งเสนออธิบดีกรมตำรวจและผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบทุกวัน”
ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ และของสมเด็จย่า หลายครั้งรวมเป็นเงินทั้งหมด 23 ล้านบาท
เพื่อให้กรมตำรวจนำไปซื้อรถจักรยานยนต์เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ทำหน้าที่สายตรวจจราจร ซื้อวิทยุสื่อสาร เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงตำรวจ และรวมทั้งค่าใช้จ่ายที่จำเป็น
พร้อมกับพระราชทานแนวทางปฏิบัติ 5 ประการ
1.แสวงหาวิธีการให้ผู้ใช้ถนนเคารพกฎจราจรและมีมารยาท
2.ใช้รถจักรยานยนต์เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วแก้ปัญหาจุดที่รถติดเปรียบเสมือนกับรถนำขบวน โดยเมื่อขบวนติด รถจักรยานยนต์จะเข้าไปแก้ไขปัญหาทำให้รถในขบวนเคลื่อนที่ไปได้ ซึ่งรถในถนนมีหลายขบวนก็เช่นเดียวกัน
3.ใช้รถจักรยานยนต์ดูแลการจราจรในถนน ให้รถเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ตามความเหมาะสม
4.ถนนที่เป็นคอขวด ให้รถจักรยานยนต์เข้าไปแก้ไขปัญหาให้รถเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆ เปรียบเสมือนเทน้ำออกจากขวด
5.ให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการจราจร
พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีตำรวจ ในขณะนั้น ได้สนองพระราชดำริทันที เริ่มจัดทำโครงการบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครตามพระราชดำริ ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2536
โดยแต่งตั้ง พล.ต.ท.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) เป็นผู้อำนวยการโครงการฯ และ พล.ต.ต.พงษ์ศักดิ์ โรหิโตปการ ผู้บังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) เป็นรองอำนวยการ
เมื่อเริ่มโครงการตำรวจจราจรตามพระราชดำริ ได้นำเอาตำรวจจากกองบังคับการตำรวจจราจร จำนวน 150 นาย มาอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมด้านการจราจร การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การประชาสัมพันธ์ และทบทวนตัวบทกฎหมาย
วันที่ 6 กันยายน 2536 ได้เริ่มปล่อยแถวตำรวจจราจรตามโครงการพระราชดำริ ออกปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งแรก บนถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีรังสิต โดยใช้รถจักรยานยนต์ที่มีอยู่จัดเป็นกองร้อยพิเศษเคลื่อนที่เร็ว
จากนั้นมีการขยายผลการปฏิบัติออกไปถนนพญาไท ถึงสี่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 ถึงสี่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริถึงสี่แยกประตูน้ำ ถนนราชปรารถถึงสามแยกดินแดง และถนนราชดำเนิน-สะพานพระปิ่นเกล้า ไปจนถึงหน้าสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน
ปัจจุบันตำรวจจราจรโครงการฯ เป็นหน่วยงานระดับกองกำกับการ กก.6 บก.จร. มีกำลังพล 265 นาย เป็นนายตำรวจสัญญาบัตร 16 นายชั้นประทวน 249 นาย รถจักรยานยนต์ 325 คัน รถยนต์ 13 คัน รถยก 3 คัน รับผิดชอบพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร
ตำรวจจราจรโครงการฯ แต่งกายแตกต่างจากตำรวจจราจรกลาง และตำรวจจราจรสถานีตำรวจนครบาล โดยตำรวจจราจรโครงการฯ จะใช้หมวกเสื้อกั๊กสะท้อนแสง ปลอกแขนมีขลิบสีน้ำเงิน ส่วนตำรวจจราจรกลางสีส้มตำรวจจราจรสถานีตำรวจสีแดง
ตำรวจจราจรโครงการฯ ได้รับการอบรมตั้งแต่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ และอบรมทบทวนอย่างสม่ำเสมอให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ
เน้นย้ำตามแนวทางพระราชดำริ 5 ประการ ต้องมีจิตอาสา เรียนรู้ในเรื่องการปฐมพยาบาล การทำคลอด การซ่อมแซมรถที่เกิดอุบัติเหตุหรือเสียกีดขวางทางจราจร
โดยมีวิทยากรจากสภากาชาด โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลราชวิถี บริษัท ฮีโน่ ประเทศไทย บริษัท โตโยต้า ประเทศไทย ให้การสนับสนุนเป็นประจำ
ขอบคุณภาพ www.rsutv.tv
ตำรวจจราจรโครงการฯ ทำหน้าที่ 3 หมอ
หมอถนน ต้องสนับสนุนการทำงานตำรวจจราจรสถานีตำรวจและตำรวจจราจรกลาง จัดการจราจรตามจุดต่างๆ ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย เช่น หน้าโรงเรียน สถานศึกษา ฯลฯ เพราะตำรวจจราจรโครงการฯ จะมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อประชาชน
หมอคน ต้องดูแลให้การบริการและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติภัย หรือเหตุต่างๆ ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ หรือหญิงมีครรภ์ใกล้คลอดส่งโรงพยาบาล โดยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลด้วยความรวดเร็วปลอดภัย
หมอรถ ต้องช่วยซ่อมแซมรถที่เสียจอดกีดขวางทางจราจร เช่น รถขนาดใหญ่ รถเมล์ซึ่งมักจะเสียเป็นประจำทุกวัน ต้องเข้าไปแก้ไขเคลื่อนย้ายทันทีที่รถเกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบก.จร.และรอง ผบช.น. รับผิดชอบงานจราจร ได้สานต่อปรับปรุงงาน "จราจรในพระราชดำริ" ในหลายเรื่อง อาทิ
เตรียมความพร้อมทั้งบุคคล เครื่องมือเครื่องใช้ จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อปลูกฝังวินัยจราจรให้กับประชาชน โครงการครูจราจร โครงการรถโมบาย ฯลฯ
ด.ต.ศักดิ์ชาย กระแสร์ญาณ ผบ.หมู่งานปฏิบัติการจราจรในโครงการพระราชดำริ 1 กก.6 หนึ่งในตำรวจช่างโครงการพระราชดำริ เคยกล่าวไว้กับสื่อมวลชนว่า
“ภูมิใจมากที่ได้เข้ามาทำหน้าที่ในหน่วยงานนี้ ได้ช่วยเหลือประชาชนในช่วงเวลาวิกฤตที่ไม่สามารถจะพึ่งพาใครได้ เราสามารถสัมผัสถึงความรู้สึกยินดีและความประทับใจของพี่น้องประชาชนที่ได้รับการช่วยเหลือ”
ผู้บังคับบัญชาได้สนองพระราชดำริ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจราจรโครงการฯ ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างเดียว ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายโดยการจับกุมผู้ฝ่าฝืนการจราจรโดยเด็ดขาด ได้แต่เพียงว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น
ดังนั้น ตำรวจจราจรโครงการฯ จึงได้รับการกล่าวขวัญและยกย่องชมเชยโดยตลอด ว่าเป็นอัศวินสองล้อบนท้องถนน
ผลการปฏิบัติหน้าที่ในการบริการประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ.2536 จนถึงปัจจุบัน
ช่วยเหลือแก้ไขการจราจรติดขัด จากอุบัติเหตุจราจร 7,393 ราย, รถจอดเสีย 12,833 ราย และปลดเบรกล็อก 1,411 ราย
การบริการอื่นๆ นำผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล 14,673 ราย, นำหญิงใกล้คลอดส่งโรงพยาบาล 3,261 ราย, ช่วยเหลือหญิงคลอดฉุกเฉิน 211 ราย, นำอวัยวะหัวใจส่งโรงพยาบาล 39 ครั้ง และช่วยเหลืออื่นๆ อีก 926 ราย
นอกจากนี้ ตำรวจจราจรโครงการฯ ยังไปเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องการจราจรต่างๆ จำนวน 322 ครั้ง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชฯ ยังทรงริเริ่มและให้คำแนะนำในเรื่องการแก้ไขปัญหาจราจรอีกหลายโครงการ
โครงการแรกคือ โครงการก่อสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้า จากแยกอรุณอมรินทร์ถึงคลองบางกอกน้อย ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร
เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณสี่แยก 35 โบวล์ ซึ่งมีปัญหาการจราจรติดขัดมาก รถแย่งกันขึ้นสะพาน 35 โบวล์ รถเลี้ยวซ้ายก็ยาก รถจากสี่แยกอรุณอมรินทร์ก็ขึ้นสะพาน 35 โบวล์ไม่ได้ รถจึงติดไปจนถึงฝั่งพระนคร
พระองค์ได้รับสั่งให้ไปสำรวจเส้นทางและจัดทำแผ่นที่ ได้ทรงพิจารณาให้คำแนะนำและแนวทางการก่อสร้างโครงการจนเริ่มดำเนินการ
ได้เสด็จฯ ไปทรงวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2539 และได้เสด็จฯ ทรงเปิดเมื่อวันอังคารที่ 21 เมษายน 2541
ต่อมา นายบรรหาร ศิลปอาชานายกรัฐมนตรี เห็นว่าระยะทางยาวต่อไปจะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น ได้ขยายทางยาวต่อไปอีก ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร
มีเกร็ดเล่าว่า คำว่าทางคู่ขนานลอยฟ้าเป็นคำที่พระองค์ทรงเรียก โดยพระองค์ท่านได้ให้คำอธิบายว่าปกติทางคู่ขนานจะต้องขยายออกไปทางข้าง แต่เมื่อไม่มีที่ ก็ต้องทะลุไปข้างบน
อีกโครงการคือการก่อสร้างสะพานพระราม 8 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มต้นจากปลายถนนอรุณอมรินทร์บรรจบกับซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ท่าน้ำบ้านปูนฝั่งธนบุรี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าน้ำวิสุทธิ์กษัตริย์ ฝั่งพระนคร ช่วยรับปริมาณรถเข้าเมืองมาตามทางคู่ขนานลอยฟ้า จำนวนมาก
ได้เสด็จฯ ทรงเปิดสะพานพระราม 8 เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2545
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงมีพระวิริยอุตสาหะ และพระปรีชาสามารถในการแก้ไขปัญหาจราจร และความทุกข์ยากของพสกนิกรตลอดมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ประชาชนชาวไทยทั้งปวงเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ตลอดกาลนาน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)
สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด
ตำรวจ ศชต.
“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”
ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”
ตำรวจพลร่ม
ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา
หมอนิติเวชตำรวจ
พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต
เครื่องจับเท็จ
มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ