รายงานธนาคารโลกบอกไทยจะ โตต่ำไปอีก 20 ปีถ้าไม่ปฏิรูป!

ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจากต่ำสุดในอาเซียนจากนี้ 20 ปี! จะอยู่ที่เฉลี่ย 3% ไปอีกสองทศวรรษ หากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจังและอย่างได้ผล

นั่นเป็นการวิเคราะห์ของธนาคารโลกประจำประเทศไทย

และเป็น “ข่าวร้าย” ที่ควรจะต้องปลุกให้คนไทยทุกสาขาวิชาชีพลุกขึ้นมาทำทุกอย่างที่ต้องทำเพื่อให้คำพยากรณ์นี้ผิด

หรือไม่ก็ต้องหาทางประคับประคองไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่มองเห็นในวันนี้

รายงานของธนาคารโลกที่เพิ่งออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บอกว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทย “ติดกับดัก” ของการโตช้าคือ “สังคมคนสูงวัย” และการ “ชะลอตัวของการลงทุน” และผลิตภาพ หรือ productivity ที่ต่ำ

ธนาคารโลกประจำประเทศไทยคาดว่าอัตราโตเศรษฐกิจของไทยปีหน้าจะอยู่ที่ 3.2% และในปีต่อไปก็จะอยู่ที่ 3.1% หรือต่ำสุดในอาเซียน

มี 3 ปัจจัยเท่านั้นที่จะช่วยประคองเศรษฐกิจไทย นั่นคือส่งออก, การท่องเที่ยวและการบริโภค

เพราะเราไม่มีนวัตกรรม, ไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ที่จะมาทดแทนสิ่งที่หดหายไปเพราะเทคโนโลยี

และเมื่อโครงสร้างประชากรของเราแก่ลงไปเรื่อยๆ ก็หมายความว่าคนวัยทำงานจะหดตัวลงตามลำดับ

เมื่อคนทำงานหารายได้ลดลง คนแก่มากขึ้น สังคมก็ต้องอาศัยคนทำงานที่ลดน้อยถอยลงมาเลี้ยงประชากรอายุมากที่มีประสิทธิภาพลดน้อยลงตามไปด้วย

เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (foreign direct investment) สำหรับไทยหดตัวลงในปี 2020 เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซียและเวียดนาม

แม้ว่าตัวเลขเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าไทยจะกระเตื้องขึ้นในช่วง 2021-2022 แต่ก็ยังอยู่หลังมาเลเซียและเวียดนาม

อีกทั้งการผลิตในอุตสาหกรรมก็ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนหน้าโรคระบาดโควิด

การจะแก้ปัญหาอันหนักนี้สำหรับไทยจะต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง ด้วยการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์, การศึกษาที่มีคุณภาพ, สาธารณสุข, ความเปลี่ยนแปลงในสภาพอากาศ และปฏิรูประบบภาษี

หัวข้อเหล่านี้ล้วนเป็นภารกิจที่ต้องมีการเมืองแบบ “ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์” และ “ความกล้าหาญทางการเมือง”

นั่นคือ vision กับ political will ที่เราเห็นชัดเจนว่ายังเป็นปัญหาหนักยิ่งสำหรับนักการเมืองของไทยเราวันนี้

เพราะนักการเมืองที่แสวงหาอำนาจเพื่อบริหารประเทศนั้นต้องการจะทำอะไรเร็วๆ ง่ายๆ ที่จะได้คะแนนเสียงหรือความนิยมชมชอบที่เรียกว่า quick win

แต่ไม่ทำหรือไม่มีความสามารถที่จะทำเรื่องระยะยาวที่ยากกว่า แต่มีความจำเป็นมากกว่า

รายงานของธนาคารโลกเกี่ยวกับประเทศไทยยังชี้ว่า นโยบาย “แจกเงินหมื่น” ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลนี้จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น

แต่ผลที่ตามมาก็จะสร้างต้นทุนการคลังระยะยาว

และคาดว่าหากรัฐบาลกู้ 5 แสนล้านเพื่อโครงการนี้ ก็จะดัน "หนี้สาธารณะ" ไปแตะ 65-66% ต่อจีดีพี

รายงานนี้ประเมินว่านโยบาย “กู้มาแจก” จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ระยะสั้น 0.5-1.0% ในช่วงระยะเวลา 2 ปี

รายงานนี้ชื่อThailand Economic Monitor ฉบับเดือนธันวาคม 2566 ประเมินว่า ถ้าเดินหน้าตามโครงการนี้และต้องกู้ 5 แสนล้านบาทก็จะเท่ากับ 2.7% ของจีดีพี

หากสามารถแจกได้ในเดือนพฤษภาคมปีหน้าก็จะดันให้จีดีพีโตเพิ่มอีก 0.5-1.0% ในช่วงระยะเวลา 2 ปี

หนี้สาธารณะอาจปรับตัวขึ้นแตะ 65-66% ต่อจีดีพีในปี 2567-2568 และอาจขาดดุลทางการคลังเพิ่มขึ้นเป็น 4-5% ของจีดีพี ซึ่งก็ใกล้ระดับเฉลี่ยในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยจากธนาคารโลก ยืนยันว่า นโยบายแจกเงินหมื่นจะกระตุ้นได้เพียงระยะสั้น

แต่จะต้องแลกกับการชะลอเส้นทางการรัดเข็มขัดทางการคลังของรัฐบาลไทย หรือที่เรียกว่า Fiscal Consolidation

ดร.เกียรติพงศ์วิเคราะห์ว่า ลักษณะพิเศษบางประการของโครงการแจกเงินหมื่นที่อาจทำให้ผลด้านบวกสำหรับเศรษฐกิจนั้นมีเช่น ยิ่งมีผู้ได้รับสิทธิ์มากเพียงใด ผลต่อ GDP ยิ่งลดลง

อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่เงินจะรั่วไหลไปต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้านำเข้า

สินค้าในบางพื้นที่อาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในบางจังหวัด ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยได้

อีกความท้าทายหนึ่งคือรัฐบาลจำเป็นต้องทำให้มั่นใจว่าจะมีผู้ขายหรือร้านค้าให้เพียงพอ

ในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก 2.6% ในปี 2565 เหลือ 2.5%

สาเหตุเป็นเพราะเศรษฐกิจที่อ่อนแอในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมทุนที่ลดลงอย่างมาก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากการส่งออกสินค้าหดตัว

ปีหน้าและปีต่อไปคาดว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัว 3.2% และ 3.1% ตามลำดับ โดยต้องพึ่งพาการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน

ธนาคารโลกยังคาดว่าการส่งออกสินค้าในปีหน้าจะฟื้นตัว เพราะมีแรงหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และภาวะการเงินโลกที่คาดว่าจะผ่อนคลายลง แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวก็ตาม

รายงานนี้คาดว่าในปีหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 35.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 90% ของระดับก่อนการโควิด หรือเพิ่มขึ้นจากประมาณ 28.3 ล้านคนในปีนี้

ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทยตามรายงานนี้ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจหลายแห่ง คือการที่ศักยภาพการเติบโตของไทยเราหดตัวลง

หากจะแก้ไขภาพนี้ให้สำเร็จ ต้องมีการยกเครื่องกันครั้งใหญ่

และนั่นแปลว่าเราจะต้องทำให้คุณภาพการเมืองดีขึ้น ความโปร่งใสและนิติรัฐต้องเกิด อีกทั้งยังทำให้คนไทยมีความหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้ทุกภาคส่วนพร้อมจะเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน

เป็นความท้าทายที่ยังมองไม่เห็นทางออก หากการเมืองไทยยังต่ำเตี้ยเรี่ยดินอย่างที่เห็นอยู่วันนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ