เศรษฐกิจปีหน้า: ไทยยัง คลานต้วมเตี้ยมอยู่หลังเพื่อน

กูรูเศรษฐกิจพยากรณ์แล้วว่าเศรษฐกิจประเทศอาเซียนปีหน้าจะเป็นอย่างไร

เขาให้ประเทศไทยโตที่ 3.3%

ยังติดอันดับท้าย ๆ ของอาเซียนขณะที่เพื่อนเราในภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ

เป็นอีกหนึ่งบทวิเคราะห์ที่คนไทยควรจะนำมาประกอบรายงานที่รัฐบาลนายกฯเศรษฐาจะบอกกล่าวกับประชาชนเนื่องในโอกาสครบ 100 วันของการเข้าบริหารประเทศในสัปดาห์นี้

รายงานนี้เป็นผลการสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์รายไตรมาสที่รวบรวมโดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจแห่งญี่ปุ่นและ Nikkei ชี้ว่าสิงคโปร์จะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญที่สุด

JCER (Japan Center for Economic Research) และ Nikkei ได้ทำการสำรวจล่าสุดระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน ถึง 7 ธันวาคม โดยรวบรวมคำตอบ 31 รายการจากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ใน 5 ประเทศเศรษฐกิจหลักในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และในอินเดีย

สมาชิกส่วนใหญ่ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอในปีนี้ อันสืบเนื่องจากการชะลอตัวทั่วโลก

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการหดตัวของเศรษฐกิจจีนหลังโควิด-19

โดยการสำรวจทั้ง 5 ประเทศมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่ำกว่าปี 2565

รายงานนี้บอกว่าในปีหน้าอัตราการเติบโตโดยรวมของห้าประเทศในกลุ่มอาเซียนคาดว่าจะอยู่ที่ 4.5% เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ในปีนี้ที่ 4.0%

คาดการณ์ว่าอินเดียจะมีอัตราการเติบโต 6.4% ในปีงบประมาณเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนหน้า

หรือเกือบจะอยู่ในระดับเดียวกับที่คาดการณ์ไว้ที่ 6.5% ในปีงบประมาณที่ผ่านมา

JCER ระบุว่าสิงคโปร์จะมีความ "โดดเด่น” กว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนอีก 4 ประเทศ

โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3 เท่าเป็น 2.8% ในปี 2567 จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.0% ในปี 2566

ทั้งนี้มีเหตุมาจากการฟื้นตัวของการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ

สิงคโปร์เผชิญกับการส่งออกที่ซบเซาท่ามกลางการชะลอตัวทั่วโลกและการเติบโตติดลบในภาคการผลิตในปีนี้ หลังจากการเติบโต 3.6% ในปี 2565

ผู้รู้เรื่องดีในวงการนี้บอกว่าวงจรอิเล็กทรอนิกส์กำลังกลับมาอีกครั้ง และจะเห็นภาพที่ชัดขึ้นมากในปี 2567 ซึ่งจะช่วยผลักดันการฟื้นตัวที่ดีในภาคการผลิตของสิงคโปร์

ทางการสิงคโปร์คาดว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะอยู่ในช่วง 1% ถึง 3% ในปี 2567

ฟิลิปปินส์คาดว่าจะมีการเติบโตสูงสุดในปีหน้าในบรรดาห้าประเทศ ที่ 5.9% เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ 5.5% ในปี 2566

มาเลเซียซึ่งมีภาพรวมเศรษฐกิจที่ “ค่อนข้างอ่อนแอ” ในไตรมาสที่สองและสามของปีนี้ก็ถูกคาดการณ์จะเติบโตแข็งแกร่งขึ้นที่ 4.5% ในปีหน้า

ภาพในวันนี้แม้ว่าจะชะลอตัวลง แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนก็ยังมีความคืบหน้าเชิงบวกเพราะได้รับแรงหนุนจากนโยบายการที่ประกาศโดยรัฐบาลในช่วงกลางปีนี้

อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะเติบโต 5.1% ในปีหน้า

ในระดับนี้ถือว่าทรงตัว โดยส่วนใหญ่มาจากอุปสงค์ในประเทศที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง

รายงานนี้คาดว่าประเทศไทยน่าจะโตในอัตรา 3.3% ในปี หน้าซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2.4% ของปีนี้

การสำรวจพบว่านักเศรษฐศาสตร์มีความกังวลต่อไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เพราะการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของ GDP ไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยรายงานการเติบโตที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ที่ 1.5% เมื่อเทียบเป็นรายปีในไตรมาสที่ 3 และเป็นประเทศเดียวใน 5 ประเทศอาเซียนที่อยู่ในการสำรวจที่มีแนวโน้มปีหน้าที่ถูกปรับลดจากการสำรวจของ JCER ครั้งก่อนในเดือนกันยายน

แน่นอนว่าการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมี ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ต้องพึ่งพาตลาดจีนสูงหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของจีน

นอกจากนี้รายงานชิ้นนี้ยังชี้ว่าการปรับลดลงของตัวเลขคาดการณ์สำหรับเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ชะลอตัว

โดยชี้ว่า การเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวชาวจีนในเหตุการณ์กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคม อาจส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยวจากจีนไม่น้อย

จนถึงขณะนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนมาไทยในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 ของระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด

 

การสำรวจพบว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจอาเซียนอื่นๆ

ความเสี่ยงอันดับต้นๆ มีความสัมพันธ์กัน โดยที่เศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ และอัตรดอกเบี้ยสหรัฐที่สูงส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจท้องถิ่น และมีอิทธิพลต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกปัจจัยของความกังวลในทุกประเทศที่ถูกสำรวจครั้งนี้โยงถึงผลกระทบของภูมิศาสตร์การเมืองและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางนอกเหนือจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

หากเงื่อนไขสงครามอิสราเอล-ฮามาสรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจโลกอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น และสภาวะตลาดการเงินโลกที่ผันผวนมากขึ้น

สรุปว่าข้างนอกเขามองเศรษฐกิจไทยปีหน้ายังอยู่ในสภาวะที่โตช้ากว่าเพื่อนบ้านส่วนใหญ่

และปัจจัยทางลบที่รายงานนี้ระบุก็มิใช่เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับคนไทยหรือรัฐบาลไทย

อยู่ที่รัฐบาลเศรษฐาจะลงมือยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะกลางและระยะยาวอย่างจริงจังอย่างไร

เพราะลำพัง quick win และการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าเป็นเพียง “ยาแก้ปวด” สำหรับเศรษฐกิจไทยเท่านั้น

เพราะ “คนไข้” ป่วยเรื้อรังอย่างนี้ต้องมีการวินิจฉัยโรคอย่างละเอียดและต้องพร้อมจะ “ผ่าตัด” เพื่อการฟื้นตัวอย่างเป็นระบบ

เพราะไม่ว่านักการเมืองจะพยายามกล่าวอ้างอย่างไรก็ไม่สามารถหา “ยาวิเศษ” ที่จะเสกให้เศรษฐกิจไทยฟื้นได้ชั่วข้ามคืนเป็นอันขาด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ