ไม่ว่าจะประกาศดังๆ หรือกระซิบเบาๆ รัฐบาลเนทันยาฮูกับไบเดนจะถูกประณามว่า “ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ” “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” “ขาดมนุษยธรรม”
ในขณะที่สงครามฮามาส-อิสราเอลดำเนินต่อไป แรงกดดันจากนานาชาติต่ออิสราเอลกับสหรัฐเพิ่มขึ้น เรียกร้องให้หยุดยิง ฟื้นฟูเจรจาสันติภาพ แต่รัฐบาลเนทันยาฮูดื้อดึง สถานการณ์ดังกล่าวก่อให้แบ่งโลกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งที่ประกอบด้วยอิสราเอลกับสหรัฐและพวก (บางประเทศในอียู) อีกฝ่ายคือประเทศส่วนใหญ่ รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ
ภาพ: สมัชชาสหประชาชาติมีมติให้หยุดยิง
การไม่ยอมถอยคือตัวปัญหา:
รัฐบาลเนทันยาฮูย้ำว่าใครที่เจอแบบอิสราเอลก็จะทำแบบที่อิสราเอลกำลังทำตอนนี้ จึงเดินหน้าทำสงครามต่อไปแม้ยอดผู้เสียชีวิตสูง 20,000 ราย ตามแผนที่ประกาศตั้งแต่ต้น คือ จะลงมือต่อทุกจุดและด้วยกำลังทั้งหมด ทำทุกอย่างให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก ขั้นแรกคือโจมตีทำลายกองกำลังฮามาส ต่อด้วยกวาดล้างกลุ่มกองกำลังอื่นๆ พร้อมกับทำลายระบอบอำนาจฮามาสในกาซา ขั้นสุดท้ายคือให้กลุ่มอำนาจใหม่เข้าดูแลกาซา ให้พลเมืองอิสราเอลกับกาซาอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข
นายกฯ เนทันยาฮูกล่าวต่อคนทั้งชาติว่า มีเพียง 2 ทางเลือก คือ ประเทศอิสราเอลยังคงอยู่หรือไม่ก็สูญสลายไป มีแต่ต้องชนะศึกเท่านั้น อิสราเอลคือประเทศที่นานาชาติให้การยอมรับแต่พวกฮามาสคิดจะทำลาย เป้าหมายของเราประกาศชัดตั้งแต่ต้นคือทำลายสมาชิกและระบอบการปกครองของฮามาส
รัฐบาลอิสราเอลจะไม่อ่อนข้อต่อผู้ไม่ยอมรับประเทศอิสราเอล ผู้แสดงตัวเป็นปรปักษ์ นี่คือสงครามเพื่อความอยู่รอดของชาติ ที่รัฐบาลอิสราเอลเห็นว่าสำคัญยิ่งกว่าหลักศีลธรรม พร้อมละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมรับคำประณามจากนานาชาติที่โดนเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว (ทุกปีในที่ประชุมสหประชาชาติจะประณามอิสราเอลกระทำทารุณต่อปาเลสไตน์ หลายประเทศออกแถลงการณ์ซ้ำอยู่เสมอ)
ในขณะที่รัฐบาลอิสราเอลระบุว่าคือการป้องกันประเทศ รัฐบาลไบเดนขอยืนเคียงข้างอิสราเอล จะช่วยอิสราเอลปกป้องประเทศ ยึดแนวคิดที่มีมายาวนานแล้วว่า “อิสราเอลมีสิทธิ์ที่จะป้องกันตัวเอง” สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าชาติอธิปไตยมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะปกป้องประชาชนของตนให้พ้นจากการโจมตีของผู้ก่อการร้าย และทำสิ่งที่จำเป็นเพื่อป้องกันการโจมตีเหล่านั้น”
ตอนนี้อิสราเอลกำลังทำสิ่งที่จำเป็นเพื่อป้องกันการโจมตีเหล่านั้น
อิสราเอลปราศจากความชอบธรรม:
ในอีกมุม หลายฝ่ายชี้ว่าอิสราเอลทำเกินเลยจนสูญเสียความชอบธรรม
ตั้งแต่ต้น อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิงทันที อิสราเอลละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนในการโจมตีเมืองกาซา ฮามาสก่อความรุนแรงเพราะมีที่มาที่ไป ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็โจมตี ด้านทูตอิสราเอล Gilad Erdan โต้ว่าท่านเลขาธิการฯ ไม่เข้าใจสภาพความเป็นไปของโลก ไม่เข้าใจการก่อการร้าย การสังหารเข่นฆ่าที่พวกฮามาสกระทำต่ออิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม
ในทำนองเดียวกัน องค์การความร่วมมืออิสลาม (The Organisation of Islamic Cooperation: OIC) แถลงว่าอิสราเอลเป็นฝ่ายรุกรานก่อน ยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ ละเมิดข้อมติสหประชาชาติ ทำร้ายชาวปาเลสไตน์ทุกวัน เหล่านี้คือมูลเหตุของการปะทะระหว่างฮามาสกับอิสราเอล เรียกร้องคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติทำหน้าที่หยุดอิสราเอล ปกป้องปาเลสไตน์ ปฏิบัติตามข้อมติต่างๆ
จะเห็นว่าทั้งคู่ต่างพูดจากมุมมองคนละแบบ อิสราเอลยืนยันการปกป้องตัวเองสำคัญที่สุด ไม่สนใจว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่
หากจะพูดเรื่องถูกผิด การป้องกันตัวเองต้องอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ Josep Borrell ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของอียู กล่าวว่า สิทธิการป้องกันตัวเองต้องอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ จะใช้หลักป้องกันตัวเองแล้วละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้ การตัดน้ำตัดไฟ ควบคุมการส่งอาหารแก่พลเรือนล้วนผิดกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสิ้น ในยามนี้ที่กำลังทำสงครามสภาพสิทธิมนุษยชนย่ำแย่ การที่อิสราเอลเป็นสมาชิกสหประชาชาติย่อมถือว่ายอมรับกฎหมายเหล่านี้ หากอิสราเอลอยากทำตามใจตัวเองควรลาออกจากสมาชิกสหประชาชาติ
ดังนั้น ถ้ายึดหลักการและเหตุผล อิสราเอลจึงเป็นฝ่ายผิด นี่คือจุดเริ่มของความปราชัย
หนึ่งในประเด็นที่นานาชาติให้ความสำคัญคือ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนกาซา นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่า พลเรือนกาซาต้องบาดเจ็บล้มตายเพราะอิสราเอลโจมตีทั้งเมืองเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ อิสราเอลนำเรื่องทำสงครามเป็นข้ออ้างไม่ได้ ชี้ว่าการกวาดล้างฮามาสกลายเป็นการทำลายชีวิตพลเรือนพร้อมกัน เตือนว่าความรุนแรงจะมีเสมอตราบเท่าที่ยังไม่เกิดรัฐปาเลสไตน์
จะเห็นว่าเมื่อคนกาซาล้มตายมากขึ้นและเกือบครึ่งเป็นเด็ก ประเด็นที่นานาชาติให้ความสำคัญคือ “มนุษยธรรม” เลขาธิการสหประชาชาติใช้คำนี้เสมอ เป็นเหตุผลขอให้หยุดยิง
ตรรกะที่ผิดพลาดของรัฐบาลสหรัฐ:
ณ ตอนนี้รัฐบาลไบเดนยังยืนยันสนับสนุนอิสราเอลทำสงครามต่อไป แม้เตือนให้ระวังพลเรือน หลักฐานสำคัญชี้ข้อผิดพลาดของรัฐบาลสหรัฐคือเมื่อเลขาธิการสหประชาชาติใช้อำนาจของตนตามกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 99 เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงมีมติสั่งให้หยุดยิงในกาซาด้วยเหตุผลมนุษยธรรม แต่รัฐบาลไบเดนวีโตข้อมติ สหรัฐเพียงเสียงเดียว (ในฐานะสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคง) จึงล้มร่างมติหยุดยิงหักล้างอำนาจของเลขาธิการสหประชาชาติ
เกิดข้อวิพากษ์ว่ารัฐบาลสหรัฐที่พยายามอ้างว่าเป็นผู้นำโลกเสรี นิยมประชาธิปไตย ยึดมั่นสิทธิมนุษยชน นี่แหละ “ขาดมนุษยธรรม” ส่งเสริมให้อิสราเอลละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
ไม่กี่วันต่อมา แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า อิสราเอลคือผู้ตัดสินใจว่าจะยุติสงครามเมื่อไร ไม่ใช่สหรัฐ
รัฐมนตรีบลิงเคนพูดถูกครึ่งหนึ่ง แต่ที่ไม่เอ่ยคือสหรัฐสามารถร่วมกับสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงออกมติสั่งให้หยุดยิงได้ แต่รัฐบาลไบเดนไม่ทำ เกิดคำถามว่าเพราะรัฐบาลไบเดนยังสนับสนุนให้ทำสงครามต่อใช่หรือไม่
ล่าสุด ประธานาธิบดีไบเดนยอมรับว่าแรงสนับสนุนอิสราเอลลดลงเมื่อการทิ้งระเบิดปูพรมทำให้พลเรือนล้มตายจำนวนมาก ผมคิดว่ารัฐบาลอิสราเอลต้องตัดสินใจเปลี่ยนวิธีแล้ว แม้จะพูดเช่นนี้แต่ยังยืนยันจุดยืนล้มมติหยุดยิง นี่คือการพูดแบบนักการทูตอย่างหนึ่ง
ด้านเนทันยาฮูกล่าวว่าไม่มีอะไรหยุดเราได้ เราจะรบต่อจนเสร็จสิ้น จนกว่าจะชนะ จนกว่าฮามาสถูกทำลายราบ ท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติที่แรงขึ้นทุกที ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติมีมติให้หยุดยิง มีเพียง 10 ประเทศเท่านั้นที่คัดค้านการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม สงครามดำเนินต่อไป
ตรรกะที่ผิดพลาดนำความปราชัย:
รัฐบาลไบเดนกับเนทันยาฮูรู้ตัวว่าพวกตนโดดเดี่ยวมากแค่ไหนในเวทีโลก กำลังพ่ายแพ้ในสมรภูมิการเมืองระหว่างประเทศ หากสหรัฐกับอิสราเอลยังดื้อดึง ทำสงครามยืดยาวออกไป การแบ่งโลกออกเป็น 2 ฝ่ายจะยิ่งเด่นชัดมากขึ้น ไม่ว่าจะประกาศดังๆ หรือกระซิบเบาๆ รัฐบาลเนทันยาฮูกับไบเดนจะถูกประณามว่า “ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ” “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” “ขาดมนุษยธรรม” แน่นอนว่าไม่มีประเทศใดรวมทั้งองค์การสหประชาชาติสามารถหยุดรัฐบาล 2 ประเทศนี้ แต่พึงตระหนักว่าการแบ่งโลกออกเป็น 2 ฝ่ายเกิดขึ้นเพราะนโยบายกับตรรกะที่ตนยึดถือนั่นเอง ถ้าใช้ความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลควรนั่งทบทวนอีกรอบว่าอย่างไรจึงตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติมากกว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าปัญหาอยู่ที่ตัวท่านนายกฯ เนทันยาฮูนั่นเอง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21
BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)
เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู 2024 (1)
บัดนี้สถานการณ์ชี้ชัดแล้วว่าอิสราเอลกำลังจัดการฮิซบุลเลาะห์ต่อจากฮามาส ทำลายอิหร่านกับสมุนให้เสียหายหนัก
เลือกตั้งสหรัฐ2024เลือกสังคมนิยมหรือฟาสซิสต์
ทรัมป์ชี้ว่าแฮร์ริสเป็นพวกสังคมนิยม ส่วนแฮร์ริสชี้ว่าทรัมป์เป็นเผด็จการ สหรัฐกำลังเข้าสู่การเลือกระหว่าง “สังคมนิยม” กับ “ฟาสซิสต์”
ทรัมป์จะเป็นเผด็จการหากชนะอีกสมัย?
หากได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยและปกครองแบบเผด็จการ ก็ต้องถือว่าเป็นเผด็จการที่มาจากความต้องการของคนอเมริกันตามระบอบประชาธิปไตยสหรัฐ
ทรัมป์คุกคามโลกเสรีประชาธิปไตย?
การที่ทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตรต่อรัสเซีย จีน อาจไม่ปกป้องสมาชิกนาโต ชวนให้ตั้งคำถามว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามโลกเสรีประชาธิปไตยหรือไม่