นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะทำอย่างไรกับโครงการ “แลนด์บริดจ์” ที่เคยไปนำเสนอทั้งที่จีนและสหรัฐฯ อย่างเป็นข่าวครึกโครมมาแล้ว
รัฐมนตรีคมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ตีฆ้องร้องป่าวทั่วทั้งโลก และอ้างว่าหลายประเทศได้แสดงความสนใจที่จะมาลงทุนแล้ว
แต่ผลการศึกษาของจุฬาฯ ที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ก่อนสรุปว่า “ไม่คุ้มค่าการลงทุน”
ก็ยุ่งซิครับ
มันเป็นไปได้อย่างไรที่ระดับนายกรัฐมนตรีของประเทศไป “เสนอขาย” โครงการนี้อย่างคึกคักตื่นเต้นแล้ว แต่การศึกษาทางวิชาการที่ออกมากลับบอกว่า มีข้อน่าสงสัยว่าที่จะลงทุนกันเป็นล้านๆ บาทนั้น เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้น่าสนใจสำหรับนักลงทุนเท่าไหร่เลย
นายกฯ และรัฐมนตรีคมนาคมได้ข้อมูลมาจากไหนตั้งแต่ต้น จึงได้มีความมั่นใจถึงขนาดประกาศเป็น “เรือธง" สำหรับการชักชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
ให้ความสำคัญกับ “แลนด์บริดจ์” ถึงขั้นที่เกิดความสงสัยว่ารัฐบาลนี้จะลดความสำคัญของ EEC ที่เป็นโครงการยักษ์ของประเทศ และมีบริษัทยักษ์จากหลายประเทศมาลงทุนแล้ว
ข้อสรุปของผลการศึกษาของจุฬาฯ กับเอกชนบอกว่า โครงการแลนด์บริดจ์ไม่ตอบโจทย์สายเดินเรือและการค้าไทย
เพราะทำให้ต้นทุนเพิ่ม
ข้อมูลนี้เปิดเผยขึ้นในโอกาสที่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ร่วมกับวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดกิจกรรม SPU Supply Chain Roundtable ครั้งที่ 176
โดยเป็นการเสวนาภายใต้หัวข้อ "เปิดประเด็นท้าทายอภิมหาโปรเจกต์ใหญ่แห่งปี Land Bridge 1 ล้านล้าน ตอบโจทย์ใคร?"
ร.ศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อาจารย์พิเศษ หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ และโซ่อุปทาน จุฬาฯ เสนอผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทย และอันดามันของประเทศไทย
การศึกษาเปรียบเทียบแนวทางการพัฒนา 4 รูปแบบ
1.การพัฒนาพื้นที่การผลิตและการค้าตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ภายใต้แผนปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) โดยไม่มีการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างสองฝั่งทะเล
2.การพัฒนาสะพานเศรษฐกิจทางบกเส้นทางใหม่ (Landbridge)
3.การพัฒนาขุดคลองลัดหรือคลองไทย
4.คือการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจทางบกตามแนวเส้นทาง GMS Southern Economic Corridor (เส้นทางถนนเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างกาญจนบุรี และเขตตะนาวศรีของเมียนมา กับทะเลฝั่งอันดามันผ่านท่าเรือทวาย)
ข้อสรุปจากการศึกษาพบว่า ทางเลือก 2 หรือ โครงการ Landbridge ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 3 โดยได้คะแนนคิดเป็น 19.3%
มีการประเมินปริมาณความต้องการขนส่งสินค้า (Demand Side) จากรูปแบบการเดินเรือในช่องแคบมะละกา
พบว่ากลุ่มเป้าหมายที่อาจมาใช้โครงการแลนด์บริดจ์จะมีเฉพาะเรือบรรทุกสินค้าตู้
เพราะเป็นเรือที่มีการเดินเรือในรูปแบบที่มีการถ่ายลำระหว่างเรือในเส้นทางเดินเรือหลักกับเรือในเส้นทางเดินเรือรอง
มีข้อเสนอแนะว่า 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มารองรับสินค้าต่างประเทศที่จะมาถ่ายลำผ่านโครงการ “ไม่คุ้มค่าในการลงทุนทั้งทางเศรษฐกิจและการเงิน”
2.ควรปรับ Business Model โดยลดขนาดโครงการลงเหลือเพียงบทบาทสนับสนุนการผลิตและการค้าของไทย ภายใต้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดขนาดโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนไปได้อย่างมาก
อีกทั้งยังลดความเสี่ยงจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบต่อชุมชนและการเวนคืน
คุณพิเศษ ฤทธาภิรมย์ ประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในเส้นทางเป้าหมายของโครงการ โดยส่วนใหญ่มีขนาดระหว่าง 7,500-25,000 ทีอียู มีความยาวระหว่าง 300 ถึง 400 เมตร
จะมีเพียงเส้นทางการขนส่งระหว่างเอเชียกับปลายทางคือ อินเดีย-ตะวันออกกลาง-ยุโรป เท่านั้นที่อาจมาใช้บริการแลนด์บริดจ์
แต่การใช้งานแลนด์บริดจ์ของเรือขนาดใหญ่จะมีต้นทุนค่าใช้จ่าย เวลา และต้องใช้จำนวนเรือเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนขนส่งสินค้า
โดยประเมินว่าการประหยัดเวลาเดินทางของเรือ 2-5 วัน ตามที่ปรึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรได้ประเมิน ไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
และยังมีข้อสงสัยว่า สมมติฐานการปฏิบัติงานแบบไร้รอยต่อของโครงการแลนด์บริดจ์จะสามารถทำได้จริงหรือไม่
เพราะเมื่อประเมินแล้วพบว่า ปริมาณตู้ที่ขนส่งโดยเรือขนาดใหญ่จะก่อให้เกิดปัญหาการจัดการลานตู้ในท่าเรือทั้งสองฝั่ง ทำให้เรืออาจเทียบท่าใช้เวลาในการขนถ่ายประมาณ 7-10 วันในแต่ละฝั่ง สำหรับการยกตู้ทั้งหมดขึ้นฝั่ง และยกตู้ลงเรือสำหรับขนส่งเที่ยวกลับ
ซึ่งจะทำให้สายเรือต้องเพิ่มเรือในเส้นทางอีกอย่างน้อย 1.5 ลำขึ้นไป จากจำนวนเรือที่ใช้เดินเรือในเส้นทางเอเชีย-ยุโรปผ่านช่องแคบมะละกา
และในด้านการจัดการโลจิสติกส์บนฝั่ง ยังต้องบริหารเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางบกสำหรับการเคลื่อนย้ายตู้จำนวนมากระหว่างท่าเรือทั้งสองฝั่ง ซึ่งต้องใช้รถหัวลากและรถไฟจำนวนมากในการเคลื่อนย้ายและจัดเรียงลำดับตู้ให้เหมาะสม
คุณคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย บอกว่า สรท.สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคใต้ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ โดยไม่ทำลายพื้นฐานเศรษฐกิจเดิม
รวมถึงสนับสนุนการลงทุนใหม่ของอุตสาหกรรมดั้งเดิมในพื้นที่ โดยให้สิทธิประโยชน์เดียวกับผู้ลงทุนใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของคนในพื้นที่
แต่ผู้ประกอบการไทยในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่จะเน้นการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าตามความต้องการของตลาด เพื่อทดแทนสินค้าเดิม มิใช่การลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนเพิ่ม
สอดคล้องกับรายงาน World Investment Report 2023 ซึ่งระบุว่า การลงทุนใหม่โดยส่วนใหญ่เน้นเรื่องการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งมิใช่ความต้องการส่วนเพิ่ม และมีแรงผลักดันการลงทุนจากการขยายตัวภาคบริการมากกว่าภาคการผลิตและอุตสาหกรรมพื้นฐาน
โดยผู้ส่งออกและผู้นำเข้าเน้นใช้บริการท่าเรือที่อยู่ใกล้กับสถานที่ตั้งของตนมากที่สุด เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือกับโรงงาน และลดการปล่อยคาร์บอนจากการขนส่งทางบก เพื่อตอบสนองมาตรการทางการค้า และเป้าหมาย Net Zero Carbon อย่างยั่งยืน
ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ จะพิจารณาว่า “ท่าเรือแลนด์บริดจ์เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการขนส่งสินค้า” โดยยังคงเลือกใช้ท่าเรือซึ่งอยู่ใกล้ที่ตั้งของตนเองมากที่สุด อาทิ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพ เป็นลำดับแรก
ทั้งนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่อยู่ไกลจากพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ แต่อยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบังมากกว่า
และหากปริมาณสินค้าในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้มีน้อย จะทำให้สายการเดินเรือเลือกใช้เรือขนาดเล็กและความถี่ต่ำ อาจมีผลให้ต้นทุนการขนส่งของสายเรือจากท่าเรือแลนด์บริดจ์สูงกว่าต้นทุนการขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังประเทศปลายทาง
ทั้งนี้ สรท.สนับสนุนการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเดิม ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ ท่าเรือสงขลา ท่าเรือระนอง เพื่อรองรับความต้องการการส่งออกและนำเข้าของอุตสาหกรรมเดิมในพื้นที่ และอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้
พร้อมทั้งเสนอประเด็นเร่งด่วน “ขอให้เร่งแก้ไขอุปสรรคต่อการถ่ายลำ” โดยดำเนินโครงการ Transshipment Sandbox ณ ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อทดสอบความพร้อมและแนวปฏิบัติ ในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายลำในภูมิภาค
รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือหลักของประเทศ” อาทิ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือสงขลา
เพราะประเทศไทยควรใช้ระบบการขนส่งทางรางในการขนส่งจากแต่ละภาคไปยังท่าเรือหลัก แทนการขนส่งสินค้าทางถนนซึ่งปล่อยปริมาณคาร์บอนสูงกว่า และมีปัญหาความแออัดในการจราจรทางถนน
ตกลงนายกฯ เศรษฐา จะประกาศทบทวนโครงการ “แลนด์บริดจ์” และแจ้งไปยังประเทศต่างๆ ที่เราไป “ขายของ” ไว้ก่อนหน้านี้อย่างไรครับ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ